16 ก.พ. 2562 นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ในปี 2561 ขยายตัว 6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 4.4% สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 คาดว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้ในระดับ 6-7% ดีขึ้นจากปี 2561 และเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มสินเชื่อ

 

          ทั้งนี้ ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ ขยายตัว 4.4% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ไม่รวมธุรกิจการเงิน ขยายตัว 4.1% ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี ขยายตัว 4.5% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 9.4% มาจาก สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัว 7.8% โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.7 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี เป็นผลมาจากการระบายอสังหาริมทรัพย์ก่อนมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (แอลทีวี) จะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.2562ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 12.6%

          สำหรับคุณภาพสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ในปี 2561 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.93% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.91% มียอดเอ็นพีแอลคงค้างอยู่ที่ 4.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 1.4 หมื่นล้านบาท โดย ธปท.อยู่ระหว่างติดตามเอ็นพีแอลในกลุ่มที่อยู่อาศัยและกลุ่มรถยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ 3.25% และ 1.66% จึงอยากให้สถาบันการเงินพิจารณาภาระหนี้ต่อการกู้ให้รัดกุม โดยธปท.จะเข้าไปดูแต่ก็ยังไม่มีมาตรการควบคุมอะไรออกมาเพิ่มเติม

          ทั้งนี้ ในปี 2561 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2.07 แสนล้านบาท ขยายตัว 10.8% จากปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยตามสินเชื่อที่ขยายตัว และลดค่าใช้จ่ายในการกันสำรอง โดยธนาคารยังมีเงินสำรองในระดับสูงที่ 6.68 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.7 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 193.3%

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net