18 ม.ค. 2562 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2561 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 3.63 หมื่นล้านบาท มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีรายได้มิใช่ดอกเบี้ยกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 7.9 พันล้านบาท โดยเฉพาะกำไรจากการขายเงินลงทุน (IRPC) และรายได้ค่าธรรมเนียมจากบริการเงินกู้  ธุรกิจบัตรและอิเล็กทรอนิกส์ และรายได้ค่านายหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้บริการของลูกค้า พร้อมทั้งมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่จูงใจ

 

“กำไรสุทธิของธนาคารออมสินสวนทางกับธนาคารพาณิชย์ ที่มีความสามารถในการทำกำไรถดถอย เพราะกำไร 95% ของธนาคารมาจากการขยายสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งต่างจาก ธนาคารพาณิชย์ที่ทำกำไรจากสินเชื่อ 50% และค่าธรรมเนียม 50% ซึ่งเราได้ดอกเบี้ยทุกวัน เพราะดอกเบี้ยไม่มีวันหลับ” นายชาติชายกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2561 ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขหนี้ตามลำดับความสำคัญและอายุหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ มีการเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้จำนวน 80 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับดี


โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 2.15% ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ และมีความมั่นคงทางการเงินจากระดับเงินกองทุนที่สูงกว่า 1.8 แสนล้านบาท หรือ 14.8%  ขณะที่ ธนาคารได้นำส่งรายได้แผ่นดินในปี 2561 สูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของรัฐวิสาหกิจ และเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินของรัฐ อีกด้วย


“ในปี 2561 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้ายังมีต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ทำให้ภาพรวมของลูกค้าในปี 2561 ขยายตัว 22% จากปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าเป้าหมายกลุ่มวัยเด็กที่จะเข้าสู่วัยนักศึกษา (อายุ 18-22 ปี) เพิ่ม 41% ส่วนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 23-30 ปี) เพิ่มขึ้น 23%” นายชาติชาย กล่าว


สำหรับภารกิจโครงการตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ การแก้ไขหนี้นอกระบบ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และการฝึกพัฒนาอาชีพเพื่อเสริมรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบอาชีพรายย่อย ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชนและออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ส่งผลให้ดัชนีคุณภาพชีวิตของลูกค้าฐานรากที่เป็นลูกค้าธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.7180 จาก 0.6285 ในปี 2559      


อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลา 4 ปี (ปี 2558-2561) ได้วางเป้าหมายให้ธนาคารออมสินเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2561 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2.71 ล้านล้านบาท ภายใต้การบริหารตามกรอบทิศทางที่กำหนดไว้ มีสินเชื่อรวม 2.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.77 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.85% มีเงินรับฝาก 2.29 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารไทย โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 4.21 หมื่นล้านบาท หรือ 1.87%

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaipost.net