26 มี.ค. 2562 รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เร่งประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งเพื่อจัดทำแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงจัดทำเป็นข้อเสนอรายงานทางเศรษฐกิจให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา หลังจากพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562จะเติบโตแบบชะลอตัว ไม่ถึง 4% หลังจากภาคการส่งออกชะลอตัวลงมาก รวมถึงภาคการลงทุนก็มีการชะลอการตัดสินใจเพื่อรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา


          ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประเมินเบื้องต้น ว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาโดยมีคะแนนใกล้เคียงกัน ไม่ได้ส่งผลทางบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมุมมองความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะแม้จะมีพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็อาจจะไม่มากพอที่จะสร้างเสถียรภาพในการทำขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจ หรือการออกกฎหมายต่าง ๆ ออกมา


“เดิมทีได้ประเมินว่าถ้าการเลือกตั้งจบและมีพรรคใดพรรคหนึ่งมีคะแนนนำ หรือเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากชัดเจน จะทำให้ภาคการลงทุนทั้งในและต่างประเทศกับมาเชื่อมั่น และมีการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังได้ แต่ในวันนี้ถ้าคนจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงเกินไม่มากพอ ก็ยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโดยรวมสูงอยู่” รายงานข่าว ระบุ


          สำหรับการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้ สศค. กำลังรอการประเมินตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสสองของปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน มี.ค.ว่าจะมีทิศทางออกมาเป็นอย่างไร และจะมีการจัดทำมาตรการแยกออกมาเป็นแต่ละด้านให้เห็นชัดเจน เช่น หากภาคการลงทุนมีปัญหาก็ต้องจัดมาตรการกระตุ้นการลงทุนออกมา ถ้าภาคการส่งออกยังไม่ดี ก็ต้องมีมาตรการด้านส่งเสริมการส่งออก โดยมาตรการจะเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด และมาตรการสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ไม่ได้เป็นรัฐบาลรักษาการ


          ส่วนการดำเนินนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เบื้องต้นมาตรการนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปถึงสิ้นเดือนก.ย.2562 ตามเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณรองรับไว้แล้ว โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือน มี.ค.เพิ่งได้รับจัดสรรงบประมาณ 3.79 หมื่นล้านบาทมาเพิ่มเติม ซึ่งเพียงพอต่อการดูแลผู้มีรายได้น้อยทั้ง 14.5 ล้านคนแน่นอน


          นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้ทำเรื่องขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมแล้ว สำหรับรอให้รัฐบาลใหม่พิจารณานำไปจัดมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเป็นการให้ผ่านรูปแบบบัตรสวัสดิการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ได้ หรือโครงการอื่นที่รัฐบาลชุดใหม่เตรียมเข้ามาพิจารณาและจัดทำ


          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงินยังคงติดตามการประกาศผลการเลือกตั้งทางการอยู่ว่าแต่ละพรรคมีเสียงเป็นอย่างไร และใครเป็นเสียงข้างมากที่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ประเด็นที่ต่อมาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสุด คือ จำนวน ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาเป็นอย่างไร หากเกิน 250 เสียงเล็กน้อย ก็ยังสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าจะสามารถบริหารประเทศ ขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งออก เนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกน่าจะโตได้ต่ำกว่า 4%


          “นักลงทุนมองกันว่าหากรัฐบาลมีฐานเก้าอี้ ส.ส.เกิน 280 เสียง จึงถือว่ามีเสถียรภาพระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีเกิน 300 เสียงก็ถือว่ายิ่งดีมีความมั่นคง และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้ แต่ถ้ามีน้อยกว่านั้น 260-270 เสียง ก็อาจจะเกิดความกังวล เพราะต้องไม่ลืมว่าในการพิจารณาในรัฐสภาจะต้องมีบางตำแหน่งไม่สามารถลงคะแนนโหวตได้ หรือบางที ส.ส.มาไม่ได้ก็จะมีปัญหาต่อการโหวตผ่าน การบริหารบ้านเมืองทันที” นายเชาว์ กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaipost.net