7-Eleven หนึ่งในแฟรนไชส์ชื่อดังที่ไม่ว่าเจนฯไหนก็ต้องรู้จัก และ เคยแวะเวียนมาใช้บริการ ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังร้านสะดวกซื้อที่ดูทันสมัย พร้อมเป็นทุกอย่างที่คุณต้องการ มีประวัติความเป็นมาเกือบ 100 ปี แถมยังล้มลุกคลุกคลานมาอย่างโชกโชน กว่าที่ธุรกิจจะแข็งแกร่งเป็นไอคอนนิกแบรนด์ระดับโลกเฉกเช่นวันนี้ เคยผ่านจุดต่ำสุด เกือบล้มละลาย ก่อนจะพลิกฟื้นสามารถผงาดขึ้นมาอีกครั้ง       

         จากนี้คือเรื่องราวความเป็นมาของ  7-Eleven แฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่ของโลกที่จะช่วยปลุกแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่กำลังท้อมีกำลังในสู้ต่อ เพราะถ้าพูดถึงความล้มเหลว 7-Eleven คือ ตัวแทนของแบรนด์ในตำนานที่เจ็บมาเยอะ แต่ก็ลุกได้ไว แถมยังเป็นแบรนด์ที่ปรับตัวได้เก่งจนสามารถสยายปีกไปครอบคลุมทั่วโลกได้อย่างน่าทึ้ง

1.ไอเดียที่ยิ่งใหญ่ กลับจุดประกายจากไอเดียธรรมดา

         ก่อนจะเป็น 7-Eleven ที่ใครๆ ก็เรียกติดปาก แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐฯ ก่อตั้งเมื่อปี 1927 หรือ 92 ปีก่อน โดยไอเดียตั้งต้นมาจาก จอห์น เจฟเฟอร์สัน พนักงานบริษัทดัลลัส เซาธ์แลนด์ ไอซ์ ซึ่งเขาได้ออกไอเดียให้ โจ ทอมป์สัน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง 7-Eleven เปิดร้านให้บริการน้ำแข็งควบคู่ไปกับการขายสินค้าอื่นๆ เช่น นม ไข่ ขนมปัง เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่มาซื้อน้ำแข็ง

         จาก Pain Point ที่จุดประกายด้วยพนักงานคนหนึ่งกลายเป็นที่มาของร้านสะดวกซื้อแนวใหม่ภายใต้ชื่อ Tote’m ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงขนาดมีกระแสเรียกร้องให้ร้านเปิดนานขึ้น จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดร้านเป็น 7am-11pm จึงกลายเป็นชื่อ 7-eleven นั่นเอง ต่อมาได้เริ่มมีการขยายแฟรนไชส์ ในอเมริกาเอง และเริ่มขยายออกต่างประเทศและขยายไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยนมาเปิด 24 ชั่วโมงจนถึงปัจจุบัน

2.ล้มได้ ก็ต้องลุกให้ไว

         ขณะที่ธุรกิจกำลังไต่ระดับสู่จุดสูงสุด 7-Eleven ก็ประสบกับปัญหาครั้งใหญ่เหมือนธุรกิจในสหรัฐและยุโรปเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) โดยในปี 1932 7-Eleven ประสบปัญหาทางการเงินและต้องยื่นล้มละลาย เพื่อความอยู่รอด 7-Eleven จำเป็นต้องระดมทุนผ่านตราสารหนี้ และ นักลงทุน เปลี่ยนจากบริษัทที่บริหารแบบครอบครัวมาเป็นองค์กรที่มีระบบ มีบอร์ดบริหาร จนกระทั่งสถานการณ์ของ 7-Eleven กลับมาพลิกฟื้นอีกครั้งในปี 1933 เมื่อได้รับอนุญาตให้ขายแอลกอฮอล์ และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าประเภทอาหารมากขึ้น

         จวบจนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำแข็งกลายเป็นที่ต้องการของกองทัพสหรัฐ ทำให้ 7-Eleven กลายเป็นแหล่งซัพพลายหลักของกองทัพ และในปี 1964 ได้มีการริเริ่มโมเดลการทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์ขึ้น

3.เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม

          ในช่วงปี 1980-90 7-Eleven ต้องประสบปัญหาทางการเงิน มีภาระหนี้สิน จะล้มละลาย จนถูกเทคโอเวอร์ในปี 1991 โดย Ito-Yokoda (บริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจร้านค้าปลีก) และ 7-Eleven Japan สุดท้ายในปี 2005 Ito-Yokado ได้ตั้งบริษัท Seven & I Holdings ขึ้น และ 7-Eleven ได้กลายเป็นบริษัทลูกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

         เหตุผลที่บริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง 7-Eleven กลายเป็นที่หมายตาของบริษัทญี่ปุ่น เป็นเพราะสายตาอันหลายคมของ “โทชิฟูมิ ซูซูกิ” นักธุรกิจหนุ่มวัยเพียง 40 ปี (อดีตซีอีโอของ Seven & I Holdings Co.) ที่ทำหน้าที่แมวมองธุรกิจได้อย่างแหลมคม หลังจากเข้ามาทำงานได้ไม่นานเขาได้รับมอบหมายจากหัวหน้าให้ไปหาธุรกิจใหม่ๆ มาทำเกี่ยวกับรีเทล ก็เลยไปเปิดโลกกว้างกับเพื่อนๆ 2-3 คน ที่สหรัฐฯ นั่งรถบัสไปตามเมืองต่างๆ จนกระทั่งกลางคืนไปพบกับร้าน 7-Eleven ก็รู้สึกชอบใจมาก จึงตัดสินใจไปติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์มายังประเทศญี่ปุ่น และ เปิดสาขาแรกที่โทโยสึ โดยยึดโมเดลแบบฝรั่งมาไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่า 7-Eleven เวอร์ชั่นอเมริกาขายออะไร ก็ขายตามหมด

         ข่าวร้าย คือ ความเป็นอเมริกันจ๋าไม่ตรงจริตคนญี่ปุ่นในเวลานั้น ทำให้โทชิฟูมิ ซูซูกิ ต้องกลับมาทำงานการบ้านอย่างหนัก และคิดใหม่ ทำใหม่ จนในที่สุดก็ตกผลึกไอเดียใหม่ด้วยการปรับภาพลักษณ์ของ 7-Eleven ให้มีความเป็นญี่ปุ่น สินค้าอย่างฮอทด็อก แฮมเบอร์เกอร์ ถูกแทนที่ด้วยข้าวปั้น โอเด้ง อาหารที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคย ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า กลายเป็นเคล็ดลับความสำเร็จที่นำมาใช้ในการบริหารแฟรนไชส์หลายหมื่นสาขาทั่วโลก จนไม่ว่าจะไปอยู่ในวัฒนธรรมแบบไหนก็ไม่มีปัญหา

         ทั้งหมดนี้ คือ  3 เคล็ดลับสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของ 7-Eleven แม้ว่าจะเส้นทางธุรกิจนี้จะเต็มไปด้วยขวากหนาม อุปสรรคให้ลุ้นตลอดทางก็ตาม