สี่เท้ายังรู้พลาด สาอะไรกับมนุษย์เดินดิน ต่อให้จะฉลาดขั้นเทพขนาดไหน แต่เมื่อต้องฝ่าด่านการตัดสินใจ ก็มีวันต้องพลาดพลั้งกันบ้างเป็นธรรมดาเพราะธรรมชาติของคนเรามีสิ่งที่เรียกว่า อคติของการรับรู้ หรือ Cognitive Biases ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในกระบวนการคิดและตัดสินใจของคนเราบางครั้งไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลอันถูกต้อง

          ในบรรดาอคติที่มีอยู่มากมาย ลองมาดู 4 อคติของการรับรู้ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้คนที่เคยดูสมาร์ท ฉลาดในสายตาทุกคน ต้องกลายเป็นคนที่ดูโง่ในบัดดล

          1.การหลีกเลี่ยงการเสี่ยงภัย ในทางจิตวิทยาหมายถึง พวกที่มีความโน้มเอียงจะป้องกันความสูญเสียมากกว่าที่จะพยายามให้ได้ผลกำไร เปรียบเทียบให้เห็นภาพตามง่ายๆ คือ คนเรามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการเสียเงิน 500 บาทมากกว่าความพยายามที่จะหาเงินให้ได้ 500 บาท

          แดเนียล คาฮ์นะมัน นักวิจัยและผู้เขียนหนังสือ Thinking, Fast and Slow อธิบายว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะการสูญเสียมีผลในเชิงจิตวิทยามากกว่าการได้รับถึง 2 เท่า ดั่งที่มีคำเปรียบเปรยไว้ว่า “นกตัวเดียวในมือ มีค่ามากกว่าอีก 2 ตัวที่อยู่ที่พุ่มไม้”

          ผลเสียจากอคตินี้เอง ทำให้หลายคนมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจยอมแพ้ทั้งที่ยังมีโอกาส เพราะมองว่าการล้มเลิกที่จะเดินหน้าในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงเป็นการป้องกันความสูญเสีย ทั้งที่จริงแล้ว การตัดสินใจทิ้งโอกาสตั้งแต่วันนี้ต่างหาก คือ การทำให้เกมโอเวอร์  

          2.อคติจากการนึกจำ เป็นการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่สมองเราเข้าถึงได้เร็วที่สุด แทนที่จะมองจากมุมหลายๆ มุม คนเรามักเลือกที่จะรีบตัดสินใจจากข้อมูลหรือมุมมองที่มีอยู่ โดยไม่พยายามหาข้อมูลหรือมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนมากขึ้น ยกตัวอย่างเวลาอ่านข่าวความไม่สงบในซีเรีย หลายคนมักสร้างภาพในใจว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในนี้ยุคที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ทั้งที่จริงๆ แล้วคุณอาศัยอยู่ในดินแดนที่แสนสงบจากสงคราม

          การสร้างภาพในใจจากสิ่งที่เพิ่งมีประสบการณ์ มักมีผลต่อการตัดสินใจของคนเราอย่างไม่น่าเชื่อ หากไม่รู้เท่าทัน เพราะฉะนั้น สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการทั้งหลายต้องหลีกเลี่ยงอคติข้อนี้ให้ดี ด้วยการเตือนตัวเองเสมอว่า จงตัดสินใจทุกอย่างโดยอาศัยข้อมูลไม่ใช่จากความทรงจำ

          3.ความลำเอียงจากการอยู่รอด เป็นอคติทางความคิดที่เกิดจากการให้ความสำคัญมากเกินไปกับคนที่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์อะไรสักอย่างเเละเเทบจะไม่ให้ความสำคัญอะไรเลยกับคนที่ไม่สามารถเอาตัวเองรอดมาได้จากเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยเหตุผลเพียงว่าไม่ค่อยพบเห็น

          หนึ่งในตัวอย่างยอดฮิต คือ หลายๆ คนรู้ดีว่า ไรอัน กอสลิง นักแสดงชื่อดัง ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 17 และย้ายไปอยู่แอลเอ เพื่อตามหาความฝันในวงการแสดง เรื่องราวของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คน ในขณะที่เรื่องราวของเด็กมัธยมอีกนับพันที่เดินไปตามเส้นทางเดียวกันกับเขา แต่ไปไม่ถึงฝันกลับถูกหลงลืมไป เช่นเดียวกับสตีฟ จ็อป อัจฉริยะผู้ล่วงลับ เขาเรียนไม่จบแต่ก็สามารถกลายเป็นมหาเศรษฐี ใครๆ ก็พากันชื่นชม แต่วัยรุ่นอีกจำนวนไม่น้อยที่ออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันและต้องพบกับชีวิตที่ล้มเหลวกลับไม่เคยถูกพูดถึง

          ปัญหาของการยึดติดกับอคตินี้ คือ หลุมพรางที่ทำให้หลายคนตัดสินใจผิดพลาด สิ่งที่ต้องเตือนตัวเองเสมอคือ คนเราทุกคนต่างมีเส้นทางความสำเร็จของตัวเอง ไม่มีสูตรสำเร็จไหนจะเหมาะกับทุกคน ต่อให้เส้นชัยของคุณจะอยู่จุดเดียวกัน แต่คนเรามีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกัน

ความลำเอียงเพื่อยืนยัน หมายถึง เป็นความโน้มเอียงเข้าหาข้อมูลที่ยืนยันความคิดหรือทฤษฎีที่เข้ากับสมมติฐานที่ตัวเองมี และพยายามหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ตรงข้ามกับความเชื่อของตัวเอง ยกตัวอย่างเมื่อไหร่ก็ตามที่คิดว่าลูกค้าชอบสินค้าใหม่ของคุณ คุณจะให้ความสนใจกับฟีดแบ็คที่ลูกค้าชื่นชมสินค้าของคุณมากกว่าลูกค้าที่มีฟีดแบ็คข้อมูลในเชิงลบ จนกลายเป็นการเปิดรับข้อมูลเพียงด้านเดียว

          หนทางที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงอคติข้อนี้คือ พยายามหาข้อสรุปจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ แทนที่จะโฟกัสแต่เสียงชื่นชมตามสมมติฐานที่คาดหวังไว้ในใจ ลองเปิดใจให้กว้างเพื่อมองให้ลึกถึงสิ่งที่ลูกค้าสะท้อนออกมา เมื่อไหร่ที่คุณรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน คุณก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง