สร้างสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกิน “ไฟโตนิวเทรียนท์” สารอาหารที่อยู่ในผัก-ผลไม้กันเถอะ

“ปีหมูทอง” เทรนด์การรักษาสุขภาพยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้คนกรุงเทพฯจะต้องเผชิญกับมลภาวะ และฝุ่นละอองมากมาย ดังนั้นการรักษาสุขภาพร่างการให้แข็งแรง สมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแค่การออกกำลังกายเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินให้เหมาะสมอีกด้วย

วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก สารอาหารอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในในผัก ผลไม้ต่างๆ ที่นอกจากจะมีวิตามิน เกลือแร่ อยู่มากมายแล้ว ก็ยังมี “ไฟโตนิวเทรียนท์” ซึ่งเป็นสารอาหารที่พืชสร้างเพื่อพืช แต่นักวิทยาศาสตร์ พบว่า เมื่อคนกิน “ไฟโตนิวเทรียนท์” บางชนิดเข้าไป ก็จะเกิดประโยชน์กับคนเช่นกัน  โดย “ไฟโตนิวเทรียนท์” ก็มีหลายสี และมีประโยชน์ที่แตกต่างกัน

“ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) มาจากคำว่า Phyto ในภาษากรีก ที่แปลว่า พืช ส่วน Nutrient หมายถึง สารเคมีที่สิ่งมีชีวิตต้องการเพื่อมีชีวิตอยู่และเพื่อการเจริญเติบโต ไฟโตนิวเทรียนท์ทำให้พืชชนิดนั้นๆ มีกลิ่น สี หรือ รสเฉพาะตัว เพื่อป้องกันแมลงหรือป้องกันโรคพืช แต่สำหรับมนุษย์แล้วไฟโตนิวเทรียนท์ก็มีคุณประโยชน์มากมายในการส่งเสริมสุขภาพเช่นกัน 

1.แคโรทีนอยด์ (carotenoids) เป็นกลุ่มของผัก ผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม แดง และสามารถพบได้ในผักสีเขียว และสาหร่ายบางชนิดด้วย จะมีสารแคโรทีน ไลโคปีน และลูทีน ในพืชจะช่วยพืชสังเคราะห์แสง ส่วนประโยชน์ที่คนจะได้รับ คือ เป็น สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และบำรุงสายตา สามารถพบได้มากใน แครอท พริกหวานสีแดงสีเหลือง มะเขือเทศ บร็อกโคลี ตำลึง ผักกระเฉด ผักกาดหอม ผักกูด สะเดา ยอดมะระหวาน ผักเหลียง ผักหนาม ผักหวานบ้าน

2.ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogens)เป็นสารจากพืชที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถพบได้ใน พืช 3 กลุ่ม เช่น พืชตระกูลถั่ว พืชชนิดที่เป็นเมล็ด และ พืชจำพวกหญ้า รากกวาวเครือ รากตังกุย เมล็ดของต้นเฟล็กซ์ ซึ่งและถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา น้ำมะพร้าวอ่อน สารกลุ่มสามารถใช้ทดแทนฮอร์โมนเพศหญิงในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้ และช่วยลดอาการวัยทอง

3.สารโพลีฟีนอล (Polyphenol) สารเหล่านี้สามารถพบได้มากใน พืชตระกูลถั่ว ผักและผลไม้ ไวน์แดง โกโก้ ชาเขียว และธัญพืช ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบในโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง สามารถพบได้ในผัก ผลไม้ที่มีสีขาว สีส้ม สีเหลือง สีแดง สีม่วง และสีน้ำเงินที่มีรสขม และฝาด

4.ซาโปนิน (saponins) พบได้ในพืชหลายชนิด เช่น ตระกูลถั่ว โสม และพืชในวงศ์กระเทียม สารซาโปนิน สามารถช่วยลดไขมันในเลือด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง และ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนสเตียรอยด์

5.กลูโคซิโนเลต (glucosinolates) เป็นสารที่เกิดจากน้ำตาลและกรดอะมิโนซึ่งจะมีอะตอมของซัลเฟอร์และไนโตรเจนในโมเลกุล เมื่อสารนี้สลายตัวจะมีกลิ่นฉุน พบมากใน ผักตระกูลกะหล่ำ มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานของตับในการผลิตเอนไซม์ และช่วยสลายสารก่อมะเร็ง อนุมูลอิสระ และสารพิษ

6.เส้นใยอาหาร (dietary fibers) เป็นสารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ พบมากใน ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ เห็ดต่างๆ มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่วนใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ จะสามารถพบได้ใน ข้าวซ้อมมือ ผักและผลไม้ทั่วไป มีคุณสมบัติช่วยในการขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูก และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

7.สารประกอบกำมะถัน (Sulfur–containing compounds) เป็นสารที่มีอะตอมของซัลเฟอร์ในโมเลกุล และเป็นสารที่มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถพบได้ในพืชวงศ์กระเทียม มีฤทธิ์ในการลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด รวมทั้งยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

ประโยชน์ของไฟโตนิวเทรียนท์

  • เป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ช่วยป้องกันการเกิดโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคทางภูมิคุ้มกัน ต้อกระจก ช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้เซลไม่เสื่อมสภาพเร็ว เป็นต้น
  • ต่อต้าน หรือป้องกันโรคบางชนิดได้
  • มีฤทธิ์ในการด้านออกซิเดชัน ช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดีเอ็นเอซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์,
  • ต่อต้านการอักเสบ
  • มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคบางชนิดได้