“กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP" เผยผลประกอบการครึ่งปีแรกในภาวะโควิด-19 ดีกว่าคาดการณ์ ด้วยแรงหนุนจากรายได้ธุรกิจตลาดทุน ซึ่งพุ่งขึ้นตามสภาวะตลาด บล.ภัทรยังคงครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งด้านธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ในขณะที่ธุรกิจธนาคาร สินเชื่อเติบโตร้อยละ 5 ในเกือบทุกประเภทยกเว้นเอสเอ็มอี โดยมีลูกหนี้ที่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมด

 

        นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรกส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา แต่ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจฯครึ่งปีแรก 2563 ถือว่าออกมาดีกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากค่าธรรมเนียมของธุรกิจตลาดทุน  ซึ่งออกมาดีตามสภาวะตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวจากไตรมาสที่หนึ่งปี 2563 ไม่ว่าจะในส่วนของธุรกิจนายหน้าค้าขายหลักทรัพย์ให้กับลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคลรายใหญ่ ซึ่งบล.ภัทรยังคงส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง หรือธุรกิจการลงทุน ทั้งการลงทุนระยะกลางและระยะยาว (Direct Investment) และการลงทุนระยะสั้นผ่านฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivatives Trading) ซึ่งทำผลกำไรรวมกว่า 658 ล้านบาท

        "ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจฯ คาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะในแง่ของระยะเวลาที่ยังต้องใช้ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหรือโอกาสของการกลับมาซ้ำระบาดของโรค ดังนั้น จึงได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อธุรกิจตลาดทุนหรือธุรกิจอื่นๆอย่างเต็มที่"

        และเพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารเกียรตินาคินยังได้ร่วมกับมาตรการของภาครัฐและออกมาตรการของธนาคารเองในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการขยายเวลาชำระหนี้ คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 250,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยร้อยละ 30 และสินเชื่อธุรกิจร้อยละ 10 โดยในส่วนนี้ธนาคารก็จะยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป”

        นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานส่วนธุรกิจธนาคารพานิชย์  สินเชื่อของธนาคารในไตรมาสแรกของปี 2563 มีการขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 โดยมาจากการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภท (ยกเว้นสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อลอมบาร์ด) อาทิ สินเชื่อรายย่อย (ร้อยละ  5.5) สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 3.5) และสินเชื่อบรรษัท (ร้อยละ 8.9)  โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์นั้น มีอัตราการเติบโตร้อยละ 6 (YTD) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการขยายฐานตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไปสู่กลุ่มที่มีคุณภาพทรัพย์สินดีขึ้นในจังหวะที่มีผู้เล่นบางส่วนถอยออกจากตลาด และในตลาดเองก็มีกระแสความต้องการรถยนต์ใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการหลีกเลี่ยงระบบขนส่งสาธารณะและราคาที่อาจดูน่าดึงดูดใจมากขึ้นในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง

และการขยายตัวของสินเชื่อส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่นการพักชำระหนี้ ซึ่งทำให้ยอดสินเชื่อไม่ถูกปรับลดลง

"อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์โดยทั่วไปยังไม่แน่นอน และมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในปัจจุบันอาจทำให้คุณภาพของสินเชื่อหรือเครดิตยังไม่สะท้อนความเป็นจริงอย่างเต็มที่ ธนาคารจึงได้มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวัง อีกทั้งยังได้ตั้งสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) สำหรับไตรมาสที่สอง 2563 เป็นจำนวนถึง 744 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วเพื่อเป็นความคุ้มกันเพิ่มเติม ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 128.7 ”

       นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน  ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก 2563  “กลุ่มธุรกิจฯ มีกําไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,668 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.1 จากงวดเดียวกันของปี 2562 เป็นกําไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดําเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จํากัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จํานวน 775 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 7,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน 

         ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7  จากงวดเดียวกันของปีก่อน  และรายได้อื่น 1,133 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 10,446  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 จากงวดเดียวกันของปี 2562 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่สองปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ปรับลดลงจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 

        ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คํานวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งหากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ 17.76 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 13.7”