สัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ เพิ่งประกาศเข้าอุ้มหุ้นกู้เอกชน... หรือ corporate bonds แม้จะตกชั้นลงมาต่ำกว่า investment grade
    เป็นแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยยืนยันว่าจะไม่ทำ
    นโยบายใหม่ของ Fed บอกว่าจะซื้อหุ้นกู้เอกชนผ่านโครงการ “การกู้ฉุกเฉิน” หรือตลาดรองที่เรียกว่า Secondary Market Corporate Credit Facility


    ก่อนหน้านี้ช่องทางนี้ใช้ซื้อเฉพาะกองทุนที่มีการซื้อขายผ่านตลาดหุ้น (exchange-traded funds) เท่านั้น
    แต่วันนี้สถานการณ์ในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำท่าจะทรุดลงหนักกว่าที่คาด จึงต้องลงมา “อุ้ม” แม้หุ้นกู้เอกชนที่คุณภาพต่ำเตี้ย
    ผมถาม ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติว่านี่แปลว่า Fed ไปไกลกว่าของธนาคารกลางไทยไปหลายก้าวเลยใช่ไหม
    ดร.วิรไทบอกผมว่า


    “ใช่ครับ เพราะตลาด Corporate bonds ในอเมริกาใหญ่มาก และถ้ามีปัญหาจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม รุนแรง Fed จะซื้อ corporate bonds ที่ตกชั้นมา below investment grade ด้วย ซึ่งเรายืนยันว่าไม่ทำครับ”


    ที่ควรจะต้องรู้ก็คือ นอกจาก Fed แล้วยังมีอีกหลายธนาคารกลางที่ต้องมาซื้อ corporate bonds ด้วย ผู้ว่าวิรไทอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นด้วยว่า
    “ที่ต่างกันอีกอย่างหนึ่งคือ ของเรามีวัตถุประสงค์เป็นการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ได้เข้าไปซื้อ bonds ระยะยาวเหมือนกับที่ขายให้นักลงทุนทั่วไป แต่เราให้ bridge financing ช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 270 วัน และคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ที่ออกขายทั่วไป มาตรการ BSF ของเราเป็นแค่หลังพิงเท่านั้นครับ”


    ในวันเดียวกันนั้น ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ ก็ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจอเมริกันกำลังเผชิญกับการถดถอย
    และเป็นการถดถอยที่ซึ่งยังมีความ “ความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง”
    เพราะไม่รู้ว่ามันจะลากยาวเพียงใดหรือรุนแรงแค่ไหน


    ยิ่งถดถอยยาวนานเท่าไรก็จะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตลาดแรงงานและภาคธุรกิจต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น เขาให้การต่อคณะกรรมการด้านการเงินของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีหน้าที่ใช้ “เครื่องมือทางการเงินทุกอย่างที่มีอยู่” เพื่อตั้งรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19


    แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การฟื้นตัวอย่างจริงจังจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าประชาชนยังไม่มีมั่นใจว่าโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้จริงจัง
    ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วหลายครั้งจนอยู่ที่ระดับเกือบ 0%
    นอกจากนั้นยังซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เรียกว่าอัดฉีดไม่อั้น...อะไรที่ไม่เคยทำก็ทำกันครั้งนี้


    ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ โควิด-19 ยังสร้างความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อบรรดาธุรกิจขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างยิ่ง


    พาวเวลล์ยังคาดการณ์ด้วยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวลงในไตรมาสที่สองและต่อเนื่องไปถึงครึ่งปีหลัง ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เองคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามและสี่จะเพิ่มขึ้นในลักษณะรูปตัว V


    ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแย้งธนาคารกลางของตัวเอง
    เขียนขึ้นทวิตเตอร์เองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ค่อยจะแม่นยำ มักพยากรณ์ผิดเป็นประจำ
    ทรัมป์บอกว่าเขาเองเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสดใสในช่วงครึ่งปีหลัง
    และยังย้ำว่าปีหน้าจะเป็นหนึ่งในปีที่ดีที่สุดของเศรษฐกิจอเมริกันทีเดียว
    ทรัมป์จะพูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะอีกไม่ถึงห้าเดือนก็จะมีการเลือกตั้ง
    และทรัมป์กำลังทำทุกอย่างพูดทุกประโยคเพื่อจะชนะเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งเท่านั้น


    Fed คาดว่าเศรษฐกิจมะกันจะหดตัว 6.5% ในปีนี้ ก่อนที่จะกลับมาขยายตัว 5% ในปีหน้า และคาดว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2022
    ไทยเรายังต้องจับตาเฝ้ามองสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด และต้องออกแบบมาตรการที่ตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไปทั้งในระดับสากลและในประเทศเราด้วย
    อะไรที่เราเคยคิดว่ามหาอำนาจเขาไม่ทำ วันนี้ต้องประเมินใหม่หมด เพราะเจ้าโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างต้องคิดและทำแบบ New Normal จริงๆ.

SOURCE : www.thaipost.net