“บ้านปลายเนินนั้นเรียกขานกันติดปากว่าวังคลองเตยตั้งอยู่บนถนนพระรามสี่ เป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่รู้จักกันดีในพระสมัญญานามว่านายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามและสมเด็จครู” 


ผลงานในสมเด็จครูเป็นองค์รวมแห่งศิลปวิทยาหลากสาขา ทรงนิพนธ์บทโขน ละคร หลายเรื่องมีรามเกียรติ์อิเหนา สังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น โดยทรงเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉากและกำกับการแสดงในแบบที่เรียกว่าละครดึกดำบรรพ์ซึ่งหมายถึงการผสานละครไทยกับละครโอเปร่าแบบยุโรป ทรงนิพนธ์เพลงไว้มากมาย ที่รู้จักกันดี คือ เพลงเขมรไทรโยค รวมทั้งคำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้มาจนถึงรัชกาลปัจจุบันเป็นต้น



ทรงวาดภาพลายเส้นทศชาดก ทรงออกแบบตาลปัตรพัดยศจำนวนมาก เช่น พัดดำรงธรรม เฟรสโก้พระเวสสันดรชาดกบนฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส  เฟรสโก้พระอาทิตย์ชักรถบนเพดานห้องทรงเขียนณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมหาราชวัง พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวาดภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งกลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมีตัวอย่างเช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม–ราชวรวิหาร พระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร และพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร 


สมเด็จครูทรงได้รับการเชิดชูพระเกียรติยศโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฐานะบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยทรงเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับการยกย่องในระดับสากลเช่นนี้ บ้านปลายเนินเป็นอาณาบริเวณที่ศิลปินต่างยุคต่างวัฒนธรรมทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะรวมถึงสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สมเด็จครู ฯ ทรงสนับสนุนศิลปินชาวอิตาเลียนซึ่งเดินทางมารับราชการในสยามประเทศ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนึ่งในนั้นคือคอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) หรือ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี  ประติมากรชาวอิตาเลียนสัญชาติไทยจากเมืองฟลอเรนซ์  ผู้ก่อตั้งและทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนผู้วิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร 


ปัจจุบัน บ้านปลายเนินเป็นที่อยู่อาศัยของพระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ และยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ หรือรางวัลนริศ เพื่อให้เกียรติและสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ นิสิต นักศึกษาและนักเรียนจากทั่วประเทศ ในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยศิลปไทยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคีตศิลป์ นาฏศิลป์ จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม มาเป็นเวลามากกว่า ๕๐ ปี  เพื่อส่งเสริมศิลปินที่มีความรู้ความสามารถให้สืบสานงานศิลป์คู่กับแผ่นดินไทยต่อไป


ในวันที่ ๒๘ เมษายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ คือโอกาสที่ผู้ได้รับรางวัลนริศและคณะละครสมัครเล่นบ้านปลายเนินจะได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน ผู้ได้รับรางวัลนริศในอดีตคือครูช่างในปัจจุบันและอาจเป็นศิลปินแห่งชาติต่อไป นักเรียนรางวัลนริศหลายคนได้กลับมาสู่บ้านปลายเนินเพื่อสอนรำไทย โขนและดนตรีเมื่อโอกาสอำนวย บุคคลตัวอย่างที่เราภาคภูมิใจ คือ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ นักเรียนรางวัลนริศที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)  ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดี คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บ้านปลายเนินจึงเป็นสถานที่ส่งเสริมการอนุรักษ์องค์ความรู้ของครูช่างไทยโดยแท้ 


ทายาทบ้านปลายเนินเปิดตำหนักไทยให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ ๒๙ เมษายนของทุกปี และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยวันนริศปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีประชาชนเดินทางมาชมตำหนักไทยมากกว่า ๒,๐๐๐คน ทายาทรุ่นที่สี่ของสมเด็จครูวางผังแม่บทอนาคตของบ้านปลายเนินด้วยการจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู ศิลปวัตถุโบราณที่ทรงสะสม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ อีกทั้งเตรียมการซ่อมแซมและอนุรักษ์อาคารสำคัญภายในบริเวณวังคลองเตย ได้แก่ ตำหนักไทย ตำหนักตึก เรือนคุณย่า และเรือนละคร ด้วยความตั้งใจว่าจะได้อนุรักษ์และปรับปรุงอาคารทั้งหมดเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมที่สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าชมและศึกษาได้ในวันข้างหน้า


โครงการที่ได้เริ่มแล้วคือการซ่อมตำหนักไทย ทีมสถาปนิกอนุรักษ์ นำโดยดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี ทำงานร่วมกับรุกขกร นักออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ภูมิสถาปนิกและวิศวกรงานระบบระบายน้ำ ทุกคนตั้งใจที่จะทำให้เสร็จพร้อมจัดงานวันนริศในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ทายาทของสมเด็จครูทุกคนมุ่งมั่นที่จะต่อยอดความดีงามผ่านกิจกรรมสำคัญต่างๆ ของบ้านปลายเนิน ด้วยความหวังว่า ทุกเรื่องราวของทุกองค์ประกอบทางกายภาพ เช่น ต้นไม้ใหญ่ สวนการแสดงละครดึกดำบรรพ์ แผ่นทางเดินหินตำหนักไทยไม้สักทอง ผลงานฝีพระหัตถ์อันทรงค่า และองค์ความรู้ในสรรพวิชาทุกแขนงจะมีชีวิตยืนยาวคงอยู่เป็นสมบัติของชาติไทยสืบไป  

SOURCE :www.dooddot.com