นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมเสนอมาตรการต่าง ๆ ให้คณะรัฐมตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เพื่อลดกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่

1.การออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำโครงการซอฟท์โลนพิเศษโดยตรงให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยเงินของ ธปท.เอง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสินที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

นายวิรไท กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในการนำเสนอมาตรการชุดต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้เน้นไปที่ลูกค้ารายย่อย ให้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยระยะหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็มาตรการอีกชุด แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดยังมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มจะขยายมากขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้ไปสู่เอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสินเชื่อที่เป็นสภาพคล่องใหม่เพื่อช่วยเหลือรายที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนและดูแลให้ธุรกิจก้ามข้ามสถานการณ์วิกฤติไปได้

2.การออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำมาตรการสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้เอกชนเพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยศึกษาจากมาตรการของธนาคารกลางหลายประเทศ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะให้อำนาจ ธปท.สามารถซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดเพื่อไปชำระตราสารเดิม เฉพาะตราสารของบริษัทที่มีคุณภาพดี โดยจะต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เติมเต็มให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขคัดกรองว่าเป็นบริษัทที่ดี

นายวิรไท กล่าวว่า ระบบการเงินที่เข้มแข็งเป็นเสาหลักสำคัญให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ต้องให้แน่ใจว่าตลาดการเงินทำหน้าที่ปกติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ธปท.ได้ร่วมกันพิจารณากลไกที่สำคัญที่จะช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ 3.5 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาด 14 ล้านล้านบาท

ขณะที่ผู้ถือตราสารหนี้เอกชน ครอบคลุมประชาชนหลากหลายประเภท และองค์กรหลากหลาย เช่น กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพยฺ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนตราสารหนี้ อีกทั้งภาคธุรกิจจำนวนมากอาศัยการกู้เงินผ่านตลาดตราสาร ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบที่ลุกลามมาจากตลาดตราสารหนี้โลกและความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดตราสารเอกชนทำหน้าที่ไม่ปกติเหมือนทั่ว ๆ ไป จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ

3.ธปท.จะมีมาตรการขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งตามกำหนดเดิมในเดือน ส.ค.63 นี้วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดลงจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้เสนอให้ยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี เพื่อยังคงให้คุ้มครองเงินฝากที่ 5 ล้านบาทต่อไปถึง ส.ค.64 เพื่อช่วยลดความกังวลใจของประชาชน

4.ธปท.จะให้สถาบันการเงินลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากเดิมอัตรา 0.46% จะลงเหลือ 0.23% ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยให้กับประชาชน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.ryt9.com