การเกิดความเครียดต้องมีสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา ดังนั้นถ้าเราสามารถลดความรุนแรงของสิ่งเร้าไม่ให้มากเกินไป ร่างกายและจิตใจย่อมมีความสุขไม่เป็นโรค

วิธีการจัดการความเครียดจึงไม่ใช่มุ่งแก้อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กินยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ต้องพึ่งยาอยู่ตลอดเวลา และมักจะต้องกินยาในขนาดหรือปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหยุดยาจะทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น หรือไม่ควรหันมาคลายเครียดด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังเพื่อให้กระปรี้กระเปร่าชั่วขณะหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็คล้ายกับยาสามารถทำให้ติดเครื่องดื่มเหล่านี้และต้องการขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางคนลดความเครียด โดยการกินของหวาน ขนม หรืออาหารในปริมาณมากจนเกิดภาวะโรคอ้วน ยิ่งทำให้เครียดหนักขึ้นไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลย

อย่างไรก็ตาม มีผู้แนะนำวิธีลดความเครียดอีกหลายวิธี

  1. ฝึกสมาธิ นั่งวิปัสสนาฝึกลมปราณ ฝึกโยคะ อาจทำให้จิตใจสงบลง การใช้ออกซิเจนน้อยลงร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น ไม่กระวนกระวาน
  2. ฝึกการผ่อนคลาย เช่น นอนราบบนพื้น ฟังเพลงประเภทเบา ๆ เกร็งกล้ามเนื้อของใบหน้า เกร็งกล้ามเนื้อมือและเท้าให้แน่น ๆ แล้วปล่อยทันที
  3. ใช้วิธีการป้อนกลับทางชีวภาพ เช่น อาศัยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อข้างที่เกร็งเปรียบ-เทียบกับข้างที่ปกติ โดยให้เห็นภาวะคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อบนจอภาพหรือ ได้ยินเสียงของกล้ามเนื้อจากลำโพง หรือฝึกให้ลดเสียงเหล่านี้โดยการพยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  4. เป็นที่ยอมรับว่าการนวดทำให้กล้ามเนื้อและร่างกายคลายเครียดได้ โดยเฉพาะการนวดหน้าจะทำให้นอนหลับได้
  5. การปรับอิริยาบถ ให้อยู่ในท่าที่กล้ามเนื้อไม่เกร็งอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ในท่านั่ง ท่านอน หรือท่าทำงาน
  6. การว่ายน้ำหรือลอยตัวอยู่ในน้ำ
  7. การออกกำลังกายแบบซ้ำ ๆ เช่น รำมวยจีน ไทเก๊ก หว้ายตันกง เล่นยิมนาสติก เต้ารำจังหวะช้า รำไทย บัลเลย์ เป็นต้น

เมื่อเราไม่เครียด จิตใจจะสบาย สมองจะโปร่งใส ร่างกายแข็งแรงจะทำให้อะไรย่อมประสบความสำเร็จ ได้ตามที่คาดหวังไว้

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th