กว่า 3 ชั่วโมงในการพูดคุยกับสื่อมวลชน ของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในวัย 81 ปี ที่ยังดูกระฉับกระเฉงและไฟแรงในการคิดและมองอนาคตอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจล็อกดาวน์ประเทศจากโควิด-19 ระบาด ยิ่งต้องเตรียมพร้อม เพื่อวิ่งทันทีที่โควิดผ่านพ้นไป

“ธนินท์” บอกว่าล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจเสียหายกว่า 560,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือกว่า 18,670 ล้านบาทต่อวัน ยังมีส่วนเสียหายที่ไม่เห็นอีกเท่าไหร่ไม่รู้… โดยให้ความเห็นว่า วันนี้รัฐบาลควรต้องออกพันธบัตรกู้เงิน 30 ปี มาช่วยคนไม่ให้ตกงาน มาช่วยบริษัทที่ดีๆ อย่างน้อยให้เขาจ่ายเงินเดือนพนักงาน 70% ของเงินเดือน เพราะวิกฤติโควิดคราวนี้ไม่มีใครผิด แต่เพื่อชาติแล้วบริษัทล้มละลาย คนตกงาน ก็เป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะรับใช้ประชาชน

ปัจจุบันเครดิตประเทศก็ยังดีอยู่ เรายังอยู่ในระดับท็อปๆ ของโลก เราไปลงทุนซื้อพันธบัตรสหรัฐอเมริกาดอกเบี้ย 0.2% ทำไมเราไม่ออกพันธบัตรไปเอาเงินจากทั่วโลกมา แล้วมาให้กู้กับบริษัทดอกเบี้ยถูกๆ ระยะยาวๆ อย่าให้บริษัทล้ม

“รัฐบาลมีหนี้ 30 ปีจะเป็นไรไป ดอกเบี้ยถูก ถ้าสามารถทำให้ประชาชน ให้มีกำลังซื้อปกติ รัฐบาลยังเก็บภาษีได้อีก อย่าปล่อยให้โรงงานปิด ไล่คนออก ปล่อยเครื่องจักรไม่ทำงาน เพราะเครื่องจักรขึ้นสนิม กว่าจะมาฟื้นฟูใหม่ต้องใช้เวลา”

พร้อมเน้นว่า “เหมือนการสร้างบ้านกว่าจะเสร็จ ต้องใช้เวลาเป็นปี แต่เวลารื้อแป๊บเดียว เหมือนการระเบิดตึก”

“ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมทุ่มเงินไปเลยในการสร้างงาน ออกพันธบัตรไปกู้เงิน 30 ปี กู้เงินจากทั่วโลก ไม่ใช่กู้เงินในเมืองไทย เครดิตเราดีแบบนี้ ไปเอาเงินจากทั่วโลก หากมากู้จากคนไทย ก็อยู่ในบ่อเดียวกัน ทำไมไม่เอาจากข้างนอกมาเติมให้บ่อเราเต็ม”

เมื่อถามว่าจะต้องกู้เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ…

“หากต้องกู้ กู้มา 3 ล้านล้านบาทก็ได้ หนี้สาธารณะเรายังไม่สูงไม่ถึง 60% ของจีดีพี ตอนนี้ 42% ของจีดีพี หรือถ้าหากเรากู้ถึง 100% ของจีดีพี …แล้วเป็นไง ประเทศอื่นหนี้สาธารณะเขา 100% ของจีดีพีมานานแล้ว แต่เราไม่ได้ผลาญเงิน รัฐบาลกู้มาเพื่อรักษากำลังซื้อ กำลังจับจ่าย ให้ทุกธุรกิจยังพออยู่ได้ ผลิตแล้วมีคนซื้อคนขาย และรัฐมาช่วยบุกเบิกสินค้า ที่ผ่านมาเราขายไปประเทศไหน เราบุกไปก่อนได้ไหมในช่วงโควิด ทูตพาณิชย์ในยามวิกฤติอย่างนี้ ต้องออกกำลังกายแล้ว”

พร้อมย้ำว่ารัฐบาลกู้เงิน “ทำตอนนี้ยังทัน”

“ธนินท์” มองว่าการคลายล็อกดาวน์ ควรค่อยๆ ปล่อย ค่อยๆ เปิดน่าจะดี โดยเชื่อมั่นว่าเราไม่เหมือนญี่ปุ่น เกาหลี (ที่การระบาดกลับมาอีก) เพราะวิถีคนไทยจะต่างกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นบ้านเล็กๆ และชอบสังสรรค์ แต่ของไทยบ้านกว้างขวาง ไม่เน้นสังสรรค์ และอากาศเมืองไทยร้อน

“ผมเป็นคนมองในแง่ดี เมื่อตอนมืดๆ เราต้องทำอะไร เพื่อสว่างแล้วเราจะทำอะไร ไม่ใช่สว่างแล้วค่อยมาทำ มันช้า ตอนนี้ผมคิดว่าใกล้สว่างแล้ว ประเทศอื่นยังไม่สว่าง ผมไม่ได้พูดโม้ เรามีมาตรการป้องกันที่ดี พิสูจน์มาแล้ว ช่วงที่เราล็อกดาวน์”

“ผมคิดว่าทุกอย่างในโลกนี้มีความเสี่ยงได้ทุกเวลา ทุกเมื่อ บางทียังแข็งแรง วิ่งได้ แต่หัวใจวายตายก็ได้ วิกฤติเกิดได้ทุกวัน แต่มีวิกฤติแล้วไม่กล้าทำอะไรก็ไม่ได้ ก็ต้องทำ แต่เราจะป้องกันอย่างไรเท่านั้น เราต้องไม่เสี่ยงอย่างไร ต้องดูแลตัวเองอย่างไร”

ท่องเที่ยวเจาะกลุ่มมหาเศรษฐีหนีตาย

ท่ามกลางวิกฤติ “ธนินท์” ยังมองว่าประเทศไทยมีโอกาส หากทำได้ก่อนก็จะยิ่งฟื้นเศรษฐกิจได้เร็ว มองว่าการฟื้นภาคการท่องเที่ยวน่าจะทำได้เร็วสุด โดยขายไอเดียไปยังภาคธุรกิจท่องเที่ยวว่า ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีมาก สามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาคนไข้โรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทั้งๆ ที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงที่น่าจะมีการติดโรคมาก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเทศไทยก็กลับมีคนติดเชื้อน้อย และเสียชีวิตน้อยมาก สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี นั่นหมายถึงคุณภาพบุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่เก่ง

แม้กระทั่งในช่วงที่ปิดเมือง แต่มีช่วงที่ให้ประชาชนกลับบ้านได้ มีคนแห่ข้ามจังหวัดมากมาย ตอนนั้น “ธนินท์” มองว่ารัฐบาลอาจจะผิดพลาด เกรงว่าเชื้อไวรัสจะระบาดหนัก แต่หลังจากติดตามอยู่สองสัปดาห์ สถานการณ์ก็ไม่รุนแรง โชคดีที่มี อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เข้าถึงประชาชน ทำให้ประชาชนมีข้อมูล มีความรู้ มีการป้องกันที่ดี

จากจุดแข็งดังกล่าว ทำให้ “ธนินท์” มองว่าประเทศไทยควรตีฆ้องร้องป่าวให้มหาเศรษฐีของโลกรู้ว่าประเทศไทยมีหมอเก่ง ระบบสาธารณสุขที่ดีที่จะดูแลเขาได้

“รัฐบาลต้องสื่อสารให้โลกรู้ว่าเรามีหมอเก่ง ต้องให้ข้อมูลว่า เราแทนที่จะติดโควิดเยอะ แต่กลับติดน้อย ตายน้อย”

“ธนินท์” กล่าวว่า ต้องใช้โอกาสนี้รุกการท่องเที่ยว ไปชวนมหาเศรษฐีที่ถูกขังตัวอยู่ในบ้าน อึดอัดไปไหนไม่สะดวก หากมีใครที่สามารถพูดให้เขาเข้าใจและเชื่อมั่นว่าไปท่องเที่ยวแล้วปลอดภัย ไม่ต้องรอจนมีวัคซีน รัฐบาลต้องสื่อสารให้โลกรู้ เราต้องช่วยกันโฆษณาเมืองไทย

“พอให้ข้อมูลแล้ว เรามีบริษัททัวร์อยู่ใช่ไหม ซึ่งบริษัททัวร์หลายระดับ เราก็ไปเชื่อมกับบริษัททัวร์ 5 ดาว เชื่อมกับโรงแรม 5 ดาว เชื่อมกับโรงพยาบาล 5 ดาว ให้ทัวร์ไปชักชวนมหาเศรษฐีจีน (เศรษฐีจีน 20% ที่ร่ำรวยมีประมาณ 280 กว่าล้านคน) เศรษฐีอเมริกา ยุโรป ยิ่งคนอายุมาก ให้เขาหนีตาย ไม่ใช่หนีภัย ให้มาเที่ยวเมืองไทย ก่อนจะมาต้องเจาะเลือดไปวิเคราะห์ ไม่ใช่ให้ใครมาก็ได้ หากไม่มีเชื้อโควิด มาอยู่เมืองไทย เรามีหมอ มีอุปกรณ์พร้อม เครื่องบินทั้งลำรับมาถึงเมืองไทย ไปลงที่ที่พร้อมรับนักท่องเที่ยว มาแล้วก็ต้องกักตัวอยู่ด้วยกัน 14 วันโดยให้อยู่ในโรงแรมที่เขามั่นใจว่าทุกคนปลอดภัย พนักงานห้ามกลับบ้าน เป็นเขตปลอดภัย และวางแผนให้เขาไปเที่ยวในที่ปลอดภัย หากเขามั่นใจเขาจะมาเที่ยวอีก”

โดยรัฐต้องสนับสนุนปรับกฎเกณฑ์ให้เอกชนทำ รัฐบาลต้องให้ความสะดวก ไม่ใช่ปิดตาย และต้องทำเดี๋ยวนี้ อย่ารอให้ทุกอย่างสงบ รัฐบาลต้องทำ ต้องช่วย นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ ต้องทุบโต๊ะได้

“การทำแบบนี้ไม่ใช่การล้วงลูก ไม่ต้องมีขั้นตอนแล้ว นายกฯ เป็นผู้นำ ไม่ต้องทำอะไรตามปกติ คนเดือดร้อน ตอนวิกฤติก็ต้องทำแบบวิกฤติ ปกติก็ต้องทำตามปกติ แต่ปกติก็ต้องแก้ระบบให้เร็วขึ้น”

“ธนินท์” บอกว่าตนเองมีความเชื่อลึกๆ ว่าหลังวิกฤติ เมื่อมีวัคซีน ท่องเที่ยวจะบูม ด้วยวิถีใหม่ทำงานที่บ้าน หรือทำที่ไหนก็ได้แล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้การท่องเที่ยวบูมอย่างแน่อน

“ผมมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะมหาศาล ผมพาครอบครัวไปเที่ยว เที่ยวไปทำงานไป พักผ่อนได้เต็มที่ ทำงานได้ทั่วโลก อยู่กับครอบครัวได้เต็มที่”

ดังนั้นประเทศไทยต้องทำเลย เพราะคนอื่นทำไม่ได้ เราทำได้ อย่ารอวัคซีน

จ้างคนเก่งทั่วโลกมาทำงาน สู่การเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก”

จากจดหมายตอบนายกรัฐมนตรี “ธนินท์” ได้เสนอให้ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ แต่การจะเป็นเช่นนั้นได้ ไทยต้องดึง “คนเก่ง” เข้ามาอยู่เมืองไทยให้ได้ เอาคนเก่งที่คนไทยยังไม่เก่ง สัก 5 ล้านคน มาช่วยประเทศไทยสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อทำให้คนไทยเก่งไปด้วย เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะคนเก่งเหล่านี้จะมาช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เรา มาเสียภาษีให้เรา มาทำให้คนไทยเก่งขึ้นด้วย และเมื่อเขาเข้ามาแล้ว เขาต้องการโรงเรียนที่ดีๆ ให้ลูกของเขา มีความปลอดภัยในเรื่องสุขภาพ ต้องมีโรงพยาบาลที่ดี รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ น่าจะดีขึ้นด้วย

“ธนินท์” ย้ำว่าเราต้องเห็นแก่ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ เพราะเราแพ้ เราต้องพัฒนาตัวเอง เอาคนเก่งเข้ามา เขาไม่ได้มาแย่งงาน หากคิดแบบนั้น คิดไม่ถูกต้อง เพราะคนเหล่านี้ที่เข้ามาทำงาน มาทำในด้านที่คนไทยยังทำไม่ได้

“ซีพีที่อยู่รอดได้ แม้จะเป็นธุรกิจครอบครัว ผมถือหุ้นใหญ่ แต่ยังมีกองทุนต่างๆ เป็นผู้ถือหุ้น และผมใช้มืออาชีพทั้งนั้น ลูกหลานไม่วุ่นวาย ดูแค่คนกับเงิน ใครเก่งก็ขึ้นมาเป็นประธานได้ ซีพีจึงขยายไปทั่วโลกได้ หากจำกัดแค่คนของเรา ก็ขยายไปทั่วโลกไม่ได้”

“ธนินท์” ยังชี้ให้เห็นแนวโน้มการจ้างงานต่อไปว่า พนักงานธรรมดาในเครือซีพีจะไม่มี จะมีเครื่องทุ่นแรงแทนหมด แต่สิ่งแทนไม่ได้คือพนักงานที่ออกไปหาตลาด ทุกคนต้องเป็นนักรบ แต่การจะมีเครื่องทุ่นแรง ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ต้องมีคนเขียนซอฟต์แวร์ที่อัจฉริยะ ต้องใช้คนที่เข้าใจงานนั้นๆ มาเขียน ถึงจะเข้าใจเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้ใครมาเขียนก็ได้ เพราะมันจะไม่มีวิญญาณ มันไม่อัจฉริยะ ต้องแก้แล้วแก้อีก ต่อไปซอฟต์แวร์ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะโลกเปลี่ยน ธุรกิจมันเปลี่ยน

ดังนั้น ถ้าเมืองไทยจะเป็นศูนย์เศรษฐกิจโลก เราต้องมีคนเก่งมาทำงาน เมื่อมีคนเก่งมาทำงานให้ประเทศไทย นักธุรกิจนักลงทุนต้องมาด้วยแน่นอน เพราะมีคนเก่งไปช่วยเขา แต่กฎหมายเราต้องพร้อมเอื้อให้คนเก่งอยากมาอยู่ เช่น ให้เขาเป็นคนไทยไปเลย แก้กฎหมายไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 3 เดือน ให้เป็นเจ้าของอสังริมทรัพย์ได้ เขาเป็นเจ้าของแต่เขาไม่สามารถขนกลับบ้านได้ เป็นต้น

พร้อมกล่าวต่อว่า “คนที่เห็นแก่ตัวอาจจะแอนตี้ว่ามาแย่งงานเขา อันนี้ไม่ได้แย่งงาน เพราะเราไม่มีงานอันนี้ หากคนที่จะแอนตี้ ต้องเป็นผม เพราะคนเก่งที่มาต้องมาแข่งกับธุรกิจผม แต่เราต้องเปิดใจกว้าง หากเราสู้เขาไม่ได้ เราต้องยอมเสียสละ ไม่ใช่กันคนอื่นไม่ให้มาสู้ อันนี้มันเห็นแก่ตัว บางคนอ้างว่า…ก็คุณธนินท์เก่ง จริงๆ มีคนเก่งกว่าผมอีก ถ้าเรานึกว่าเราเก่ง เราจะไม่เก่ง ถ้าเรานึกว่าไม่เก่ง เราจะเก่งตลอดไป

ที่สำคัญมากกว่าไปกว่านั้น “ธนินท์” เชื่อว่ามนุษย์ต้องมีโอกาส เก่งยังไงถ้าไม่มีโอกาสแสดง ไม่มีโอกาสสัมผัสงาน จะไม่เก่ง ผมทำตั้งแต่เถ้าแก่ ผมรู้ว่าจะให้โอกาสคนอย่างไร ถ้าไม่มีโอกาส เก่งอย่างไร ก็ไม่เก่ง

“ธนินท์” ย้ำว่าต้องเอาผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกที่ทำสำเร็จแล้วมาทำให้ประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังจ้างอังกฤษมาวางระบบทหารให้เรา เอาคนจีนมาช่วยทำการค้า ทำไมยุคนี้เอาคนเก่งของโลกมาใช้ไม่ได้ เราเอาคนที่เคยทำสำเร็จแล้วมาสอนเรา จะเป็นไรไป

พร้อมให้แนวคิดในการทำงานว่า “ทำไมผมบอกว่า ดีใจวันเดียว เพราะพรุ่งนี้มีคนเก่งกว่าเราแล้ว จะดีใจทุกวันได้อย่างไร และทุกคนมีโอกาสเจอวิกฤติทุกวัน ดังนั้นก็ต้องทำเหมือนนักเรียนสอบ ต้องเตรียมพร้อมสำหรับสอบทุกวัน”

“น้ำมันบนดิน” กับโครงการเกษตรผสมผสาน 4.0

“ธนินท์” มองว่าประเทศไทยมี “น้ำมันบนดิน” มากมาย เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ น้ำมันบนดินที่งอกและเก็บได้ทุกวัน ส่วนน้ำมันใต้ดิน กว่าจะขุดได้ ต้องอาศัยเวลาเป็นหมื่นปี แต่น้ำมันบนดิน เราเก็บแล้ว ปลูกใหม่ได้ตลอดทั้งปี

“น้ำมันบนดิน” คืออาหารเลี้ยงมนุษย์ เป็นเรื่องปากท้อง ไม่กินไม่ได้ เป็นเรื่องที่ “ธนินท์” มองว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ช่วยให้เกษตรมีรายได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรมีราคาถูกต้อง คนทำเกษตรก็จะรวยขึ้น ไม่ใช่ราคาถูกมากๆ ยิ่งขายแบบนั้นก็ยิ่งจน ทำไมประเทศอื่นเกษตรกรเขารวย เราต้องไปเรียนรู้

พร้อมสะท้อนวิธีคิดว่า “ผมทำอาหารสัตว์ ผมไปซื้อถั่วเหลือง ข้าวโพด ราคาสูง แต่คนไม่เชื่อ คนคิดว่าผมพูดเพื่อประโยชน์ตัวเอง ไม่ใช่ ถ้าผมคิดแบบเห็นแก่ตัว ซีพีไม่ใหญ่แบบนี้ ถ้าส่วนรวมดีขึ้นผมดีขึ้น ถ้าส่วนรวมพังผมพังหนักกว่าคนอื่น… อย่าเข้าใจผิด แต่เรื่องนี้เราช่วย เพื่อให้ส่วนรวมอยู่รอด สุดท้ายก็ช่วยผมเองด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทุกคนได้ประโยชน์หมด”

“ถ้าผมเสนอให้ซื้อสินค้าเกษตรถูกๆ สิ ผมได้ประโยชน์ ผมซื้อถูกไปขายแพง ขายง่ายด้วย แต่แบบนี้ ซื้อแพงไปขายแพง ผมขายยากด้วย ขาดทุนด้วย ถ้าหากผมไม่มีฝีมือ ขาดทุนย่อยยับเลย”

พร้อมเล่าความในใจว่า “…คนจะบอกคุณธนินท์ คุณเก่งนี่ เก่งอะไรล่ะ ผมก็เหมือนคุณนั่นแหละ เพียงแต่ผมคิดก่อนทำ ผมเข้าใจ ทำไมคุณไม่มาเรียนรู้ว่า คุณธนินท์คุณทำอย่างไร ช่วยผมหน่อยได้ไหม ผมยินดี แต่บอกไปแล้ว เขาทำได้หรือไม่ได้อีกเรื่องนะ บางคนทำได้ดีกว่า บางคนทำไม่ได้นะ”

“ธนินท์” ชูโมเดลเกษตรไต้หวัน รัฐบาลจะกำหนดราคาข้าว ซื้อไม่ให้ราคาต่ำไปกว่านี้ ซื้อแล้วเก็บ 2 ปี มาทำอาหารสัตว์ พอรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ปลูกทุกปีแล้วผลผลิตเกิน เขาศึกษาไว้แล้ว พื้นที่ไหนต้องเลิกปลูก แล้วควรปลูกอะไรแทน รัฐบาลไม่เสียเงิน ยังได้เงินอีก เกษตรกรรวยขึ้น สร้างธุรกิจจิ๋ว เล็ก กลาง ไม่ใช่ปลูกของที่ขาดทุน ดังนั้นหากจะทำเกษตรแบบยั่งยืนต้องทำแบบไต้หวัน

“อย่าไปแข่งว่าเราจะขายข้าวที่หนึ่งของโลก แต่ชาวนาจนลงทุกปี คุณเป็นเบอร์หนึ่งทำไม ต้องคุมซัพพลาย ช่วยเขาว่าจะปลูกอะไร ระหว่างทางที่เขาจะเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น ก็ต้องช่วยเขาระหว่างทางจนกว่าผลผลิตจะออก ได้ผลแล้ว เขารวยขึ้น รัฐบาลก็ได้ภาษีมากขึ้น มูลค่ารัฐก็มากขึ้น การสร้างงานเกิดขึ้น มูลค่าของรัฐมีมากขึ้น”

สำหรับข้อเสนอแนะของ “ธนินท์” ต่อการฟื้นฟูประเทศตามจดหมายที่ตอบนายกรัฐมนตรีมีเรื่อง “น้ำมันบนดิน” ภายใต้ “โครงการเกษตรผสมผสาน 4.0” โดยจะทำโครงการต้นแบบแนวคิด “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” ที่ซีพีได้ทำจริงมีประสบการณ์มาแล้ว ทั้งนี้ได้ระบุในจดหมายว่า จะเลือก 2-3 จังหวัดของไทยนำร่องทำเป็นต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้สูงอย่างยั่งยืน

โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสาน แนวคิดนี้เครือซีพีทำสำเร็จมาแล้ว คือโครงการเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการผิงกู่ นครปักกิ่ง เป็นโครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัว โครงการไก่เนื้อ 100 ล้านตัวต่อปี หมู 1 ล้านตัวต่อปี รวมถึงโครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง โดยให้ทุกอย่างอยู่ในจุดเดียวกัน ครบทั้งด้านพืชผักและปศุสัตว์ เป็นต้น เป็นรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน และองค์กร

“วิธีของผม เกษตรกรต้องเป็นเจ้าของ เกษตรกรเป็นคนถือหุ้น อยู่ในที่ดินของเขาเป็นพื้นที่รวม โดยซีพีเป็นคนรับความเสี่ยง เราหาเงินกู้เงินแทนเกษตรกร อย่างโครงการผิงกู่ที่จีนทำในพื้นที่ 5 หมื่นกว่าไร่”

“ในพื้นที่ทั้งหมด ที่จะเป็นโครงการนำร่องในไทย จะแบ่งว่าจะปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง กี่ไร่เพื่อให้พอดีกับโรงเลี้ยงหมู 3 แสนตัว ในพื้นที่นี้จะมีโรงฆ่าหมู โรงชำแหละ โรงแปรสภาพ โดยที่เราเช่าจากเกษตรมาบริหาร ขาดทุนเป็นของซีพี เกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้น เขามีเวลาเหลือไปทำสวน ปลูกผลไม้ ปลูกผักปลอดภัย และเรารวบรวม แพ็ค ขนส่งนำมาขายให้กับโรงงานซีพี ตลาดสด โดยเอาลูกหลานเกษตรกรมาทำงาน”

สิ่งที่เกษตรกรได้คือมีรายได้จากค่าเช่า เช่ากี่ปี ค่าเช่าต้องเพิ่มขึ้นทุกปี และอื่นๆ ที่มากกว่าแรงงานขั้นต่ำ เรามีตัวเลขชัดเจน เขาเคยได้เท่าไหร่ ของเราน่าจะให้เขาได้ 2-3 เท่า เราการันตีรายได้ รวมแล้วคุณได้มากกว่าเดิม เราเป็นคนหาเงินกู้ รับความเสี่ยงทั้งหมด พอ 15 ปี ทรัพย์สินจะเป็นของเขา ผมจะทำให้คนเห็นเลย ใคร (เอกชนรายอื่นๆ) เห็นโอกาส ก็มาทำตามที่ผมทำ หากใครสามารถรับความเสี่ยงได้ก็มาทำเลย โดยมีผู้ว่าราชการ กระทรวงเกษตร มาเป็นพยาน

แนวคิดนี้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเกษตรกรไทยที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูง 3 ประการคือ 1. เงินทุน 2. ภัยธรรมชาติ และ 3. ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงแต่กำไรน้อย และยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาด้านชลประทานที่ขาดการบริหารจัดการ ดังนั้นขอเพียงการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก และมีทางเลือกที่จะปลูกพืชมูลค่าสูงที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากได้ จะทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากและหลากหลายขึ้น สามารถทำเกษตรผสมผสานได้ และยังขยายไปเรื่องปศุสัตว์และการท่องเที่ยวได้ด้วย

“ธนินท์” มุ่งมั่นที่จะให้โครงการนี้เป็นเสมือนโรงเรียนให้เกษตรกรมาดูงาน มาศึกษาได้ และพื้นที่ต้นแบบต้องยั่งยืน ต่อยอดได้ มีการใช้เทคโนโลยี การมีส่วนร่วม และกระจายรายได้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย

“ปลูกน้ำ” ปลูกความยั่งยืน

ขณะที่ “น้ำ” เป็นเรื่องหลักของการทำเกษตรกรรม ประเทศไทยมีฝนตกปีละจำนวนมาก มีน้ำท่วม น้ำแล้งตลอดเวลา แต่กลับปล่อยให้น้ำ 60% ไหลลงสู่ทะเล ไหลเป็นน้ำใต้ดินอีกจำนวนมาก ในที่สุดก็ไหลลงสู่ทะเลเช่นกัน หากมีการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก และสามารถเลือกปลูกพืชมูลค่าสูงที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากได้ จะทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากและหลากหลายขึ้น ทั้งทำเกษตรผสมผสานได้ และยังขยายไปเรื่องปศุสัตว์และการท่องเที่ยวได้ด้วย

“ธนินท์” พูดถึงการแก้ปัญหาน้ำที่ผ่านมาว่า พอจะสร้างเขื่อน ทำอ่าง ก็หาว่าไปทำลายสิ่งแวดล้อม ต้นไม้หายไป 30,000 ต้น ซึ่งเราปลูกใหม่ทดแทนเป็นแสนต้น คืนผืนป่าได้ ถ้าตรงนี้จำเป็นต้องเป็นอ่างเก็บน้ำ การปลูกทดแทน 1 แสนต้น ซึ่งวิธีที่ถูกต้องปลูก 3 ต้น ตัดได้ 1 ต้น ทรัพย์สมบัติจะได้ไม่ผุพัง ส่งเสริมให้เขาปลูกป่า ให้รางวัลคนปลูก

พร้อมตั้งคำถามว่า “หากป่ามีเจ้าของ ใครจะมาขโมยล่ะ วันนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ รัฐก็ดูแลไม่ทั่วถึง”

ดังนั้นแนวคิดการ “ปลูกน้ำ” ที่ได้เสนอรัฐบาล รูปธรรมที่จะได้เห็นเป็นโครงการนำร่อง ขณะนี้ได้สำรวจพื้นที่ไปบ้างแล้ว แต่จะดำเนินการในเร็ววันนี้ เป็นการรวบรวมที่ดินที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งปกติก็เป็นแก้มลิงอยู่แล้ว จากข้อมูลเรารู้ว่าที่ไหนเวลาน้ำมาก น้ำท่วมทุกปี มีกี่แสนไร่ กี่ล้านไร่

“เรื่องปลูกน้ำ จะทำตัวอย่างให้ดูเหมือนโครงการเกษตร 4.0 โครงการที่ซีพีจะทำ เราจะเช่าระยะยาวจากเกษตรกร การันตีรายได้ตามราคาที่ดินบวกพรีเมียม เมื่อรวบรวมที่ดิน กักเก็บน้ำ เราขายน้ำ รายได้จากน้ำที่ได้มาจะมาจ่ายคืนแก่เกษตรกรเป็นค่าเช่า ที่ดินที่ถมขึ้นมาแล้วก็จะเกิดแหล่งท่องเที่ยวออกแบบภูมิสถาปัตย์ตามแต่ละพื้นที่ ส่วนเกษตรที่ทำ จะไม่ทำเกษตรแบบเดิม ต้องเอาคนเก่งมาบริหารฟาร์ม อาจจะเป็นรูปแบบสหกรณ์ จะปลูกอะไรต้องมาหารือกัน ว่าต้องปลูกตามโซนนิง จะปลูกอะไรที่มีมูลค่า อาจะไม่ใช่ข้าว ข้าวโพด ถ้ามีน้ำมีโอกาสที่จะปลูกพืชอื่นได้ เช่น ปลูกทุเรียน มะพร้าว ส่วนบ่อใช้เพื่อการเกษตรอาจจะเปิดสัมปทานให้เลี้ยงปลาได้ ผันเป็นรายได้กลับไปให้ชาวบ้านได้ด้วย เป็นโมเดลที่ยั่งยืน โดยที่ซีพีจะทำเป็นต้นแบบ ประมาณ 3-4 แห่ง เรากำลังรีเซิร์ชภาคต่างๆ ว่ามีแหล่งน้ำทั่วประเทศที่ไหนบ้าง เราจะทำแก้มลิง 4.0 เอาเทคโนโลยีมาต่อยอด และทำอย่างไรให้ยั่งยืน”

“ซีพี” ผู้ร้ายในสายตาสังคมไทย?

การพูดคุยได้เห็นถึงแนวคิด วิธีการทำงานของ “ธนินท์” แต่มากกว่าไปนั้นสังคมโดยรวมยังมีคำถามโดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ซีพีเอาเปรียบสังคมไทย

“ธนินท์” ตอบคำถามว่า “จริงๆ พวกคุณไปฟังเองดีกว่า ถามว่ามีไหม มี ทีแรกที่ผมทำ ผมมีสัญญาไม่ถึง 1 แผ่นกับเกษตรกร พักหลังนักกฎหมายใหม่ๆ เข้ามา เติมโดยมองว่าซีพีเสียเปรียบอย่างนั้นอย่างนี้ ถามว่าเราจะไปเอาเปรียบเกษตรกรเรื่องอะไร คุณจะไปจับเขาติดคุกไหม คุณต้องโทษตัวเอง”

ตอนนั้นที่ผมเริ่มต้นเลี้ยงไก่หมื่นตัว สัญญาง่ายๆ ที่ดินของคุณ ไม่ต้องมาจำนำที่ผม แต่ไปฝากแบงก์ไว้ เพื่อไม่ให้คุณไปก่อหนี้ จนกว่าหนี้คุณหมด เพราะบาทหนึ่งเขาไม่ต้องลงทุน ผมเป็นคนหาเงินกู้ให้เขา และการันตีแบงก์ให้เขา พอหมด 5 ปีคุณก็เอาที่ดินคุณกลับไป คุณจะเอาไปทำอะไรก็เป็นเรื่องของคุณ

สัญญาสั้นๆ ถ้าผิดสัญญา เราไปฟ้องแล้วไปยึดที่ดินเขาได้ไหม ถามว่า…ใครกล้าไปอยู่ในหมู่บ้านเขา โครงการที่มีปัญหา ผมก็บอกว่า โครงสร้างที่ทำไป ทำไว้เป็นโครงสร้างเหล็ก หลังคาเป็นสังกะสี เราก็ยอมแพ้ เราเสียหายในพื้นที่ เราถอย เราจะไปฟ้องอะไร พักหลังฝ่ายกฎหมายเรา เติมเอาๆ นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เตือนผม ผมก็ไม่พอใจนายกอานันท์ ผมไปเอาเปรียบที่ไหน ท่านบอกคุณธนินท์คุณไปดูสัญญาของคุณ คุณเอาเกษตรกรเหมือนเป็นทาสเลย ไม่มีสิทธิ์อะไร คุณได้หมดทุกอย่าง ผมไปดูก็ตกใจ ว่าเราเขียนซะ เอาเปรียบทุกอย่าง ผมยังอ่านไม่เข้าใจเลยแล้วจะเอาไปให้เกษตรกรอ่าน ผมก็เลยเปลี่ยนหมด

ผมถามฝ่ายกฎหมายว่าที่ผ่านมาเราเคยไปยึดที่ดินใครสักแปลงไหม ไม่มี เมื่อไม่มี ก็ถามฝ่ายกฎหมาย แล้วคุณเขียนในสัญญาทำไม เขียนให้เสียชื่อเปล่าๆ แล้วถ้าคุณยึดที่ดินเขามาแล้วคุณจะไปขายให้ใคร ถามหน่อยสิ ไปเขียนเอารัดเอาเปรียบ ผมไม่พอใจ ตอนนี้แก้หมดแล้ว เป็นนักกฎหมายเราเอง ผมก็ไล่ออกไป

หรือบางทีผู้จัดการของเราไปเอาเปรียบคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เรื่องกุ้ง ผมบอกว่าคุณไปถอนหนวดเสือเลยนะ เขาเป็นเจ้าของท้องถิ่น เป็นนักการเมือง คุณไปเอาเปรียบเขา เขานึกว่าผมไปเอาเปรียบเขา อย่างนี้เก่งอย่างไรผมก็ไม่ใช้ หากไปเอาเปรียบเขา ทำให้บริษัทเสียชื่อ เป็นถึงผู้จัดการ แม้ทำผลงานดี แต่ไปเอาเปรียบ คุณเก่งจริงคุณต้องไม่เอาเปรียบ คุณต้องเก่งในเรื่องที่บวก ไม่ใช่ไปเอาเงินจากกระเป๋าเขาแล้วเรารวยขึ้น แต่เขาจนลง เราไม่เอา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีพวกที่เอารัดเอาเปรียบ และมนุษย์ก็ไม่มีวันพอใจ วันนี้ได้แค่นี้ พรุ่งนี้อยากได้มากกว่านี้ ไม่ว่ากัน ถ้าเราไปสัมภาษณ์ เขาก็จะบอกว่า เออ ได้ราคาดีกว่านี้ก็ยิ่งดี ไม่มีใครบอกว่าพอใจ นั่นแหละ…โลกมันถึงก้าวหน้า ถ้าทุกคนมีความพอใจ โลกก็ไม่ก้าวหน้า

ต้องมีคนพวกหนึ่งที่อยากเจริญรุ่งเรืองกว่านี้ อยากจะก้าวหน้ากว่านี้ ก็คุณเพิ่มราคาสิ บางทีก็ไม่พอใจเรา เพราะเราซื้อได้ราคาแค่นี้ ก็ไม่พอใจ ซึ่งเป็นแกะดำ ก็เป็นเรื่องปกติสังคม ที่จะทำให้ทุกคนพอใจคงไม่ได้

…ถามว่ามีคนอยากทำสัญญากับซีพีไหม ทุกราย เอาทุกราย ทำสัญญาเมื่อไหร่ แบงก์วิ่งไปให้กู้เลย แต่เราต้องจำกัด เพราะเราขายได้แค่นี้ ก็ส่งเสริมได้แค่นี้ ส่งเสริมมากไม่ได้ผมก็ขาดทุน สุดท้ายเขาก็อยู่ไม่ได้ เราก็ต้องส่งเสริมเท่าที่เรามีตลาด

ปัจจุบันเกษตรกรทำคอนแทรกต์ฟาร์มมิงหรือเกษตรพันธสัญญามี 5,000 ราย ซึ่งอยู่กับซีพีมา 20-30 ปีทั้งนั้น รายได้ดี แต่ที่เห็นข่าวเวลาพูดถึงคอนแทรกต์ฟาร์มมิง เท่าที่ไปสำรวจเป็นของคนอื่นก็เยอะ แต่อ้างว่าเป็นของซีพี ที่ผ่านมาซีพีไปทำรหัสที่ฟาร์ม ว่าอันไหนของเราอันไหนไม่ใช่ และที่เป็นตัวอย่างระดับโลก คือการทำประกันให้เกษตรกรเวลาเกิดภัยพิบัติ

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ “ธนินท์” อยากให้โลกรู้และให้รัฐบาลทำ เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทย ในวิกฤติโควิด-19…

SOURCE : www.thaipublica.org