“ต้องเห็นใจนายสมคิด เพราะไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว ด้วยการที่เป็นรัฐบาลมีพรรคร่วม แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน ก็ต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อประสานให้ทุกส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ”

        “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เหลือ 2.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% ซึ่งถือเป็นการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี อีกทั้งยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออก ที่ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวติดลบถึง 2% ก่อนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปี 2563 ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและการส่งออก

        ขณะที่ “กระทรวงการคลัง” ซึ่งที่ผ่านมายังคงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 3% หลังจากรัฐบาลได้พยายามออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนจากภายในประเทศเป็นหลัก แต่ก็ดูเหมือนจะยังแรงไม่พอ ทำให้ต้องออกมา “ยอมรับ” อย่างหน้าชื่นอกตรมว่า ปีนี้จีดีพีคงไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียแล้ว โดยได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปี 2562 ลดลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3% ด้วยปัจจัยเสี่ยงกดดันจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวติดลบไปแบบเต็มเหนี่ยวที่ -2.5% จากคาดการณ์เดิมที่ -0.9%

        ด้าน “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.3% ส่วนการส่งออกคาดขยายตัวได้ที่ -1.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 0% เหตุผลเป็นการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนและการจ้างงาน ก่อนที่ล่าสุด วิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท. จะออกมาระบุว่า ในเดือน ธ.ค.นี้ ธปท.จะมีการทบทวนแนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 2.8% เนื่องจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่กระทบกับทุกประเทศ

        ส่วนภาคเอกชน อย่าง “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” โดย สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าที่วิจัยเศรษฐกิจ ที่ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ 2.4% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะเติบโตติดลบ 2.5% โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ช่วงขาลง แต่เป็นการชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยยังมีเวลาปรับตัวไม่เหมือนช่วงเกิดวิกฤติ

        ขณะที่ “EconSCB EIComic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)” ก็ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงเหลือโต 2.5% จากเดิมโต 2.8% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 4/2562 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ราว 2.6% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก  โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

        จากทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่ต้องยอมรับว่าอาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝันแน่แล้ว เพราะไม่เพียงแต่ปัจจัยจากภายนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันการเติบโต แต่ “ปัจจัยภายในประเทศ” ก็เป็นอีกประเด็นที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องความ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของทีมเศรษฐกิจ สะท้อนจากชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าเป็น ชุดมาตรการแบบคนละทิศคนละทาง ทำให้หลายๆ ส่วนที่ถูกผลักดันออกมา เหมือนถูกคิดออกมาจากแค่ส่วนเดียวของทีมเศรษฐกิจ

        ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ทีมเศรษฐกิจอาจจะมีรอยร้าวเกิดขึ้น โดยประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายมองเหตุการณ์เป็นแบบนั้น เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสม มีหลายพรรคการเมืองร่วมกันจัดตั้ง ดังนั้นวัตถุประสงค์ จุดประสงค์และเป้าหมายของแต่ละพรรค อาจจะทำให้ความมุ่งมั่นในการบริหารเศรษฐกิจถูกมองต่างมุมกันออกไป

        และยิ่งเป็นการตอกย้ำเมื่อ ก่อนหน้านี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยออกมาพูดบนเวทีหนึ่ง ว่า “ผมไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่คุมด้านเศรษฐกิจแล้ว เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจเพียง 4 กระทรวงเท่านั้น” จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกฉายสปอตไลต์ว่า “ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลกำลังมีปัญหากันหรือไม่?” จนท้ายที่สุด “สมคิด” ต้องลุกขึ้นมาปฏิเสธข้อสงสัยเคลือบแคลงดังกล่าวว่า ทุกอย่างปกติดี ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน!

        แม้ว่า “สมคิด” จะออกมายืนยันเพื่อให้คลายความสงสัยเรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทีมเศรษฐกิจ แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะยังไม่ดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เคยออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า ครั้งนี้รัฐบาลไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายและกระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้งหมด  เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคร่วม ซึ่งแต่ละพรรคก็มีรองนายกรัฐมนตรีเพื่อดูแลกระทรวงเศรษฐกิจของตัวเอง เพราะเลือกตั้งได้ออกมาแบบนี้ จะให้ทำอย่างไร ทำให้การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่มีเอกภาพ จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจขึ้นมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อรวมศูนย์อำนาจในการดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นการหารือร่วมกัน จึงไม่มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา

        “ต้องเห็นใจนายสมคิด เพราะไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว ด้วยการที่เป็นรัฐบาลมีพรรคร่วม แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน ก็ต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อประสานให้ทุกส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ”

        จนล่าสุด “สมคิด” ได้ออกมาพูดอีกครั้งว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการส่งออก เรื่องค่าครองชีพ เรื่องการเบิกจ่ายของภาครัฐ และการช่วยเหลือเกษตรกร การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น เครื่องยนต์เหล่านี้ต้องเดินไปข้างหน้าทุกตัว ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นมาตรการเฉพาะส่วนที่กระทรวงการคลังเกี่ยวข้อง ตรงนี้คือส่วนที่กระทรวงการคลังทำได้ แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ต้องไปถามหน่วยงาน หรือผู้ที่รับผิดชอบ

        เมื่อก่อนการบริหารเศรษฐกิจมี 4 ขา ตอนนี้มีขาเดียว  แต่ทุกอย่างเรายังทำงานร่วมกัน สำหรับมาตรการดูแลเศรษฐกิจในมุมต่างๆ ในรายละเอียดต้องไปถามแต่ละกระทรวงดู ผมคิดว่าเขาพยายามอยู่ ถ้าอยากรู้ก็ต้องไปถามเอา พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลยังเดินไปด้วยกัน แต่ละกระทรวงต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนที่รับผิดชอบ กระทรวงการคลังไม่ได้ไปทำเรื่องส่งออก เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่ที่ผ่านมาก็มีการหารือกันตลอดเวลา

        ประเด็นนี้ยังคงน่าสนใจ เพราะถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศกดดัน ขณะที่ภายในประเทศก็มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม!.

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net