แม้โควิดยังรุนแรง แต่ครึ่งปืแรก จีน-ฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทย 121 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% มีมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าหลังโควิดโครงการขนาดใหญ่จากจีนจะเข้ามาลงทุนอีกหลายโครงการซึ่งพบว่านักลงทุนจีนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า การลงทุนจากจีนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น จากเดิมที่มีญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป เป็นนักลงทุนหลัก ซึ่งเม็ดเงินลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยดึงดูดจากศักยภาพของประเทศไทย และปัจจัยผลักดันจากจีนเอง เช่น ต้นทุนการผลิตในจีนที่สูงขึ้นมาก และนโยบายรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้ธุรกิจจีนมุ่งออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ การย้ายฐานการผลิตจากจีนและฮ่องกง ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อสงครามการค้าเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ ส่งผลให้การลงทุนจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะปี 2562 มีจำนวนมากถึง 257 โครงการ สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจากปีก่อน (ในจำนวนนี้ รวมโครงการรถไฟความเร็วสูง 1.6 แสนล้านบาท) ทำให้การลงทุนจากจีนขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 1 สูงกว่าญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

“กลยุทธ์หนึ่งที่บีโอไอใช้ดึงการลงทุนจากจีนในกลุ่มไฮเทค คือ การพยายามดึงบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ (Anchor investors) มาลงทุนให้ได้ก่อน เปรียบเหมือนการดึงแม่ไก่ แล้วลูกๆ คือบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นซัพพลายเออร์อื่นๆ จะตามเข้ามาลงทุน”

เชื่อหลังโควิดการลงทุนโตต่อ

“บีโอไอ มั่นใจว่าหากสถานการณ์โควิดดีขึ้น เชื่อมั่นว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมเข้ามาลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์”

 

ในขณะที่แนวโน้มการลงทุนจากจีนมายังไทย คาดว่ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยกระตุ้นหลักมาจากสงครามการค้ากับสหรัฐ โดยตั้งแต่เกิดกระแสการย้ายฐานการผลิตตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนมิ.ย. 2563 การลงทุนจากจีนและฮ่องกง มีจำนวน 530 โครงการ มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินลงทุน 84% อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่จีนและฮ่องกงถือหุ้น 100% จำนวน 363 โครงการ หรือมีสัดส่วน 68% ของทั้งหมด มีเงินลงทุน 116,203 ล้านบาท มีสัดส่วน 32% ของการลงทุน และเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับฝ่ายไทย จำนวน 167 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 32% เงินลงทุน 243,296 ล้านบาท มีสัดส่วน 68%

สำหรับ การลงทุนจากจีนและฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่วนใหญ่ส่งออกไปสหรัฐ และยุโรป เช่น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ 7 โครงการ มูลค่าลงทุน 44,000 ล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 66 โครงการ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมเบา (สิ่งทอ เครื่องเรือน กระเป๋า เครื่องกีฬา เครื่องประดับ) 57 โครงการ 14,000 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งกลุ่มนี้มูลค่าอาจไม่สูงมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้ แต่จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมากในอนาคต และยังเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการสูง เช่น ดิจิทัล 56 โครงการ ลงทุน 7,000 ล้านบาท การแพทย์ 9 โครงการ ลงทุน 814 ล้านบาท เทคโนโลยีชีวภาพ 3 โครงการ ลงทุน 680 ล้านบาท หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 3 โครงการ ลงทุน 94 ล้านบาท กลุ่มที่ 3 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ลงทุน 1.6 แสนล้านบาท ขนส่งทางเรือ 5 โครงการ ลงทุน 3,600 ล้านบาท ศูนย์กระจายสินค้า 4 โครงการ ลงทุน 760 ล้านบาท และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 17 โครงการ ลงทุน 1,200 ล้านบาท

กลุ่มที่ 4 การลงทุนจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ บริษัทการค้าระหว่างประเทศ และกิจการสนับสนุนการค้าการลงทุน มีจำนวน 44 โครงการ ลงทุน 1,100 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน เพราะเป็นการเข้ามาร่วมกับไทยในการเป็นฐานการลงทุน เพื่ออกไปขยายธุรกิจและการค้าในภูมิภาคนี้ และกลุ่มที่ 5 การลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการทั่วไป เพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออก เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ มีจำนวน 69 โครงการ ลงทุน 51,000 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน 24 โครงการ ลงทุน 12,000 ล้านบาท เคมีภัณฑ์และพลาสติก 49 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ อาหารแปรรูป การคัดคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร การผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ 42 โครงการ ลงทุน 6,900 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เรือท่องเที่ยว 6 โครงการ ลงทุน 5,300 ล้านบาท

เปิดชื่อธุรกิจยักษ์สนเข้าไทย

นายนฤตม์ กล่าวว่า สำหรับโครงการลงทุนจากจีนที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่น่าสนใจ และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท SAIC Motor (MG), บริษัท Great Wall Motor c]tบริษัท Skywell โครงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงของ บริษัท Midea และบริษัท Haier โครงการในกลุ่มดิจิทัล บริษัท Huawei โดยล่าสุดได้รับส่งเสริม Huawei Academy ฝึกอบรมด้าน 5G, AI และนวัตกรรมด้านดิจิทัลสมัยใหม่ , บริษัท Forms Syntron พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจการเงิน , บริษัท ZKTeco พัฒนาระบบตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ , บริษัท Futong Group ผลิตสายไฟเบอร์ออฟติก และโครงการด้าน Genomics บริษัท BGI ผลิตเทคโนโลยีวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรม หรือ Gene sequencing

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนและฮ่องกง มีของดีอยู่มาก มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะ Smart Electronics, รถยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ไร้คนขับ, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G - AI, ระบบสมาร์ทซิตี้, เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์และจีโนมิกส์ ซึ่งกลุ่มนี้ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และเมื่อนักลงทุนจีนมองเห็นศักยภาพของไทย และความคืบหน้าของการพัฒนา Ecosystem ต่างๆ ที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ในพื้นที่ อีอีซี เช่น EECi , Digital Park , เมืองการบิน , เขตส่งเสริมด้านการแพทย์ , สมาร์ทซิตี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่ากลุ่มไฮเทคจะให้ความสนใจมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

“ในช่วงโควิดและหลังโควิด เป้าหมายหลักของบีโอไอจะอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะจีนและฮ่องกงจะเป็นประเทศเป้าหมายที่สำคัญ การดึงการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตจะเป็นภารกิจที่สำคัญของ บีโอไอ และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดของประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวและแข็งแรงก่อนประเทศอื่น ซึ่งมองว่าหลังโควิด การลงทุนจากจีนและฮ่องกงจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมาก”

โดย ประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากจีนและฮ่องกง และมีความได้เปรียบคู่แข่งหลายด้าน เช่น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำธุรกิจ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศจีนและนานาประเทศ มีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาคที่สามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดที่มีการเติบโตสูงใน ซีแอลเอ็มวี โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมสำคัญที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาก อีกทั้งประเทศไทยมี Supply Chain ที่ครบวงจร มีบุคลากรคุณภาพสูง และยังมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจจาก บีโอไอ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ว่ามีขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนถึงการเป็นประเทศที่มีความมั่นคงปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำ เหมาะกับการลงทุนระยะยาว

สกพอ.จัดแพ็คเกจหนุนลงทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้สิทธิประโยชน์อื่นใดตามที่เห็นสมควรได้ แม้ธุรกิจเหล่านี้จะไม่อยู่ในรายการของบีโอไอ โดย สกพอ.จะหารือกับบีโอไอ เพื่อพิจารณาสิทธิประโยชน์ดึงการลงทุนเข้ามาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมกับบีไอเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ สกพอ.ได้หารือกับเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ 20-30 ประเทศ เพื่อขอให้เอกอัครราชทูตไทยช่วยดึงการลงทุนจากบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่ไทยต้องการให้เข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5 จี

ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพ การพัฒนาเมือง รวมถึงธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และถ้าบริษัทต่างชาติรายใดที่ไทยต้องการดึงเข้ามาลงทุนจะพิจารณาสิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษได้ โดยส่งรายชื่อบริษัทที่ต้องการให้มาลงทุนในอีอีซีให้เอกอัครราชทูตช่วยประสาน พร้อมให้แจ้งว่า กพอ.จะช่วยออกแบบสิทธิประโยชน์ให้ได้

SOURCE : www.bangkokbiznews.com