ยังคงมีประกาศเตือนอย่างต่อเนื่องทั้งในโลกโซเชียล และข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับ “น้ำท่วม” แน่นอนว่าเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูฝน ก็เป็นหน้าที่ของการรับและระบายน้ำของเขื่อน แม่น้ำ และลำคลองทั่วประเทศไทย ท่ามกลางความตื่นตระหนกในสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่องและการระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และที่รับฟังข่าวสารมีความกังวลสูง เพราะไม่รู้ว่าข่าวที่ได้รับนั้นจริง หรือ ปลอม!!

อะไรจริง อะไรปลอม?  thaihealth

เสียงลือต่างๆ นาๆ ทำหน้าที่รวดเร็วกว่าจรวดเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกโซเชียลที่ส่งข่าวสารเพียงแค่การกดคลิกเดียวด้วยแล้ว ทั้งข่าวน้ำล้นเขื่อน ฝายรับน้ำไม่ไหว ฯลฯ ถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากมือคีย์บอร์ดที่ยังไม่ได้สำรวจว่า ข่าวสารที่ได้รับมา จริง หรือ ปลอม ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม และเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

การให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสื่อนับว่าเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจะต้องมีทักษะเรื่องการวิเคราะห์ และพิจารณาสื่อที่ได้รับ ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. ครั้งที่ 6  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาระบบสื่อสุขภาวะ 3 เรื่องสำคัญเพื่อให้คนไทยฉลาดใช้สื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ เพื่อให้คนไทยฉลาดใช้สื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ 1.ส่งเสริมทักษะเท่าทันสื่อ 4.0 พัฒนาพลเมืองดิจิทัล อาทิ ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เกิดองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิตอล พัฒนาหลักสูตรเท่าทันสื่อในสถานศึกษา 2.มาตรการพัฒนาความฉลาดรู้ทางสุขภาวะและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ในรูปแบบคณะกรรมการกำกับดูแลสื่อและส่งเสริมการเท่าทันสื่อตามแผนปฏิรูปประเทศ อาทิ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข้อมูลทางสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวังโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม 3.นโยบายส่งเสริมและปกป้องเด็กจากสื่อออนไลน์ อาทิ ปรับปรุงมาตรการ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองเด็กจากสื่อไม่เหมาะสม

ภาคีที่นับว่าทำงานอย่างใกล้ชิดกับ สสส. และขับเคลื่อนและมุ่งมั่นสร้างสรรค์สภาพแวดล้อม และการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน อย่างสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน หรือ สสย. ได้มุ่งสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ นวัตกรรม ด้านสื่อมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดจากข่าวน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทีมเว็บไซต์ สสส. ได้รวบรวมข้อสังเกต และข้อแนะนำในการพิจารณาสื่อที่เราได้รับมาบอกต่อกัน โดยข้อมูลดังกล่าวนี้ ทาง สสย. ได้จัดทำข้อมูลภาษาไทยจาก The International Federation of Library Association: IFLA หรือ สหพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคม และสถาบันห้องสมุด เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ในการเชื่อสื่อ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

ข่าวเทียม ข่าวปลอม ข่าวลวง คืออะไร?

1. พาดหัว ลวงให้คลิก : ใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัย ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่มีอะไรเลย เพื่อเรียกยอดการเข้าดู

2. โฆษณาชวนเชื่อ : เรื่องราวที่ถูกคัดและสร้างขึ้นเพื่อให้เข้าใจผิด สร้างอคติทั้งทางลบและบวก โดยมากมักหวังผลทางการเมือง

3. เสียดสี/ล้อเลียน : เป็นการเรียกยอดผู้ชม โดยการสร้างข่าวล้อเลียน เสียดสีคนดังเพื่อความบันเทิง

4. นำเสนอข่าวแบบลวกๆ : บางครั้งผู้สื่อข่าวอาจเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดทำให้ผู้ชมเข้าใจผิด

5. พาดหัวให้เข้าใจผิด : ใช้คำหรือข้อความในการพาดหัวเพื่อให้คนเข้าใจผิด หรือเรียกร้องความสนใจให้คนแชร์ต่อ เนื้อหาอาจไม่ใช่เรื่องเท็จทั้งหมด ซึ่งแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในสื่อออนไลน์

6. ข่าวลำเอียง : โซเชียลมีเดียนำพาผู้ใช้สื่อไปยังข่าวหรือข้อมูลบางอย่างที่ช่วยสนับสนุนความคิด ความเชื่อ อคติของผู้ใช้สื่อ โดยวิเคราะห์จากลักษณะคำค้นหาของผู้ใช้สื่อเอง

อะไรจริง อะไรปลอม?  thaihealth

รู้ได้อย่างไร อะไรข่าวจริง อะไรข่าวปลอม??

1. ตรวจตราที่มา : ดูเว็บไซต์ ภารกิจองค์กร ที่ติดต่อ

2. อ่านเนื้อหาโดยรวม : ดูพาดหัวที่ดูหวือหวา และเนื้อหาที่อยู่ในเรื่อง ว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

3. รู้จักผู้เขียน : ค้นดูว่าผู้เขียนมีตัวตนไหม และน่าเชื่อถือเพียงใด

4. ลิงค์ที่เห็นเกี่ยวกับเนื้อหาหรือไม่ : คลิกดูความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าว

5. ตรวจสอบวันที่เผยแพร่ : การโพสต์ข่าวเก่าอาจจะไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

6. ข่าวล้อเล่นหรือเปล่า : ดูให้แน่ว่าเป็นเรื่องล้อเล่น หรือเยอะเย้ยเสียดสีหรือเปล่า

7. ตรวจสอบอคติของเรา : เพราะความเชื่อส่วนตัว อาจจะไปตัดสินผู้อื่นได้

8. ถามผู้รู้ถ้าไม่แน่ใจในเรื่องนั้น : ควรถามผู้รู้หรือตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลที่นำเสนอข้อเท็จจริงอื่นๆ

ก่อนที่จะเชื่อสื่อใดๆ ก็ตาม เราควรพิจารณา วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนก่อนจะเลือกเชื่อและส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นออกไป เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของโลกโซเชียลกันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th