สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ ชี้ทำโครงสร้างอัตราค่าแรงเสียทั้งระบบ อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs ถึงขั้นปิดกิจการ ส่วนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์   ตัวจริงคือแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน เสนอให้ภาครัฐหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานไทย ย้ำชัดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบทันที ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

 

           นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs อาจถึงขั้นเลิกกิจการเพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว โดยกระบวนการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกต้องนั้น จะต้องผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี และในแต่ละพื้นที่จะมีค่าแรงไม่เท่ากันตามเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ และจะกำหนดเป็นราคาเดียวทั่วประเทศไม่ได้

          ขณะที่สถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบัน(ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน ปี 2562) พบว่า มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.82 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 38.38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.63 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน (จาก 38.37 ล้านคน เป็น 38.38 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 6.3 หมื่นคน (จาก 4.26 แสนคน เป็น 3.63 แสนคน) ขณะที่ปริมาณแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศไทย (สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนมิถุนายน 2562 กรมการจัดหางาน) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,268,285 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทั่วไป 2.98 ล้านคน แรงงานประเภทฝีมือ 1.79 แสนคน แรงงานตลอดชีพ 241 คน ชนกลุ่มน้อย 6.2 หมื่นคน และแรงงานไป-กลับ ตามฤดูกาลอีก 4.33 หมื่นคน

จะเห็นได้ว่าการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ คือแรงงานต่างด้าวที่จะขนเงินกลับประเทศ ทำให้ค่าแรงส่วนนี้ไม่กลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเห็นว่าค่าแรงปัจจุบันของคนไทยส่วนใหญ่มีอัตราที่เหมาะสมอยู่แล้ว ควรผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ โดยแต่ละอุตสาหกรรมและในแต่ละจังหวัดสามารถจ่ายค่าแรงที่แตกต่างกันได้ตามกลไกตลาด จึงไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงโดยทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ

 

      นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส.อ.ท. ขอเสนอ “นโยบายค่าจ้างและการยกระดับคุณภาพแรงงานไทย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลัก 

1) การปรับอัตราค่าจ้าง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรสัมพันธ์กับการเพิ่มผลิตภาพ และสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย (พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน)  นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้นายจ้างและผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีค่าจ้างแบบกระบอกเงินเดือน (แท่งค่าจ้าง) โดยให้กระทรวงแรงงานสำรวจและจัดทำข้อมูลอ้างอิงให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานตามกำหนดของกระทรวงแรงงานอย่างทั่วถึง

2) การเพิ่มผลิตภาพแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรกำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ ควรส่งเสริมในเรื่องการ Re Skill และ Up Skill ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานโดยให้มีแรงจูงใจจากภาครัฐ, โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยโดยมีแรงจูงใจด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายจัดสรรงบประมาณภาครัฐ, จัดตั้งหน่วยงานกลางระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน , ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตบุคลากร ขยายความร่วมมือภาคเอกชนและภาคการศึกษาปรับหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน และให้บุคคลธรรมดานำค่าใช้จ่ายการเพิ่มผลิตภาพแรงงานลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

3) การเพิ่มกำลังคนทดแทน เสนอให้วางระบบ Re -Employment สำหรับแรงงานสูงอายุ ให้ปฏิรูประบบค่าจ้างของประเทศเพื่อเป็นกลไกในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยการส่งเสริมการจ้างแบบยืดหยุ่น และหักค่าใช้จ่ายได้ตามค่าจ้างที่เป็นจริง พร้อมศึกษาความต้องการแรงงานและความจำเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติอื่นๆ เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)