ผลประกอบการ เอสซีจี เซรามิกส์  ไตรมาส 4 รายได้-กำไรลดลง ขณะที่ภาพรวมปี 2562 กำไรเพิ่มขึ้น 158 ล้านบาท  เร่งแผนงานเสริมความแข็งแกร่งช่องทางขาย จับมือพันธมิตรรุกขยายสาขา “คลังเซรามิค แฟมิลี” โมเดลใหม่ คาดเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

 

           

         นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) กล่าวว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของ COTTO ในไตรมาสที่ 4 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,545 ล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 7% จากไตรมาสก่อน โดยมีผลขาดทุน 70 ล้านบาท ลดลง 207% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 180% จากไตรมาสก่อน  จากสถานการณ์ตลาดที่ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำในส่วนของแผนการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกันเป็นเงิน 85 ล้านบาท

          โดยผลประกอบการปี 2562  บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 11,074  ล้านบาท ลดลง 4% จากปี 2561 โดยมีกำไรสุทธิรวม 168  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 158 ล้านบาท  จากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงความสามารถในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ควบคู่กับการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร การขายและการตลาดได้ตามเป้าหมาย และมีกำไรจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแคเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน

          ในปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการส่งออก 1,946 ล้านบาท และรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 1,370 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562  มีรายได้จากการส่งออก 466 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของยอดขายรวม ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณขายในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็น 17% ของปริมาณขายรวม ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

          สำหรับยอดขายตลาดต่างประเทศลดลงจากปีก่อน 23% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของสงครามการค้า รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อยอดขายกระเบื้องเซรามิกในทุกพื้นที่  โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก กัมพูชา ลาว และ พม่า ขณะที่ตลาดเซรามิกในประเทศช่วงไตรมาส4 /62 ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมตลาดเซรามิกในประเทศติดลบเล็กน้อย

           ทั้งนี้จากมาตรการของภาครัฐ อาทิ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงมาตรการที่เน้นช่วยผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01%  มาตรการสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาทของธนาคารอาคารสงเคราะห์สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท การคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 2.5% ใน 3 ปีแรก และการผ่อนปรนมาตรการ Loan to Value (LTV) ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิก ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายกระเบื้องเซรามิกในประเทศใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

           ดังนั้นในปี 63 “เอสซีจี เซรามิกส์” คาดว่าตลาดเซรามิกในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น เติบโต 1-3% ด้วยมูลค่าตลาดรวม 3-3.5 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังต้องระวังความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจอาจติดลบ นอกจากนี้ยังต้องมองหาช่องทางเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาด CLM โดยเฉพาะตลาดกระเบื้องในพม่า ที่มีอัตราเติบโตสูง ถึง 10% 

         ทั้งนี้ “เอสซีจี เซรามิกส์” จึงปรับแผนธุรกิจ เร่งขยายสาขา “คลังเซรามิค” ร้านค้าปลีกจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกสำหรับตลาดระดับกลางลงมา ให้ครอบคลุมพื้นที่รองรับความต้องการของลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ ด้วยการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ “คลังเซรามิค แฟมิลี” โดยจะร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายที่มีศักยภาพเปิดสาขา “คลังเซรามิค” ร่วมกัน  ตั้งเป้าขยายให้ได้ถึง 100 สาขา ภายในปี 2023 ด้วยงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 28 สาขา ซึ่งโมเดลนี้จะช่วยลดต้นทุนของบริษัทฯลงราว 3% จากค่าบริหารจัดการหน้าร้าน รวมถึงค่าก่อสร้างสาขา

          โดย “คลังเซรามิค แฟมิลี” เป็นการผสานจุดแข็งของบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตสินค้าที่ครอบคลุมตลาดทุกระดับ ในขณะที่ผู้แทนจำหน่ายมีฐานลูกค้าและความสัมพันธ์กับผู้บริโภคในพื้นที่และมีทำเลที่ตั้งของร้านเหมาะสม เมื่อผนึกกำลังกันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้าเพราะ “คลังเซรามิค” จะอยู่ในพื้นที่เดียวกับร้านผู้แทนจำหน่ายซึ่งเป็นทำเลที่ลูกค้าคุ้นเคยดีอยู่แล้ว สามารถเข้ามาใช้บริการได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นด้วย

        ในปีที่ผ่านมา “คลังเซรามิค” ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกกระเบื้องเซรามิกสำหรับตลาดระดับกลางลงมา มียอดขายและการเติบโตเป็นที่น่าพอใจมาก โดยมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา   บริษัทฯ จึงต้องการที่จะเร่งขยายสาขาครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายให้เร็วขึ้น  ล่าสุดได้ร่วมมือกับผู้แทนจำหน่าย  คือ บริษัท ไถ่เชียงระนอง จำกัด  เปิดคลังเซรามิค แฟมิลี สาขาแรกที่จังหวัดระนอง และอยู่ระหว่างการดำเนินการกับ บริษัท ชลบุรีอึ้งย่งล้ง จำกัด และ บริษัทนาบอน วัสดุภัณฑ์ จำกัด เพื่อเปิดสาขา “คลังเซรามิค” ภายใต้โมเดลธุรกิจนี้” 

ร้านผู้แทนจำหน่าย จะเน้นสินค้าตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไปจนถึงระดับบน แล้วเสริมด้วย “คลังเซรามิค” ที่มีสินค้าตั้งแต่กลุ่มระดับกลางลงมา โมเดลนี้นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพให้กับร้านผู้แทนจำหน่ายแล้ว ที่สำคัญ ผู้บริโภคยังจะได้รับประโยชน์ด้วยเพราะจะมีสินค้ากระเบื้องเซรามิกให้เลือกซื้อหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีให้เลือกทุกระดับภายใต้แบรนด์ที่เราผลิตและนำเข้า จึงนับได้ว่าเป็นความร่วมมือที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน