ธุรกิจด้านสุขภาพ-ความงาม ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10% ติดต่อกันหลายปี โดยในปี 2019  ที่ผ่านมา ธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่าถึง 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 40% หรือกว่า 1.12 แสนล้านบาท (การเติบโตดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย)  ซึ่งยังไม่นับรวมถึงธุรกิจอาหารเสริมซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6.67 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเสริมความงาม อาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรค และอาหารเสริมสมรรถภาพร่างกาย  

ภาพรวมตลาดโลก มูลค่าของตลาดสินค้าความงามอยู่ที่ประมาณ 9.3 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยครองอันดับที่ 17 ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพความงามไทย มีโอกาสสูงในการขยายตลาดและปั้นแบรนด์สินค้าของตนให้เติบโตเข้าสู่ตลาดโลก แต่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงและต้องหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้น

       นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นผลให้มีการใส่ใจสุขภาพ ความสวยความงาม และการดูแลสุขภาพผิว และยังทำให้ตลาดเครื่องสำอางในประเทศจีนขยายขนาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเทคนิคในการส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดจีนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องมาตรฐานของสินค้าเพราะผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลจีนได้มีการประกาศให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางช่วยควบคุมพฤติกรรมของผู้ผลิตและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนก่อนว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายชอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทใด ลักษณะใด เพื่อนำมาต่อยอดการพัฒนาสินค้าให้ดึงดูดใจผู้บริโภคชาวจีนได้ รวมทั้งดำเนินการติดต่อทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า เพื่อความสะดวกในการติดต่อขอเอกสารกับหน่วยงานของรัฐ  ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจให้แก่บริษัทคู่ค้าชาวจีน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจส่งออกที่ดี มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเครื่องสำอางที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในจีนได้นั้น สินค้าทุกชิ้นจำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินการและตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มงวด การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพเครื่องสำอางจากหน่วยงาน SFDA , ศุลกากร และ CIQ ที่ตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ทั้งเรื่องฉลากสินค้า ขนาด และปริมาณ เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมที่จะสร้างตลาดใหม่ ๆ ได้ในหลาย ๆ ประเทศ การทำตลาดออนไลน์ในยุค Digital Disruption และการนำเอา Big Data Analytic และ Design Thinking มาช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจในผู้บริโภคได้มากขึ้น พร้อมแก้ไข Pain point ของธุรกิจดังกล่าวให้มีความทัดเทียมกับประเทศชั้นนำ เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักและเป็นที่ต้องการในตลาดโลก

 

ขอบคุณข้อมูล : สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA)