“บ้าน” เป็นปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้น เมื่อมีหน้าที่การงาน รายได้ที่มั่นคงหลายคนก็อยากเติมเต็มความฝันด้วยการมีบ้าน โดยวิธีการซื้อบ้านมักจะขอกู้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งลักษณะพิเศษ คือ มีระยะเวลาผ่อนชำระนานกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ สูงสุดไม่เกิน 30 ปี หมายความว่า หากตัดสินใจซื้อบ้านต้องมีภาระผ่อนชำระค่อนชีวิต


ดังนั้น การตัดสินใจผ่อนบ้านสักหลัง ที่สำคัญหากเป็นบ้านหลังแรกต้องคิดให้รอบคอบ เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหามากกว่าที่คิด


1.สำรวจสถานะทางการเงิน

“รายได้” และ “ค่าใช้จ่าย” จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งตามหลักการวางแผนการเงินควรมีภาระหนี้ทุกประเภทแต่ละเดือนสูงสุดไม่เกิน 40% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 45,000 บาท ควรมีหนี้ต้องผ่อนรวมกันไม่เกิน 18,000 บาท ดังนั้น หากมีหนี้อื่นๆ เช่น หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน อาจทำให้การขอสินเชื่อบ้านได้ในวงเงินลดน้อยลง 


เช่น ผ่อนรถยนต์เดือนละ 6,000 บาท จ่ายหนี้บัตรเครดิตเดือนละ 2,000 บาท (รวมกันเท่ากับ 8,000 บาท) หมายความว่าจะมีความสามารถในการผ่อนชำระบ้านอีก 10,000 บาท (18,000 – 8,000)  ดังนั้น ก่อนซื้อบ้านควรสำรวจรายได้เพื่อประเมินว่าตัวเองเหมาะกับการซื้อบ้านราคาไหน และสำรวจค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินความสามารถในการผ่อนชำระหนี้แต่ละเดือน

2.ซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสม

เมื่อรู้สถานะทางการเงินและความสามารถในการผ่อนชำระหนี้แต่ละเดือนแล้ว ก็จะรู้ว่าควรซื้อบ้านที่ราคาไหนเพื่อทำให้ไม่เป็นภาระจนเกินไป ซึ่งหลักการเบื้องต้นในการประเมินวงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จะคำนวณจากจำนวนเงินที่ผู้กู้มีความสามารถผ่อนได้ในแต่ละงวดในอัตราส่วน โดยจำนวนเงินผ่อนต่องวด 8,000 บาท ต่อยอดหนี้ 1 ล้านบาท นั่นคือ ถ้าสามารถผ่อนได้ 8,000 บาทต่อเดือน ธนาคารจะให้กู้ 1 ล้านบาท ถ้าผ่อนได้ 16,000 บาทต่อเดือน จะกู้ได้ 2 ล้านบาท เป็นต้น


วงเงินกู้ได้สูงสุด = (1,000,000 x ความสามารถในการผ่อนแต่ละเดือน)

                                                                8,000

เช่น มีความสามารถในการผ่อน 10,000 บาทต่อเดือน จะกู้ซื้อบ้านได้สูงสุด 1,250,000 บาท อย่างไรก็ตาม เป็นการคำนวณคร่าวๆ ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองมีความสามารถในการกู้ได้เท่าไหร่ต้องปรึกษาเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพราะการที่จะกู้ได้เท่าไหร่นั้นยังขึ้นกับเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ระยะเวลาในการผ่อนชำระ อัตราดอกเบี้ย หรือมีผู้กู้ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น

3.วางเงินดาวน์เยอะๆ

เมื่อวางแผนซื้อบ้านก็ต้องมีเงินสำหรับดาวน์บ้าน ประมาณ 5 - 20% ของราคาบ้าน ส่วนเงินที่เหลือถึงจะไปขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งมีหลายคนที่เลือกจ่ายเงินดาวน์ให้น้อยที่สุด ข้อดี คือ ใช้เงินตัวเองไม่เยอะ ข้อเสีย คือ มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูง ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรเตรียมเงินให้พร้อมสำหรับดาวน์บ้านให้มากที่สุด เช่น 20% หรือ 30% ก็จะช่วยประหยัดดอกเบี้ย


เช่น ซื้อบ้านราคา 1,500,000 บาท ใช้เงินดาวน์ 10% (150,000 บาท) แสดงว่าต้องขอกู้จากธนาคาร 1,350,000 บาท สมมติว่าจ่ายดอกเบี้ย 6% ต่อปี ระยะเวลาผ่อน 25 ปี ก็ต้องผ่อนเดือนละ 8,698 บาท และจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 1,259,421 บาท แต่ถ้าวางเงินดาวน์ 30% (450,000 บาท) แสดงว่าต้องกู้อีก 1,050,000 บาท ก็จะผ่อนเดือนละ 6,765 บาท และจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 979,548 บาท


เมื่อเงินเพื่อไปดาวน์บ้านจะเป็นเงินก้อนระดับแสนบาท ดังนั้น หากมีการเตรียมเงินให้พร้อมก่อนซื้อบ้านหลังแรกจะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ วิธีการ คือ เงินเดือนออกก็แบ่งเงินไปลงทุน เช่น ลงทุนทุกเดือนๆ ละ 1,000 บาท ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี ผ่านไป 10 ปี จะมีเงินจากการลงทุนประมาณ 173,084 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติก็สามารถนำเงินก้อนนี้ไปวางเป็นเงินดาวน์บ้านได้ แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้น อาจนำเงินจำนวนหนึ่งมาเติมเพื่อให้เงินดาวน์เพิ่มสูงขึ้น

4.เพิ่มเงินผ่อนต่อเดือน

ช่วงเริ่มวัยทำงาน เงินเดือนยังไม่ได้เยอะก็ควรเลือกระยะเวลาผ่อนบ้านให้นานที่สุด เช่น 25 ปี หรือ 30 ปี เป็นต้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย แต่เมื่อไหร่ที่เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นหรือมีรายได้พิเศษก็ต้องเพิ่มเงินที่ผ่อนแต่ละเดือนให้สูงขึ้น อาจใช้วิธีเพิ่มแบบขั้นบันใด เช่น ปีนี้ผ่อนเดือนละ 6,765 บาท ปีหน้าผ่อนเดือนละ 7,765 บาท ปีถัดมาผ่อนเดือนละ 8,765 บาท เป็นต้น ก็จะทำให้ประหยัดดอกเบี้ยและปลดหนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น


การคิดมีบ้านสักหลังอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายคน บางคนอาจมีความสับสันว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หรือกังวลว่าจะกู้เงินไม่ผ่าน แต่ถ้ามีการวางแผนรอบคอบเป็นขั้นตอน และเมื่อมีความพร้อม การมีบ้านสักหลังจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

SOURCE : www.scb.co.th