ตอนนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในโซเชียลเน็ตเวิร์ก กรณีที่กรุงเทพมหานครทุบ ฟุตปาธ หน้าโรงแรมดังที่เอกชนทำไว้อย่างสวยงาม แล้วสร้างใหม่ตามแบบมาตรฐานของ ก.ท.ม โดยให้เหตุผลว่า แบบที่เอกชนทำนั้นไม่ปลอดภัย เพราะเป็นทางเท้าที่ปูด้วยกระเบื้อง ตอนฝนตกพื้นอาจลื่น เกรงว่าอาจเกิดอุบัติเหตุจนเป็นอันตรายกับประชาชน จึงเกิดคำถามว่าทางเท้าที่ดีควรมีลักษณะอย่างไรกันแน่

เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ ฟุตปาธ หรือทางเท้าตามมาตรฐานของ ก.ท.ม. ไม่ได้ใช้พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นโครงสร้างเหมือนพื้นบ้านหรือพื้นอาคาร แต่ใช้การบดอัดทรายให้แน่นแล้วเทคอนกรีตหยาบเป็นแผ่นรองพื้น จากนั้นจึงปูด้วย “แผ่นกระเบื้องซีเมนต์” ที่ไม่มีเหล็กเสริมด้านใน ทางเท้าตามแบบมาตรฐานของกรุงเทพมหานครนั้น ใช้กระเบื้องซีเมนต์ 2 ขนาดคือ 30 x 30 เซนติเมตร และ 40 x 40 เซนติเมตร กระเบื้องทั้งสองแบบกำหนดความหนาไว้ที่ 3.5 เซนติเมตร

วิธีปูทางเดินฟุตปาธ
ทางเดินฟุตปาธตามมาตรฐานกทม.

การใช้กระเบื้องทำทางเท้าที่บางแบบนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาแผ่นกระเด้งเมื่อคนเดินผ่าน และน้ำสกปรกใต้แผ่นกระเซ็นขึ้นมาเปื้อนขาคนเดิน ลองเทียบกับกระเบื้องตัวหนอนปูทางเท้าที่ขายกันทั่วไปมีความหนาถึง 6 เซนติเมตร ไปจนถึง 12 เซนติเมตรเลยทีเดียว ยิ่งกระเบื้องหนาเท่าไรย่อมลดโอกาสน้ำกระเซ็นจากใต้พื้นขึ้นมา เพราะกระเบื้องแต่ละแผ่นมีน้ำหนักกดทับและจะล็อคกันเองจนกระเบื้องขยับตัวได้น้อย

ฟุตปาธพัง ทางเท้าพัง
ปัญหาทางเดินยุบพบเห็นได้ทั่วไป

นอกจากนี้ การที่ดินของกรุงเทพเป็นดินอ่อน ทางเท้าที่สร้างโดยใช้แผ่นกระเบื้องคอนกรีตปูบนทรายอัดแน่นที่เททับด้วยคอนกรีตหยาบนั้น เมื่อดินทรุดตัวพื้นทรายและคอนกรีตหยาบจะทรุดตัวลง ทางเท้าจึงทรุดตาม จนกระเบื้องด้านบนแตกหักเสียหาย เป็นหลุม เป็นบ่อ น้ำขังบนผิวและอยู่ข้างใต้รอว่าจะมีใครเดินผ่านมา พร้อมกระเซ็นขึ้นมาเปื้อนคนใช้งานตลอดเวลา

ปัญหาน้ำกระเด็น ภาพจากเฟซบุ๊ค>> Supadej Sutthiphongkanasai

ส่วนการทำพื้นทางเท้าโดยหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นโครงสร้างแล้วปูด้วยกระเบื้องนั้น ถึงโครงสร้างนี้จะวางบนดินเหมือนกัน แต่การทรุดตัวจะน้อยกว่า เพราะแผ่นพื้นมีขนาดใหญ่ หนากว่าด้วย และเหล็กที่เสริมด้านในยังช่วยให้แผ่นที่ใช้เป็นฐานแข็งแรงกว่า แผ่นพื้นที่ใหญ่ช่วยกระจายน้ำหนักการทรุดตัวลงเท่า ๆ กัน แผ่นพื้นจึงไม่กระเด้งจนเกิดปัญหา

ฟุตปาธ ฟุตบาท พัง
ทางเท้าของเอกชน

ส่วนเรื่องความลื่นของพื้นนั้น เนื่องจากพื้นทางเท้าของ ก.ท.ม. ใช้แผ่นคอนกรีตซึ่งเป็นรูพรุนและผิวหยาบ ทำให้ผิวลื่นน้อยกว่าวัสดุอื่น จึงไม่มีปัญหาคนใช้งานลื่นหกล้ม แต่ถ้าต้องการปูกระเบื้องเคลือบบนทางเท้า มีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการคือ กระเบื้องที่ใช้ต้องผ่านมาตรฐานเรื่องความฝืดที่อ้างอิงตามมาตรฐานของออสเตรเลีย AS/NZS 4663 ซึ่งกำหนดว่า วัสดุปูพื้นทางเดินภายนอกต้องได้มาตรฐานความฝืดที่ระดับ R10 จะทำให้แน่ใจว่าวัสดุที่ปูพื้นทางเท้าไม่ลื่น นอกจากนี้ พื้นทางเท้าต้องลาดเอียงอย่างน้อย 1:50 ให้น้ำไหลออก ไม่ค้างที่ผิวจนทำให้พื้นลื่นนั่นเอง

สุดท้ายคือการบำรุงรักษา เพราะผิวคอนกรีตที่หยาบของทางเท้าของ ก.ท.ม. ทำให้สิ่งสกปรกติดง่าย น้ำขังที่ผิวทำให้เกิดตะไคร่น้ำ เช็ดล้างทำความสะอาดยาก พื้นผิวที่ดีควรเรียบ ทำความสะอาดง่าย และลาดเอียง เพื่อไม่ให้น้ำขังและมีความชื้นสูงจนเกิดคราบสกปรกและตะไคร่น้ำ

หากทำได้ดังนี้ ก็จะได้ทางเท้าที่มีคุณภาพ แข็งแรง ปลอดภัยกับทุกคนที่ใช้ทางเท้าแน่นอน ….

เรื่อง วิญญู วานิชศิริโรจน์

ข้อมูลอ้างอิง

http://203.155.220.238/cdo/2020/attachments/article/57/L.SRD-12.pdf

http://203.155.220.238/cdo/2020/attachments/article/57/M.SRD-13.pdf

https://www.saiglobal.com/pdftemp/previews/osh/as/as4000/4600/4663-2004.pdf

ขอบคุณข้อมูลจาก www.baanlaesuan.com