เรื่องโดย : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

ให้สัมภาษณ์โดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล อดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต

ข้อมูลบางส่วนจาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ภาพประกอบโดย : นัฐพร  ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

เพื่อนเรา(ซึม)เศร้าทำไงดี ? thaihealth

จากคนที่ชอบพูด ชอบคุย ชอบออกไปไหนมากไหนกับเพื่อน ดูหนัง ฟังเพลง ทุกอย่างมันจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป แม้ว่ากับบางคนอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเปลี่ยนแล้วก็เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือโดยสิ้นเชิง อาการเหล่านี้ คนสนิทอย่านิ่งนอนใจ เพราะเขาอาจกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก็ได้

 

'โรคซึมเศร้า' เป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกอาชีพ ทุกวัย โดยอาการที่สังเกตได้คือ 1. มีอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ ซึม หงอย ทั้งที่ตัวเองรู้สึก หรือคนอื่นก็สังเกตเห็น และ 2. เบื่อ ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือนอนหลับมากไป คิดช้าพูดช้า ทำอะไรช้าลง หรือหงุดหงิด กระวนกระวาย รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกตนเองไร้ค่า สมาธิความคิดอ่านช้าลง คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง เป็นต้น

เพื่อนเรา(ซึม)เศร้าทำไงดี ? thaihealth

“ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีรายละเอียดและวิธีรักษาที่แตกต่างกัน แต่จะมีจุดร่วมที่สามารถทำความเข้าใจและช่วยให้บุคคลรอบข้างมีวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจดีขึ้น” นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล อดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิตบอกถึง วิธีปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในระดับต่าง ๆ ดังนี้

 

  • อาการซึมเศร้าเล็กน้อย ควรเน้นการปรับกิจวัตร โดยเฉพาะหากมีอาการเศร้าเรื้อรัง ที่เป็นมานาน มักเกิดจากนิสัยขี้กังวลและการขาดทักษะจัดการอารมณ์และจัดการสถานการณ์ชีวิต ควรฝึกทักษะจัดการปัญหาเชิงรุก ทักษะจัดการอารมณ์ การสื่อสาร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความรู้สึกดีและความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง
  • อาการซึมเศร้ามีปานกลาง ยาและการปรับกิจวัตรจะช่วยได้มาก โดยเฉพาะการกินอาหารที่ดีกับสุขภาพ การนอนเพียงพอ การออกกำลังกายให้มากพอ และการทำกิจกรรมผ่อนคลาย และถ้าเป็นไปได้ ควรฝึกการมีสติรู้ทันความคิดนึก ประยุกต์ใช้สติเพื่อการดูแลเรื่องอารมณ์ของตัวเอง ระวังการมองอารมณ์ลบว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธหรืออารมณ์เศร้า เพราะอารมณ์เป็นธรรมดาของชีวิตคนเรา สิ่งสำคัญคืออารมณ์บอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในใจเรา
  • อาการซึมเศร้ามาก ควรเน้นให้กินยาสม่ำเสมอ และให้กำลังใจว่า อาการจะดีขึ้น หากเป็นไปได้ ควรชวนให้ได้เดินออกกำลังกายเบา ๆ ช่วงแสงแดดอ่อน ชวนทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เท่าที่เขาพร้อมจะทำ
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตาย ไม่ควรละเลยโดยเข้าใจเอาเองว่า คนพูดถึงความคิดฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความสนใจ และไม่ลงมือทำจริง เพราะในความเป็นจริง การบอกถึงความคิดฆ่าตัวตาย สะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ในใจ ที่ทำให้เขาสิ้นหวังกับการมีชีวิต เป็นสัญญาณเตือนให้รีบขอความช่วยเหลือ ควรให้จิตแพทย์หรือคนทำงานด้านสุขภาพจิตได้ช่วยประเมินความเสี่ยงและร่วมกันกำหนดแนวทางช่วยเหลือ

เพื่อนเรา(ซึม)เศร้าทำไงดี ? thaihealth

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ แต่ขั้นแรกจะต้องเริ่มจากความเข้าใจในโรคนี้ก่อน ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวผู้ป่วยเองแต่ยังรวมถึงคนรอบข้างด้วย โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด จะช่วยได้มากด้วยการให้ความเข้าใจและใส่ใจอย่างถูกวิธี โรคซึมเศร้าอาจรุนแรงจนถึงระดับที่นอกจากจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยตัดสินใจจบชีวิตตัวเองได้

ทั้งนี้คนทั่วไปมักจะคิดว่าตนเข้าใจโรคซึมเศร้า เพราะเคยรู้สึก 'เศร้าใจ' เป็นบางช่วงเวลา หรือเคยมีบางสิ่งบางอย่างทำให้เขารู้สึกเสียใจมาบ้างและสามารถรับมือได้ นพ.ประเวช เล่าต่อถึงกรณีผู้ป่วยซึมเศร้าว่า เขาอาจไม่มีพลังและความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะดีขึ้นได้ ไม่มีแรงไปออกกำลังกาย ไม่อยากทำอะไร วิธีปฏิบัติตัวต่อกันจึงควรเป็นไปด้วยความเข้าใจในธรรมชาติของโรค อย่าเพิ่งตัดสินว่า การที่เขาไม่ทำ หรือทำไม่ได้ แปลว่า เขาขี้เกียจ ไม่มีวินัย ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเอง หรือเรียกร้องความสนใจ ความคิดเช่นนี้กลับจะยิ่งทำให้เราปฏิบัติต่อเขาในแบบตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ บังคับ และทำให้อาการแย่ลงได้

เพื่อนเรา(ซึม)เศร้าทำไงดี ? thaihealth

วิธีปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยซึมเศร้า คือ ให้กำลังใจ ชวนทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยแบบรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ต้องพยายามให้คำตอบว่าควรทำอย่างไร ในกรณีของสมาชิกในครอบครัว ถ้าไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ก็ให้ใช้การสัมผัสและการแสดงความรักความห่วงใยผ่านการกระทำ เช่น จัดเวลาทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกัน

ตัวอย่างคำพูดที่ควรพูดเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  • อยากให้ฉันกอดไหม
  • เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ
  • เธอสำคัญสำหรับเสมอนะ
  • ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอนะ
  • ฉันอาจไม่เข้าใจ แต่เข้าใจเธอนะ
  • ฉันรักเธอนะ

 

คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยงในการให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  • ลืม ๆ มันไปซะเถอะ
  • ไม่อยากรู้สึกแบบนี้ ก็เลิกคิดสิ
  • ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ผ่านไป
  • จะเศร้าไปถึงไหนกัน
  • เข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร ฉันก็เคยเป็น
  • เลิกเศร้าได้แล้ว

คำบางคำฟังแล้วมีกำลังใจได้ความรู้สึกที่ดี แต่คำอีกหลาย ๆ คำก็สามารถทิ่มแทงจิตใจให้น้ำตาตกได้ สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง คือ คำพูดในทางตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ คำพูดกระตุ้นให้กำลังใจที่เน้นให้คิดบวกว่าต้องทำได้สิ ๆ เพราะกลับจะยิ่งกระตุ้นให้เขารู้สึกล้มเหลวมากยิ่งขึ้น

เพื่อนเรา(ซึม)เศร้าทำไงดี ? thaihealth

เมื่อสุขภาพกายดี สุขภาพจิตก็จะดีตาม การสนับสนุนให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพกายที่ดีผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการวิ่งที่ สสส. ได้ร่วมจัดอยู่เป็นประจำทั่วประเทศ เพราะการวิ่งจะช่วยให้ผู้วิ่งหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมา นักวิ่งจะรู้สึกว่าความเมื่อย ความเหนื่อย หายไปหลังจากได้วิ่งต่อเนื่องนานกว่า 20 นาที และเมื่อนักวิ่งเข้าเส้นชัย ไม่ว่าจะได้รางวัล หรือไม่ได้รางวัลก็ตาม เขาจะมีความรู้สึกสดชื่น และทำให้จิตใจของผู้วิ่งเบาสบายอีกด้วย     

 

นอกจากนี้ นายแพทย์เฟร็ด กู๊ดวิน แห่งสถาบันสุขภาพจิตของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงการออกกำลังกายว่า ย่อมต้องมีการจัดสรรเวลาและบังคับตัวเองให้มีวินัยอย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่ทำตามเป้าหมายได้จะเกิดความภูมิใจอยู่เงียบ ๆ เพราะความรู้สึกใดที่ดีต่อตัวเอง จะช่วยให้อารมณ์และจิตใจผ่องใสขึ้น

 

นอกเหนือจากการกินยาเป็นประจำ การปรับกิจวัตรประจำวันโดยเพิ่มกิจกรรมทางกายเข้าไป ชวนให้ผู้ป่วยมาออกกำลังกายจะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าปรึกษาแพทย์ หรือจิตแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทั่วประเทศ หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง และอย่าลืมสำรวจความรู้สึกของคนรอบข้างของคุณให้ดีนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th