5 เม.ย. 2562 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.24 แสนล้านบาท เปิดเผยว่าภายหลังการประชุมเจรจาร่วมกับคู่สัญญาอย่างกลุ่มซีพี ในครั้งนี้นั้นมีความคืบหน้าไปมากกว่า 70% แล้วถือว่าสามารถกำจัดข้อเสนอ นอกขอบเขตการประกวดราคา(TOR) ทั้ง 12 ประเด็นออกไปหมดแล้ว

          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทางกลุ่มซีพีได้ไปหารือร่วมกับ กลุ่มพันธมิตรร่วมลงทุนซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายประเทศ รวมถึงพาร์ทเนอร์สถาบันการเงินของเอกชนต่างเห็นตรงกันว่าสามารถจัดการกับตัวเลขความเสี่ยงได้ดีขึ้นแล้ว จึงยอมถอนข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมด หลังจากนี้จะนัดเจรจาคณะอนุกรรมการด้านกฏหมายกับกลุ่มซีพีเพื่อปรับรายละเอียดตัวอักษรของข้อเสนอต่างๆให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งเป็นการปรับเพียงเนื้อหาปลีกย่อยจะไม่กระทบกับข้อเสนอนอกTOR แน่นอน 


          นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าเมื่อได้ข้อสรุปแล้วคาดว่า จะนัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสรุปสาระสำคัญทั้งหมดก่อนเสนอไปยังอัยการให้ตรวจสอบร่างสัญญาและส่งต่อไปที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก(บอร์ดอีอีซี) ภายในปลายเดือนนี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป ดังนั้นจึงน่าจะลงนามสัญญาได้ภายใน พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเจรจาเสร็จแล้วยังคงต้องเร่งรัดเรื่องการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ให้ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จึงจะสามารถลงนามสัญญาด้วย


          ทั้งนี้ สำหรับเงื่อนไขที่ทางกลุ่ม CP ได้ยื่นข้อเสนอนอก TOR ประกอบไปด้วย อาทิ1.ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี 2.ขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR 6.75% ต่อปี3.รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 1-6 จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่เปิดดำเนินการ4.สามารถลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการลงมาเหลือ 5% ได้ในอนาคต เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย5.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนเพดานกู้เงินเครือ CP เนื่องจากปัจจุบัน CP ติดเรื่องเพดานเงินกู้หรือ Single Lending Limit ของธปท.  6.ขอให้รัฐบาลค้ำประกันการรถไฟแห่งประเทศไทย ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง  7.ผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายเงินทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้ 8.รัฐบาลต้องสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการด้วย 9.ขอชำระเงินค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทน 10.ถ้าหากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้วย 11.ห้ามการรถไฟฯ ทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน สำหรับข้อ 12 ยังไม่มีการเปิดเผย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaipost.net