เคยสงสัยไหมว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่มนุษย์เรา “ผลักดัน” ให้เกิดขึ้น หรือความจริงแล้ว เรากำลัง “ถูกบังคับ” ให้ต้องทำกันแน่ ? สำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์ประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่เกิดเป็นกระแสมากที่สุดคือ “ Smart Home ” ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้จุดประกายเป็นคนแรก แต่สำหรับปัจจุบัน “Smart Home” กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องปรับตัว ในการพัฒนาโครงการตนเองไปเสียแล้ว

            ว่าแต่ "โลกาภิวัฒน์" ที่ว่าเป็นสาเหตุให้ "บ้านถูกบังคับให้เป็น" ในที่นี้คืออะไร ? TerraBKK มองว่า มันคือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยมื่อโลกเราถูกหมุนด้วยเทคโนโลยี ทางเลือกใหม่จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลายขั้นตอนของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์อย่างรูปแบบบ้านที่ถูกบังคับให้ต้องรอบรับการสั่งงานผ่านโทรศัพ์มือถือ เช่น การควบคุมการเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมากกว่าสวิทช์ในแบบเดิมๆ เป็นต้น การพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างช่วยกระชับไวขึ้นเกิดขึ้นแล้วในยุคนี้ รวมทั้ง การใช้ประโยชน์จากพลังงานทางเลือก ใครจะเชื่อว่า ต่อไปบ้านทุกหลัง อาจจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้  

            TerraBKK ติดตามลักษณะ บ้านอัจฉริยะ ที่ผู้ประกอบการใช้นำเสนอต่อผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

Smart Home ด้วย ระบบไหลเวียนอากาศและพลังงานแสงอาทิตย์

         “บ้านหายใจได้” จาก แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จากการพัฒนามากว่า 5 ปี หลักการคือ ดึงอากาศใหม่จากภายนอกแทนที่อากาศเก่าภายในบ้าน เกิดเป็นการหมุนเวียนอากาศในบ้านด้วยอากาศใหม่เสมอ ช่วยลดการสะสมความร้อนและระบายความอับชื้นตลอดเวลา เปรียบเสมือนบ้านหายใจได้ นวัตกรรมนี้ต้นทุนประมาณ 1% ของราคาบ้าน สามารถทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง จากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฟฟ้าภายในบ้าน คาดว่าเสียค่าไฟไม่เกิน 5 บ้าน/คืน

          “เสนาโซลาร์” จาก เสนาดีเวลลอปเม้นท์ เหนือกว่าบ้านประหยัดพลังงานทั่วไป ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง แถมยังสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าให้รัฐ หากกฎหมายประกาศใช้อย่างจริงจัง ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว แต่พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ได้มาถูกใช้กับส่วนกลางของโครงการ นอกจากนี้ เสนายังจัดตั้งบริษัทใหม่ในเครือชื่อว่า บจ. เสนา โซลาร์ เอเนอร์ยี่ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรอีกด้วย

           “Home Intelligent System” จาก แมกโนเลีย พัฒนาระบบคุณภาพอากาศภายในโดยใช้ ERV (Energy Recovery Ventilation) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกเพิ่มปริมาณออกซิเจนในห้องปรับอากาศให้เหมาะสมกับปริมาณผู้ที่อยู่อาศัย หากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) มากกว่าที่กำหนดไว้ ระบบจะทำการเชื่อมโยงอัตโนมัติไปยังเครื่อง ERV เพื่อเติมอากาศจากด้านนอกเข้ามาภายในห้อง และนำอากาศในห้องออกสู่ภายนอกอาคาร

           “Active AIRflow TM Sysytem” จาก เอสซีจี เป็นหลักการสร้างกลไกการระบายอากาศ โดยการถ่ายเทความร้อนออกจากตัวบ้านและโถงหลังคาได้ 7-10 รอบต่อชั่วโมง ช่วยประหยัดค่าไฟ ช่วยให้เครื่องปรับอากาศได้เย็นเร็วขึ้น ซึ่งลักษณะนวัตกรรมคล้ายกันนี้ สามารถพบได้ในหลากหลายโครงการจัดสรรปัจจุบัน

Smart Home ด้วย ระบบ Smart Home Application

          Smart Home Application คือ สิ่งพื้นฐานที่ บ้านอัจฉริยะ มักนำเสนอ จึงไม่แปลกใจหากเห็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างประโคมข่าวเหล่านี้ให้ทราบกันบ่อย ๆ นอกจากโครงการบ้านจัดสรรแล้ว เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ซัมซุง ก็พัฒนา Application รองรับการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้เช่นเดียวกัน ลองย้อนมาดู Application ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนี้

          “SIRI LIFETECH” จาก แสนสิริ ด้วยนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยแนวใหม่ เช่น Sansiri Home Service Application ควบคุมการเปิดปิดไฟ เครื่องปรับอากาศ และจองใช้พื้นที่ส่วนกลางผ่านแอพ, SAN:DEE Delivery Robot ลูกบ้านสามารถแจ้งความจำนงให้แสนดีนำพัสดุขึ้นมาส่งที่ห้องผ่านแอพลิเคชั่นได้ โดยแสนดีที่มีระบบนำทางหลบหลีกสิ่งกีดขวางและสามารถขึ้นลิฟท์ด้วยตัวเองได้ รับน้ำหนักได้สูงสุดมากถึง 80 กิโลกรัม, Sansiri AI Box สามารถรับการสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยครั้งแรกของประเทศ เป็นต้น

         “บ้านรู้ใจ สมาร์ทโฮม” จาก SC ASSET ร่วมมือกับ AIS ด้วยระบบควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านด้วยอินเตอร์เน็ตผ่าน Mobile Application เช่น ควบคุมการเปิดปิดสัญญาณกันขโมยภายในบ้าน เป็นต้น

          “AREEYA Family Application Version 2” จาก อารียา อำนวยความสะดวกบริการหลังการขายในช่วงรับประกัน ลูกบ้านสามารถแจ้งปัญหาโดยสามารถถ่ายภาพจุดที่เป็นปัญหา อัพโหลดขึ้นไป เลือกวันเวลาในการแจ้งซ่อมได้ตนเอง และรอรับ Confirmation เข้าซ่อมโดยจะทราบชื่อและหน้าตาของเจ้าหน้าที่ได้ทันที

Smart Home ด้วย ระบบการก่อสร้าง

         บ้านอัจฉริยะ เริ่มต้นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง ทำยังไงจึงจะสร้างได้เร็วขึ้นโดยยังคงคุณภาพ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในขั้นตอนการก่อสร้างจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

         “พฤกษา 4.0” จาก พฤกษา รักษาความเป็นผู้นำป็นผู้นำของประเทศในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างพรีคาสท์ ซึ่งมีการพัฒนาระบบการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง เช่น
         • ปี 2555 นวัตกรรมการก่อสร้าง REM (Real Estate Manufacturing) ด้วยทีมงานเชียวชาญในแต่ละส่วนการก่อสร้างบ้าน อาทิ งานตอกเข็ม งานฐานราก งานประปาใต้พื้น งานประปารอบบ้าน เป็นต้น ย่นระยะเวลาการผลิตเหลือ 21 วัน (จากเดิมเฉลี่ย 45 วัน)
         • ปี 2556 ระบบ BIM (Building Information Management) ช่วยเขียนแบบ 3 มิติ พร้อมประมาณปริมาณวัสดุครบวงจร ลดขั้นตอนการทำงาน โดยการคำนวณระบบคอมพิวเตอร์
         • ปี 2557 โปรแกรมตรวจรับบ้านอัจฉริยะ (I-Inspection II) เพิ่มประสิทธิภาพตรวจรับบ้านให้ลูกค้าผ่านแท็บเล็ต สามารถส่งมอบบ้านได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

         นอกจากนี้ ยังเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ 4 ด้าน เช่น Smart-Product พัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานภายในบ้าน , Smart-Marketing ด้วยการใช้ Digital Marketing สอดคล้องลูกค้ายุคดิจิทัล, Smart-Home Application พัฒนารองรับบริการไม่จำกัดแค่ภายในบ้าน เช่น บริการล้างรถ เสริมสวย ซักรีด เป็นต้น

Smart Home ด้วยการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

         ก้าวไปอีกขั้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์ Smart Home ของตนเอง แต่ยังสร้างสังคมที่พร้อมจะเดินทางสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์แกนหลักของธุรกิจ นอกจากจะได้ไอเดียนวัตกรรมใหม่จากหลากหลายเหล่า Startup แล้ว ก็ยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำแก่ลูกค้ากลุ่มใหม่ ช่วงวัยรุ่นเพิ่มขึ้นมาได้

        “UrbanTech” จาก อนันดา ด้วย 3 ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม คือ Ecosystem Support สนับสนุนกิจกรรม Incubators และ Accelerator ชั้นนำ อย่างสนับสนุนการแข่งขัน Hackathon กับ Hubba ซึ่งเป็น Co-workingspace ในไทย , Fund of Funds ลงทุนในกองทุน VC ทั่วโลก เพื่อเข้าถึงกลุ่มสตาร์อัพระดับสากล และ Corporate Venture Capital ลงทุนโดยตรงในบริษัท Tech Startup ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจแกนหลักของบริษัทได้

        “SIRI VENTURE” จาก แสนสิริร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ร่วมลงทุนด้วยงบ 100 ล้านบาท สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอสังหาริมทรัพย์และการอยู่อาศัย , ร่วมทุนและยกระดับ Home Service โมบายแอพพลิเคชัน สำหรับลูกบ้านแสนสิริ และ จัดตั้งโครงการผลักดันสตาร์ทอัพด้าน Property Technology โดยเฉพาะครั้งแรกในประเทศไทย (Property Technology Accelerator) ทั้งหมดนี้ ตั้งเป้าสร้างเครือข่ายด้าน Property Technology อย่างน้อย 300 ราย ภายในปี 2020

          สุดท้ายแล้ว TerraBKK มองว่า “เทคโนโลยี” ไม่มีคำว่าสิ้นสุด และกลับมีอายุสั้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้ความตื่นตาตื่นใจเหล่านี้ อย่าลืมคำนึงและยอมรับถึงผลกระทบตามมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเมื่ออินเตอร์เน็ตใช้งานไม่ได้, ค่าใช้จ่ายซ่อมแซมสูงเมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นตกรุ่น, โรคถามหาเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงตามความสะดวกสบายของเทคโนโลยี, ภาระกองขยะชิ้นส่วนเทคโนโลยีหมดอายุ เป็นต้น ---TerraBKK

 

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก