ถ้าเป็นสมัยก่อน วัฒนธรรมครอบครัวแบบไทย อาจหมายถึงความอบอุ่นของการได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน ปัจจัยหลายต่อหลายอย่างทำทำให้ใครหลายคนต้องออกมาใช้ชีวิตห่างจากครอบครัวตามลำพัง

แล้วอยู่ๆ ในวันที่ไวรัสบุก  มันก็บังคับให้สมาชิกในครอบครัวต้องกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง คนที่คุ้นชินกับการอยู่ตามลำพัง ควบคุมทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเองได้มาตลอด การกลับมาอยู่ร่วมกันกับคนจำนวนมากกว่า 1 ขึ้นไป อาจต้องรับมือกับความสัมพันธ์ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมงนี้อย่างไม่ง่ายเลย 

เพราะนี่ไม่ใช่ช่วงเทศกาลที่มาเจอหน้ากันเดี๋ยวด๋าวแล้วแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน การ ‘อยู่กับครอบครัว’ จึงอาจไม่ใช่ภาพน่ารักเหมือนโปสเตอร์หนังคริสมาสต์ ทุกบ้านล้วนมีคอนฟลิกซ์เป็นของตัวเองทั้งนั้น บ้านไม่ได้เป็นที่ปลอดภัย อุ่นใจ สำหรับทุกคนเสมอไป 

อบอุ่นกับอึดอัด มีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่ และมันจะยิ่งยากเข้าไปอีกในเวลาของการที่เรา ‘ไม่รู้’ ว่าโรคนี้มันจะหายไปเมื่อไร อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วเราจะต้องใช้ชีวิตในที่จำกัดนี้ด้วยกันไปอีกนานแค่ไหนเนี่ยสิ!

How are you today? | ได้เวลาเช็คระดับความโอเค

ช่วงเวลาวิกฤติสร้างความกดดันให้ทุกคนทั่วถึงกัน แต่มันต่างกันตรงที่ว่า แต่ละคนมีการแสดงความกดดันนั้นออกมาไม่เหมือนกัน และแต่ละคนก็มีวิธีรับมือกับมันไม่เหมือนกันด้วย เช่น แม่ดูวิตกกังกล พ่อดูจะแพนิค พี่ดูเศร้าผิดปกติ หรือเราเองที่หงุดงิดง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลถึงพฤติกรรมต่างๆ ของคนในบ้าน การกลับมาอยู่ด้วยกันเป็นข้อดีที่จะทำให้คุณได้เช็คระดับความโอเคของแต่ละคน ลองสังเกตคนในบ้านรวมถึงตัวคุณเองด้วย ว่าใครอยู่ในระดับเท่าไรกันบ้างแล้ว ยังดีอยู่มั้ยหรือว่าไม่ไหวแล้ว คุณจะได้รีบหาวิธีรับมือกับความไม่โอเคได้ทัน

Anxiety coping | รับมือกับความไม่โอเค

ไวรัสน่ากลัวเรารู้ มีคนตายทุกวันเรารู้ แต่คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าแต่ละคนกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ข้างในจิตใจเขาบ้าง ในช่วงเวลาแบบนี้ ความกลัว ความกังวล ความแพนิค อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แม่อาจพูดซ้ำเรื่องเดิมๆ ป้าเเชร์ทุกข่าว ส่งทุกคลิปตลอดเวลา พ่อเปิดทีวีดูข่าวตลอดวัน หรือไปๆ มา ๆ ใกล้ๆ ระหว่างคุณกำลัง Work from Home

ทั้งหมดนี้ก็อาจสร้างความรู้สึก WHAT?! เป็นธรรมดา ถ้าเราไม่เข้าใจว่านั่นเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่มันไม่ปกติ แล้วพวกเขาก็กำลังรับมือกับความไม่ปกตินั้นอยู่ เป็นช่วงเวลาที่เราอาจต้องใช้ความ ‘เข้าใจ’ ให้มากกว่าเดิม ลองเปลี่ยนจากการห้าม ดุ ว่า ตำหนิ เป็นการใช้คำพูดที่แสดงว่า ‘ฉันรับรู้นะ เข้าใจนะ’ เพื่อบอกเขาว่าคุณยังโอเค และทุกสิ่งจะไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ให้เขาสบายใจว่า เฮ้ โลกยังไม่แตกนะ 

Don’t try to control everything | ไม่ต้องควบคุมไปหมดทุกอย่างทุกเรื่องก็ได้

โลกที่เคยหมุนรอบตัวฉันมาตลอดก็ไม่หมุนรอบฉันซะแล้ว! โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ถูกใจ ทำไมไม่เก็บของเข้าที่ ทำไมแม่มาจัดโต๊ะทำงานตลอด หาของไม่เจอ ทำไมต้องเรียกกินข้าวตอนกำลังวีดีโอคอล ทำไม ทำไม ฯลฯ เอาตรงๆ แค่ตื่นมาก็มีแต่เรื่องให้หงุดหงิดได้แล้ว นั่นเป็นเพราะว่าคุณรู้สึกเหมือนสูญเสียการคอนโทรลโลกทั้งใบไป พลัง Toxic นั้นไม่ดีต่อบรรยากาศในบ้านแม้แต่น้อย คุณอาจต้องผ่อนคลาย เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้จัดแจง จัดการ หรือทำหน้าที่ของเขาไป ถ้าอันไหนไม่ไหว ไม่โอจริงๆ ก็อาจต้องหาทางบอกกันดีๆ ดีกว่ารู้สึกหงุดหงิดแล้วแสดงออกแบบร้ายๆ ต่อกันให้หมองใจเยอะเลย

Talk Session | หาเวลาคุยกัน

เราเชื่อว่ามีหลายบ้านที่อยู่ด้วยกันทุกวัน แต่ไม่เคยคุยกัน หมายถึงคุยจริงๆ ถามไถ่กันจริงๆ ไม่ใช่ทักทายเหมือนเป็นรูทีน นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ ที่จะหาเวลามานั่งคุยกันพร้อมหน้าแบบแม่จ๋าไม่ต้องเขิน ไม่ต้องทางการมาก เช่น จิบกาแฟด้วยกันตอนเช้า หรือระหว่างนั่งดูหนังกินป๊อปคอร์นด้วยกัน บอกความต้องการของแต่ละคนไปเลย สิ่งนี้ชอบ ฉันไม่ชอบสิ่งนี้เลย เพราะมันทำให้ฉันรู้สึก… หรือ ฉันสบายใจมากกว่าที่ได้ทำอย่างนี้ เธอโอเคมั้ย ถ้าเธอไม่โอเค เราจะเจอกันตรงกลางได้ไหม ยังไงดี ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ บางทีคุณอาจได้รู้ความรู้สึกของคนในบ้านที่คิดว่ารู้จักกันมานาน แต่ไม่เคยรู้ใจเขาเลยก็เป็นได้

Balance ‘I’ and ‘We’ | เวลาของฉัน เวลาของเรา 

เมื่ออยู่บ้านนานๆ กับเหล่าสมาชิกในครอบครัว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือพื้นที่ส่วนตัวที่เหลือน้อยลงไปทุกที แถมยังต้องเพิ่มสกิลสร้างบทสนทนากับคนอื่นมากขึ้นในแต่ละวันอีก

การหากิจกรรมผ่อนคลายบรรยากาศในบ้าน และใช้เวลาร่วมกันเป็นสิ่งที่ดี เราไม่เถียง แต่ขณะเดียวกันก็ควรได้ปล่อยให้แต่ละคนมีกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุขโดยลำพังด้วยเหมือนกัน ระยะห่างในความสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นมากไม่ว่าเวลานี้หรือเวลาไหน คุณไม่จำเป็นต้องดูหนังทุกเรื่องด้วยกัน หรือกินข้าวพร้อมกันทุกมื้อ ไม่ต้องพยายามให้เกิดกิจกรรมกลุ่มตลอดเวลาก็ได้

เราทุกคนต่างต้องการเวลาและพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง จะมากจะน้อยก็ตามแต่ ต้องไปหาบาลานซ์กันเอาเอง ระหว่างการอยู่ด้วยกันไปเบื่อๆ กับอยู่ด้วยการอย่างมีคุณภาพ เราเชียร์อย่างหลังมากกว่า ไม่แน่นะ เมื่อวันที่ไวรัสผ่านไปแล้ว มันอาจจะกลายเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดปีหนึ่งของคุณและครอบครัวก็ได้

SOURCE : www.dooddot.com