การนอนเป็นวิธีพักผ่อนร่างกายที่ดีที่สุด เพราะขณะที่เราหลับ ร่างกายของเราจะได้รับการฟื้นฟูซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เป็นเหมือนการชาร์จแบตตัวเองให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดชื่นได้อีกครั้ง แต่ก็มีบางคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน นั่นก็คือการนอนไม่หลับหรือหลับไม่ค่อยสนิท

อาจมีอยู่หลายวิธีที่ช่วยให้นอนหลับง่ายหรือหลับสนิทมากขึ้น ทว่ามันอาจไม่ได้ผลกับทุกๆ คน ทำให้บางคนเลือกใช้วิธีกินยานอนหลับเข้ามาช่วย จึงเกิดคำถามขึ้นว่าการใช้ ยานอนหลับ ช่วยได้จริงหรอ? ซึ่งในวันนี้ทาง rabbit finance มีคำตอบเรื่องนี้มาบอก แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักอาการนอนไม่หลับกันแบบคร่าวๆ สักหน่อยดีกว่า

รู้ไหม? นอนไม่หลับ แบ่งได้ 3 ประเภท

การนอนไม่หลับแบบชั่วคราว

นอนไม่หลับติดกันหลายวัน แต่ไม่ถึงกับหลายสัปดาห์ มักเกิดจากความกังวล ตื่นเต้น หรือเครียด เรื่องใดสักเรื่อง อาการจะดีขึ้นในไม่กี่วันหรือบางคนอาจใช้ยานอนหลับช่วยนิดหน่อยเพื่อให้ดีขึ้นได้

การนอนไม่หลับแบบระยะต่อเนื่อง

นอนไม่หลับต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ส่วนใครเกิดเพราะเครียดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังคลี่คลายไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องนั้นๆ ได้รับการแก้ไข ก็จะกลับมานอนหลับได้ปกติ ทางที่ดีควรไปหาหมอ เพื่อหาทางรักษาจะได้ไม่กลายเป็นเรื้อรัง

การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง

นอนไม่หลับติดต่อกันเกิน  1 เดือนขึ้นไป อาจไม่ได้มาจากความเครียดอย่างเดียว เพราะบางครั้งปัญหาได้คลี่คลายแล้ว แต่ก็ยังนอนไม่หลับอยู่ บางคนจึงกังวลว่าถ้านอนไม่หลับแล้วพรุ่งนี้จะเป็นยังไง ร่างกายจะไปทำงานไหวมั้ย จนกลายเป็นกลัวการนอนหลับไปเลย

นอนไม่หลับ แบ่งได้ 4 สาเหตุ 

สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตใจ (Psychologic Causes of Insomnia)

ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับส่วนใหญ่ มักเกิดจากอาการบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องของจิตใจ อย่างเช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึงประมาณ 70% จะมีอาการนอนไม่หลับเป็นอาการหลักๆ

สาเหตุที่มีปัจจัยในการกระตุ้นให้เกิดการนอนไม่หลับ (Precipitating Factors of Transient Insomnia)

ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นแบบชั่วคราว ได้แก่ การเสียของรัก ความเครียด เจ็บป่วย ปัญหาเรื่องงาน การทำงานเป็นกะ ทำให้นอนไม่เป็นเวลา รวมถึงอาการ Jet Lag และการใช้ยาหรือเครื่องดื่มบางชนิด

สาเหตุที่เป็นปัจจัยเสริม (Perpetuating Factors)

มีปัจจัยเสริมที่ทำให้การนอนไม่หลับ ได้แก่ เข้านอน/ตื่นนอนไม่เป็นเวลา ออกกำลังกายหรือทำงานที่เครียดก่อนนอน นอนก่อนเวลาที่เคยนอน เปลี่ยนเวลาการนอน ฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยทำให้ง่วงลดลง (มักเกิดกับคนวัย 60 ปีขึ้นไป) ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟก่อนนอน และสิ่งแวลล้อมรอบข้างเป็นอุปสรรคต่อการนอน

สาเหตุที่เกิดจากโรค (Medical and Physical Conditions)

การเจ็บป่วยหรือช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางครั้งก็เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับได้เช่นกัน อาทิ โรคบางชนิด อย่าง ภูมิแพ้ พาร์คินสัน หัวใจ สมองเสื่อม หอบหืด หรือ ช่วงไข่ตกของผู้หญิง ประจำเดือนใกล้มา ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ระยะแรก และใกล้คลอด หรือช่วงเข้าสู่วัยทอง 

เลยต้องใช้ยานอนหลับเป็นตัวช่วย?

อย่างที่บอกไปว่าเมื่อนอนไม่หลับ หลายคนก็จะมีวิธีต่างๆ ที่ช่วยให้นอนหลับได้ โดยไม่ต้องพึ่งยา แต่สำหรับคนที่เลือกกินยานอนหลับแทน ควรจะทราบไว้ว่าการใช้ยานอนหลับสามารถช่วยให้เราหลับได้ เพราะมันจะไปกดการทำงานของระบบประสาท ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียดลง

ยาบางตัวมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ทำให้เมื่อกินเข้าไปช่วงแรกๆ จะได้ผลดี แต่พอนานๆ อาจต้องเพิ่มจำนวนยา ระดับความเข้มข้น หรือเปลี่ยนยาให้แรงขึ้น ถึงจะช่วยให้หลับได้ ซึ่งมันมีแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน

ยานอนหลับแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม Barbiturates

ยากลุ่มนี้มักใช้ในการรักษาโรควิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดหัว และลมชัก โดยแพทย์อาจให้ทานยานี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อช่วยลดความเครียดหรือความกังวลให้คลายลง แต่ปัจจุบันยากลุ่มนี้ไม่ได้ใช้บ่อยแล้ว เพราะมีกลุ่มอื่นที่ปลอดภัยกว่า

ผลข้างเคียงของการใช้ยากลุ่มนี้คือ ปวดหัว กล่อมประสาท เวียนหัว คลื่นไส้ และปวดท้อง จึงควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากใช้เกินขนาดอาจมีอาการ ง่วงซึม มีผลต่อความคิดและการตัดสินใจ หายใจได้ตื้นๆ หรือพูดช้าๆ ยานๆ เป็นต้น หนักเข้าก็อาจทำให้ไม่รู้สึกตัวหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

กลุ่ม Benzodiazepines

เป็นยานอนหลับกลุ่มหนึ่งที่แพทย์มีการสั่งจ่ายบ่อยที่สุด เป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้นและเร็วกับผู้ที่นอนหลับยาก และออกฤทธิ์นานพอสมควรสำหรับผู้ที่ตื่นบ่อย ช่วยให้เกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ และชัก

ถ้าใช้ยากลุ่มนี้ระยะสั้นจะปลอดภัย แต่นานๆ ไปอาจเกิดอาการติดยา และมีผลข้างเคียงต่างๆ เช่น ง่วงนอน มึนหัว คลื่นไส้ ซึม ปวดหัว ปากแห้ง การมองเห็นผิดปกติ หายใจลำบาก และหมดสติได้ ถ้าใช้กับผู้สูงอายุจะสามารถเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า และหากกินมากๆ ตอนตั้งครรภ์ อาจทำให้ลูกพิการแต่กำเนิดได้ 

กลุ่ม Non-benzodiazepines

เป็นยาที่ออกฤทธิ์คล้ายกลุ่ม Benzodiazepines ช่วยทำให้นอนหลับและมีความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล แต่บางกรณีจะได้ผลในการรักษาดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่แรงเท่า และเสี่ยงต่อการติดยาน้อยกว่า

ผลข้างเคียงที่ได้รับจากยานอนหลับกลุ่มนี้อาจทำให้ง่วงนอน วิงเวียน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า หายใจผิดปกติ บางคนอาจรู้สึกปวดหลัง หรือถึงขึ้นเกิดภาวะความจำเสื่อมระยะสั้น และภาวะตับอักเสบได้ 

กลุ่ม Antihistamine

เป็นยารักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ ที่มีผลข้างเคียงให้รู้สึกง่วง ยากลุ่มนี้มีได้หลายรูปแบบทั้งแบบเม็ด แคปซูล ยาน้ำ ยาหยอดตา ยาฉีด และยาพ่นจมูก สามารถหาซื้อได้โดยที่มีหรือไม่มีใบสั่งแพทย์ก็ได้

ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้คือ ทำให้รู้สึกง่วงนอน มึนหัว ปากคอแห้ง ปวดท้อง กระทบต่อการมองเห็น กระวนกระวาย และเพิ่มความอยากอาหาร คนที่จะใช้ยากลุ่มนี้ควรแจ้งปัญหาด้านสุขภาพของตัวเองก่อน

โดยเฉพาะคนที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ต้อหิน ลมชัก ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง ต่อมลูกหมากโต หรือมีปัญหาเรื่องการขับปัสสาวะ อาจต้องระวังเป็นพิเศษ และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้หากต้องทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ความตื่นตัว

กลุ่ม Melatonin

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นเองในช่วงกลางคืน การกินฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยให้นอนหลับได้ ซึ่งมันถูกใช้รักษาอาการอื่นๆ ด้วย เช่น นอนไม่หลับ ช่วงการนอนผิดปกติ เด็กที่ผิดปกติด้านพัฒนาการหรือสภาพจิต ช่วยให้นอนได้หลังเลิกบุหรี่ รวมถึงภาวะ Jet Lag ซึมเศร้า หมดประจำเดือน คุมกำเนิด อ่อนเพลียเรื้อรัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลมชัก มะเร็ง อัลไซเมอร์ และกระดูกพรุน เป็นต้น

ผลข้างเคียงโดยทั่วไปของผู้ใช้ยากลุ่มนี้จะทำให้รู้สึก ง่วงนอนตอนกลางวัน หงุดหงิด ซึมเศร้า ปวดหัว เวียนหัว ปวดท้อง ความต้องการทางเพศลดลง ปริมาณอสุจิลดลง ซึ่งควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากผลข้างเคียงเหล่านี้รุนแรงขึ้นหรือมีอาการไม่ดีขึ้น

ข้อควรระวังเมื่อใช้ยานอนหลับ

สำหรับคนที่ใช้ยานอนหลับเป็นประจำในระยะเวลาติดต่อกันนานๆ มีข้อควรระวังดังนี้

- ยานอนหลับช่วยแก้ที่ปลายเหตุ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด

- ใช้ไปนานๆ จะทำให้ดื้อยา ติดยา เสื่อสมรรถภาพทางเพศ ความจำเสื่อม หรือผลข้างเคียงต่างๆ ที่ถึงแก่ชีวิตได้

- หากกินยาเกินขนาด จะเกิดการให้ใจผิดปกติ ทำให้สูดอากาศเข้าไปน้อยลง จนถึงขั้นหยุดหายใจและเสียชีวิตได้

- หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ช่วงให้นมบุตร ไม่ควรกินยานอนหลับ เพราะส่งผลต่อลูกในท้อง

- หากจะใช้ยานอนหลับกับเด็ก ต้องเป็นคำสั่งและได้รับการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์เท่านั้น

- ผู้สูงอายุจะเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า จึงควรกินในปริมาณแค่ครึ่งเดียวของผู้ใหญ่ทั่วไป และกินแบบออกฤทธิ์ระยะสั้น

สรุปว่ายานอนหลับช่วยให้หลับได้จริงหรือไม่?

การใช้ยานอนหลับนั้นช่วยได้จริง แต่เป็นการแก้ปัญหาได้แค่ปลายเหตุเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและสาเหตุการนอนไม่หลับของแต่ละคนด้วยว่าอยู่ในขั้นไหน ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ยานอนหลับให้ถูกกลุ่ม และใช้อย่างระมัดระวังในปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพราะยานอนหลับแต่ละชนิดนั้นมีผลข้างเคียงที่กระทบต่อสุขภาพร่างกายแตกต่างกันไป ตั้งแต่ขั้นเบาไปถึงขั้นรุนแรง และอาจร้ายแรงมากถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นหากต้องการใช้ยายนอนหลับมาช่วยเรื่องการนอนจริงๆ ล่ะก็ ไม่ควรที่จะวินิจฉัยอาการและไปหาซื้อยามากินเอง แต่ทางที่ดีควรไปปรึกษาและทำตามคำสั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้รู้ว่ายานอนหลับชนิดใดเหมาะกับร่างกายของเราที่สุด และเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com