การมีหนี้สินไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่บางครั้งนั้นอาจจะเกิดเหตุไม่คาดฝันจนทำให้เราเป็นหนี้ได้ขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นไรหากว่าเรามีวินัยที่จะผ่อนชำระคืนให้ครบตามจำนวนและไม่เกินที่กำหนด แต่ทว่ายังมีพวกเราบางคนที่ปล่อยปะละเลยการใส่ใจดูแลหนี้ที่ตัวเองมี แล้วยังทำการกู้หนี้ใหม่เข้ามาเพิ่มอีก แบบนี้ก็คงไม่ดีแน่ๆ เพราะว่าสุดท้ายแล้วอาจจะกลายเป็นหนี้มากจนไม่สามารถใช้คืนได้ จนอาจจะถูกฟ้องล้มลายนั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ในลักษณะนี้ให้มากที่สุดเพื่อตัวของเราเอง ว่าแล้ววันนี้ MoneyGuru.co.th ก็จะพาไปดูสาเหตุที่ทำให้เป็น หนี้เกินตัว กันว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เรามีหนี้เกินตัวแบบนี้

           หนี้เกินตัว สาเหตุมาจากอะไรบ้าง?

           ใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ที่มี

           ข้อนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้เลยก็ว่าได้ เพราะหากเราใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ที่เรามี ส่วนต่างของค่าใช้จ่ายที่เกินออกไปก็คือ สิ่งที่จะกลายมาเป็นหนี้ของเรานั่นเอง ซึ่งสาเหตุของการใช้จ่ายเกินกว่ารายได้ที่มี ก็เช่น ใช้จ่ายตามอารมณ์ อยากได้อะไรก็ซื้อเลยโดยไม่คำนวณก่อนว่าซื้อแล้วจะมีผลกระทบต่อเงินส่วนอื่นๆ ของเราไหม เป็นต้น  ต่อจากนั้นเมื่อรายได้ที่เราได้รับมานั้นหมดไปก็จะเริ่มหันมาพึ่งการรูดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต แล้วเมื่อถึงเวลาชำระคืนก็จ่ายขั้นต่ำ ซึ่งการจ่ายขั้นต่ำนี้เป็นการบอกอ้อมๆ แล้วว่าเรานั้นเริ่มมีปัญหาทางการเงิน เพราะหากไม่มีปัญหาการเงินเราก็คงสามารถจ่ายชำระคืนได้เต็มจำนวนไปแล้ว และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อเนื่องระยะเวลาหลายๆ เดือนเข้า หนี้ที่มีก็จะเริ่มกลายเป็นก้อนใหญ่เพราะมีดอกเบี้ยเข้ามาสมทบด้วยนั่นเอง จนท้ายที่สุดเราก็จะเป็นหนี้จนไม่สามารถชำระคืนได้ หรือที่เรียกว่า “หนี้เกินตัว” นั่นเอง

           หากว่าเราไม่ต้องการจะเป็นอย่างที่ว่ามานี้ ก็แนะนำว่าให้จดบันทึกรายรับรายจ่ายของเราในแต่ละเดือน โดยให้จดทุกรายจ่ายจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่รายจ่ายเล็กน้อยขนาดห้าบาทสิบบาทก็ตาม  เมื่อครบเดือนก็มาตรวจดูว่า ในเดือนนั้นเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง และมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่เราใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งรายจ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นนี้หากเราตัดออกไปได้ ก็จะช่วยให้เรามีเงินเหลือมากขึ้น เพื่อนำไปใช้สร้างประโยชน์ให้กับตัวเราเองครับ

           ไม่มีเงินสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

           เหตุฉุกเฉินอาจจะไมได้เกิดบ่อยก็จริง แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุฉุกเฉินก็มักจะมีเรื่องของรายจ่ายตามมาอยู่เสมอ เช่น เราสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีมาโดยตลอด ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บมาเยี่ยมสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้เก็บสำรองเงินสำหรับรักษาพยาบาลไว้ เพราะไม่คิดว่าจะมีเจ็บป่วย แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ล้มป่วยหนัก ต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานเป็นเดือน ซึ่งเมื่อเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ต้องมีในส่วนของรายจ่ายตามมานั่นเอง และยิ่งเข้าพักรักษาเป็นระยะเวลานานแรมเดือนแบบนี้ ค่าใช้จ่ายก็คงจะมากเอาเรื่องเลยทีเดียว ซึ่งเราไม่ได้มีเงินสำรองเตรียมไว้เผื่อส่วนนี้ ก็ต้องมีอันไปหยิบยืมเงินจากคนอื่นเพื่อนำมาจ่ายค่ารักษาและค่าใช้จ่ายทั่วไปของเราและครอบครัวด้วย  ยิ่งยืมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นหนี้มากเท่านั้น หนี้ยิ่งมากกว่าจะใช้คืนหมดก็ใช้เวลานาน แต่หากโชคไม่ดีก็อาจจะเป็นหนี้เกินตัวขึ้นมาก็ได้ เป็นต้น เรื่องแบบนี้หากไม่เตรียมพร้อมรับมือไว้ ยามเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็อาจที่จะต้องอยู่ในสภาวะเป็นหนี้แบบไม่มีทางเลือกขึ้นมาก็ได้

           ทางที่ดีเราควรวางแผนเก็บออมเงินล่วงหน้าในส่วนนี้ให้ดี โดยอาจจะตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 6 – 10 เดือน ของรายจ่ายปกติในหนึ่งเดือนของเราก็ได้ เพื่อที่เมื่อเราเจ็บป่วยหรือเราไม่สามารถทำงานได้ เราจะได้มีเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในช่วงนี้โดยไม่เดือดร้อน รวมถึงอาจจะเก็บเงินสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาลไว้ด้วยก็ได้ เพื่อที่ยามเราป่วยจะได้มีเงินส่วนนี้ไว้จ่ายค่ารักษานั่นเอง

           ทั้งสองสาเหตุที่เรานำมาแนะนำกันในวันนี้ คือสาเหตุที่ทำให้หลายคนต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้ จนอาจจะถึงขั้นเป็นหนี้เกินตัวได้ หวังว่าที่เรานำมาเตือนกันในวันนี้จะช่วยเตือนใจให้พวกเรานั้นหันมารู้จักวางแผนการเงินและการเก็บออมเงินกันมากขึ้นนะ เพื่อต่อไปในอนาคตจะได้ไม่ลำบากครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.moneyguru.co.th