ดูผิวเผินฮ่องกงยี่สิบสองปีที่ผ่านมานั้น ประสบความสำเร็จมาก หลังจากคืนสู่อ้อมกอดจีนแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองในช่วง 15-16 ปีแรก แทบไม่มีปัญหา ทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงินที่เป็นจุดเด่น หรือ อุตสาหกรรมส่งออก ยังเติบโตไม่หยุดยั้ง จากที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หลายปีมานี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารายได้ต่อหัวของฮ่องกงนั้นสูงกว่าของอังกฤษไปแล้ว ปฏิเสธยาก ครับ ว่าสูตร “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่จีนใช้กับฮ่องกงนั้นไม่สำเร็จ

ทว่า การประท้วงด้วยการ “กางร่ม” เมื่อปี 2014 และ การประท้วงด้วยความรุนแรงในรอบหลายเดือนของปี 2019 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องพิจารณาว่า “สองระบบนั้น” ดีจริงหรือเปล่า ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือเปล่า

เป็นที่น่าแปลกใจ ในขณะที่ผู้คนชาวจีนทั้งประเทศรู้สึกว่าการยกฮ่องกงให้อังกฤษเมื่อปี 1852 หลัง “สงครามฝิ่น” นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวด เป็นหนึ่งศตวรรษแห่ง “ความอัปยศ” ของชาติ แต่บรรดา นักเรียน-นักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ บางส่วนกลับเรียกร้องให้คืนฮ่องกงให้อังกฤษ หรือ ให้กลับไปโคจรอยู่กับโลกตะวันตก คนเหล่านี้ล้วนเกิดมาหลังจากฮ่องกงกลับสู่จีนแล้วทั้งสิ้น

ปัญหาก็คือ หรือ “สองระบบ” ทางการศึกษานั้น ไร้ประสิทธิภาพในการกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่หรือไม่ ?

อนึ่ง บ่อยครั้ง ขบวนประท้วงทั้งหลายจะโอดครวญบ้าง แค้นเคืองบ้าง กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในฮ่องกง ช่องว่างระหว่างคนรวย-จน นั้นช่างห่างกันมาก และมีแต่จะห่างขึ้นๆด้วย คนชั้นกลางและคนจนไร้ที่อยู่ หรือต้องเช่าที่อยู่ในราคาแพงมาก ในขณะที่มหาเศรษฐีมีที่อยู่กว้างขวางโอ่โถงในที่ที่สวยงาม ใครที่ไปเที่ยวฮ่องกงคงมองเห็นกันทั้งสิ้น

ปัญหาก็คือ หรือว่า “สองระบบ” ในทางเศรษฐกิจนั้น แทบไม่แตะต้อง ไม่ปฏิรูป “ทุนนิยม” เอาเสียเลย อนุญาตให้ที่ดินเป็นของเอกชน ปล่อยราคาที่ดิน ราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัย ให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากเกินไปหรือไม่ ?

รัฐทุ่มทุนสร้างที่อยู่อาศัยให้คนชั้นกลางและคนชั้นล่างในราคาย่อมเยาหรือสมเหตุสมผลมากพอไหม ? หรือแทบไม่ได้ทำ เคยทำอย่างไรสมัยอยู่ใต้อังกฤษก็ทำอย่างนั้นต่อมา อย่าลืมว่าในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ไม่ได้มีแต่ทุนนิยม หากแต่มีรัฐสังคมนิยมกำกับชี้นำอยู่ด้วย

สุดท้าย แม้ฮ่องกงโดยภาพรวมจะเติบโตทางเศรษฐกิจไม่หยุดยั้ง แต่หากเทียบกับ “เสิ่นเจิ้น” ที่อยู่ติดกัน อันบริหารโดยจีนเองนั้น บัดนี้ล้าหลังกว่าแล้ว เสิ่นเจิ้นนั้น เพิ่งเกิดมาสี่สิบปีเท่านั้นเอง มาจากท้องนา เริ่มเติบโตจากอุตสาหกรรม แล้วต่อยอดไปเป็นธุรกิจการเงินที่ไม่แพ้ฮ่องกง และในหลายปีมานี้เสิ่นเจิ้นยังเป็น “ซิลิคอน วัลลีย์” ของจีนด้วย เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี 5 จี และอยู่แถวหน้าแห่งอุตสาหกรรม หรือ บรรดาธุรกิจ แห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ของโลกไปแล้ว

ปัญหา “สองระบบ” ในการวางแผนพัฒนา ทำให้ฮ่องกง “อิสระ” เกินไป จนไม่อาจใช้พลังจากเมืองใหญ่อื่นๆ หรือภูมิภาคที่ล้อมรอบอยู่ได้เต็มที่หรือเปล่า ? เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาที่เร่งเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ได้ไม่เต็มที่หรือเปล่า ? จะว่าไปแล้วเสิ่นเจิ้นก็อยู่แบบหนึ่งประเทศ “สองระบบ” เหมือนกัน แต่ไม่ได้พยายามอยู่ต่างหาก หรืออยู่อย่างแยกตัวมากนัก

เมื่อรวมฮ่องกงเข้ามาใหม่ๆ นั้น ผู้นำจีนเน้นเรื่อง “สองระบบ” มาก ซึ่งก็ได้ผล มีความสำเร็จ แต่ในความสำเร็จก็ย่อมมีปัญหา มิตรสหายหลายท่านในจีนเวลานี้เห็นว่าจากนี้ไปน่าจะต้องให้น้ำหนักกับการเป็น “หนึ่งประเทศ” ร่วมกันมากขึ้น

ผมเห็นว่าหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นั้น ควรรักษาไว้ อย่างมั่นคงครับ จนกว่าจะครบห้าสิบปี เป็นอย่างน้อย แต่ “สองระบบ” นั้น น่าจะต้องปรับปรุง ในแง่นี้คนฮ่องกงนั้นต้องไม่คิดเป็นสูตรตายตัวว่าตน “เหนือ” กว่าคนจีนทั่วไป ควรถ่อมตน เรียนรู้อะไรที่ดีจากอีกระบบหนึ่งได้ด้วย

ในฐานะผมเป็น “แฟนคลับ” ฮ่องกง ร่วมสี่สิบกว่าปีที่ไปเยือนเสมอ และในขณะเดียวกัน เป็นมิตรของจีน ผมเห็นว่า ฮ่องกง นั้น จะต้องอยู่กับจีนต่อไป อย่างแน่นอน ปรารถนาจะเห็น “สองระบบ” นี้ ปรับตัวเข้าหากัน เรียนรู้จากกันและกัน และวิงวอนให้สถานการณ์ความขัดแย้งในฮ่องกงจบลงด้วยดีโดยสันติเป็นหลัก ไปสู่อะไรที่ต้องดีขึ้นสำหรับทุกฝ่าย !!