คนทำงานอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ในไทยกับต่างประเทศมีอัตราการเติบโตที่ต่างกัน ซึ่งทำให้โอกาสในการลงทุนกับคนกลุ่มดังกล่าวต่างกัน

  • จากสถิติในสหรัฐอเมริกาฟรีแลนซ์คือประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ในปี 2018 มีจำนวนถึง 57.3 ล้านคน และคาดว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานหลักในปี 2027
  • สถิติ 5 ปีหลัง พบว่าแรงงานนอกระบบหรือฟรีแลนซ์ในไทยมีจำนวนลดลงจาก 56.7% ของแรงงานที่มีงานทำในปี 2557 เหลืออยู่ 55.3% ของแรงงานที่มีงานทำในปี 2561 แสดงให้เห็นว่าในประเทศไทย คนนิยมทำงานในระบบมากขึ้น
  • แม้ประชากรฟรีแลนซ์จะลดจำนวนลง แต่ก็ยังถือเป็นประชากรจำนวนมาก ซึ่งการสร้างสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มฟรีแลนซ์ก็มีความเป็นไปได้ เพราะฟรีแลนซ์มีจุดด้อยในแง่ชั่วโมงการทำงาน การเข้าถึงงาน สวัสดิการ และเครดิตทางการเงิน
  • มีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ดึงเอา Pain point ของฟรีแลนซ์มาใช้ เช่น Fastwork.co ที่เป็น Marketplace ในการหางานให้ฟรีแลนซ์ ประกันชีวิตสำหรับฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ ฯลฯ

เชื่อกันว่า อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่เป็นเจ้านายตัวเอง มีความคล่องตัวสูง ในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา อาชีพฟรีแลนซ์จึงเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมสูงมาก มีสถิติรายงานว่าในปี 2018 จำนวนประชากรฟรีแลนซ์มีมากถึง 57.3 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นประชากรที่เป็นแรงงานหลักของประเทศในปี 2027 ตลาดฟรีแลนซ์ของอเมริกาจึงถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ แต่เมื่อมองถึงสถิติฟรีแลนซ์หรือแรงงานนอกระบบที่มีงานทำของประเทศไทยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรากลับพบว่า ในเวลาย้อนหลัง 5 ปี ฟรีแลนซ์ไทยมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2561 ประชากรฟรีแลนซืลดลงเหลือ 55.3% จาก 5 ปีก่อนที่มีถึง 56.7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัยแรงงานที่เป็นผู้ผลิต GDP ให้กับประเทศ นิยมทำงานในระบบมากขึ้น เป็นเพราะอะไร

ฟรีแลนซ์ไทยกับเงื่อนไขที่ไม่ฟรี

จากที่เคยเชื่อว่าการประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ ช่วยให้มีอิสระและความยืดหยุ่นด้านเวลามากขึ้น กลับพบว่าไม่จริงเสมอไป สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่ฟรีแลนซ์ในปัจจุบันต้องเจอ

การแข่งขันระหว่างฟรีแลนซ์ด้วยกันเอง

ทักษะในการประกอบอาชีพแบบฟรีแลนซ์สามารถเรียนรู้ได้ คนที่มีความสามารถเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งก็สามารถเป็นฟรีแลนซ์ได้ ทำให้ในตลาดมีคนยึดอาชีพนี้เป็นจำนวนมาก การแข่งขันในตลาดก็มากตามไปด้วย ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเรียกค่าจ้างที่แพงขึ้นได้ ทำให้ฟรีแลนซ์ต้องทำงานหนักกว่าคนที่ทำงานในระบบเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้

การเข้าถึงการว่าจ้าง

ส่วนใหญ่แล้วฟรีแลนซ์ได้งานจากคอนเนคชั่น การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ต้องขายตัวเองให้เป็นสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ฟรีแลนซ์ต้องพยายามค้นหาผู้ว่าจ้างให้พบเพื่อให้ได้โอกาสในการว่าจ้างมากขึ้น

งานหนักในเวลาที่จำกัด

ลืมไปได้เลยกับคำว่ามีเวลา เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่มีความแน่นอนด้านรายได้ ทำให้ฟรีแลนซ์หลายคนเลือกที่จะรับทุกงานที่ติดต่อมา เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะมีงานเข้ามามากขนาดนี้อีกทีเมื่อไหร่ ซึ่งหมายความว่าบางช่วงเวลาคือเวลาที่ทำงานหนักมาก และไม่สามารถจัดการเวลาด้วยตนเองได้

แบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วยตัวเอง

เพราะไม่มีรัฐหรือนายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ คนเป็นฟรีแลนซ์จึงต้องคำนึงถึงสวัสดิการและค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายเองไปด้วย

ไม่มีเครดิตทางการเงิน

สถาบันการเงินจะพิจารณาความน่าเชื่อถือของเครดิตจากหลักฐานรายได้ ซึ่งส่วนนี้เองที่ฟรีแลนซ์หาให้ไม่ได้ การขอสินเชื่อเบื้องต้นสำหรับฟรีแลนซ์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แค่บัตรเครดิตสักใบหรือขอสินเชื่อซื้อของชิ้นใหญ่ก็อาจได้รับการปฏิเสธ

ฟรีแลนซ์ไทยกับความเป็นไปได้ในการลงทุน

จะเห็นได้ว่าแม้ตัวเลขสถิติการเป็นฟรีแลนซ์จะมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขดังกล่าวก็เป็นจำนวนเกินครึ่งของประชากรที่มีงานทำทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าจะละเลยไม่ได้ การลงทุนกับตลาดที่มีลูกค้าเป็นฟรีแลนซ์น่าจะเป็นไปได้ในลักษณะการเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านต่างๆ ที่ฟรีแลนซ์ต้องการ

ช่วยหางาน

ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่เข้ามาช่วยเสริมในส่วนนี้สำหรับฟรีแลนซ์ เช่น Fastwork.co ที่มีลักษณะเป็น Marketplace ให้ฟรีแลนซ์กับผู้จ้างงานมาเจอกัน ตกลงจ้างงานกันได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น

ช่วยด้านสุขภาพ

บริษัทประกันชีวิตและประกันสุขภาพหลายแห่งมีการออกแพ็คเกจมาเพื่อกลุ่มฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ และมีการเก็บค่าเบี้ยที่ใกลเคียงกับคนทำงานในระบบ ช่วยแก้ปัญหาให้กับฟรีแลนซ์ได้อีกทาง

ช่วยด้านเครดิตทางการเงิน

สิ่งที่สำคัญสำหรับฟรีแลนซ์คือการไม่มีเอกสารรับรองรายได้ ในต่างประเทศมี SHINE ที่จัดการเรื่องเอกสาร การรับจ่าย ให้ฟรีแลนซ์มีเครดิตอยู่ในระบบ ทำให้เครดิตของฟรีแลนซ์มีความชัดเจนขึ้น ในไทยการสร้างเครดิตสำหรับฟรีแลนซ์ก็สามารถทำได้ด้วยการจดทะเบียนการค้าและพาณิชย์ หรือการฝากประจำ แต่ยังไม่พบว่ามีองค์กรหรือบริษัทใด ให้บริการเหมือนกับ SHINE จึงยังเป็นโอกาสดีสำหรับฟินเทคที่อยากเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้กับฟรีแลนซ์

ช่วยด้านสังคมการทำงาน

การมี Co-working Space ช่วยในส่วนนี้ได้ จุดประสงค์ของมันคือการทำให้คนที่ทำงานคล้ายกันมาแชร์สิ่งที่มี ช่วยเหลือในสิ่งที่ขาด แต่ในไทยเรามักพบว่า Co-Working Space เป็นเพียงสถานที่ทำงานนอกบ้าน ซึ่งถ้ามีสตาร์ทอัพที่มีไอเดียสร้างสังคมการทำงานร่วมกันขึ้นมาได้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าลงทุนเพื่อสนับสนุนในส่วนนี้เช่นกัน

แนวทางในการประกอบธุรกิจหรือลงทุนโดยยึดกลุ่มลูกค้าฟรีแลนซ์เป็นหลัก ยังอีกหลากหลายแนวทาง ถ้าสามารถตีโจทย์ให้แตกได้ ตลาดนี้ก็ยังน่าสนใจไม่น้อยเลย

SOURCE : www.peerpower.co.th