ข่าวแว่วมาว่าบ้านพี่หมื่นสุนทรเทวา อยู่ใกล้กับวัดไชยวัฒนาราม จะไปสั่งทำกะทะหรือว่าไปซื้อจีวรถวายพระที่ตลาด ก็ใช้เวลาเพียงไม่นานในการนั่งเรือไป แสดงว่าบ้านพี่หมื่นสุนทรเทวา ต้องอยู่ในพื้นที่ “ตัวเมือง” อยุธยาเป็นแน่ แต่ออเจ้าทั้งหลายรู้หรือไม่? ว่าจริงๆแล้ว “ยูเดีย” หรือยุธยาในสมัยนั้นมีบริบทเมืองเป็นแบบใด ตรงไหนคือจุดศูนย์กลางของเมือง?

‘อยุธยา’ คือ 1 ใน 16 เมืองใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

            จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชนชาติฝั่งตะวันตก เคยมีชื่อของ “เมืองอยุธยา” หรือ “ยูเดีย” ตามที่ชาวตะวันตกในสมัยนั้นเรียกกัน ปรากฎในการศึกษาเปรียบเทียบความรุ่งเรืองระหว่างมหานครนิวยอร์คในศตวรรษที่ 20, กรุงลอนดอนในทศวรรษที่ 1900, กรุงคอนสแตนติโนเบิล 600 ปี ก่อนคริสต์ศักราช และเมืองเจริโค เมื่อ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งชื่อของอยุธยา ได้ปรากฎออกมาในฐานะ เมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก คือ 1,000,000 คน ราวปี พ.ศ.2243 โดยเติบโตมากถึง 3 เท่าตัวจากในปี พ.ศ.2143 หรือประมาณ 100 ปี ซึ่งเป็นช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ ถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเป็นช่วงปีที่แม่การะเกดและพี่หมื่นสุนทรเทวาใช้ชีวิตอยู่ คือช่วงการเจริญเติบโตเกือบขีดสุดในสมัยอยุธยา หรือในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง (พ.ศ.2199-2231)

องค์ประกอบของเมืองพระนคร

ที่ตั้งของ ศูนย์กลางเมือง อยุธยา หรือจะเรียกว่าเป็น CBD ในขณะนั้นคือเกาะกรุงพระนครศรีอยุธยา มีภูมิประเทศเป็นเกาะมีแม้น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก (ทิศเหนือ), แม่น้ำเจ้าพระยา (ทิศตะวันตกและทิศใต้) และแม่น้ำลพบุรี (ทิศตะวันออก) ซึ่งที่กรุงศรีอยุธยามีรูปร่างเป็นเกาะได้พอเหมาะพอเจาะขนาดนั้น เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ได้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสายเพื่อรองรับในกาลสงคราม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปและเริ่มมีการค้าทางเรือจากต่างประเทศมากขึ้น อยุธยาจึงได้เป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านสภาพภูมิประเทศมากกว่าที่อื่น ชาวตะวันตกที่เข้ามาในสมัยนั้น เรียกขานอยุธยาว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” ซึ่งรูปแบบของภูมิประเทศในอยุธยา คือต้นแบบของเกาะรัตนโกสินทร์ของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนั่นเอง

            เกาะพระนคร มีการโอบล้อมชั้นนอกด้วยรั้วและป้อมปราการ จะเห็นได้ว่าเวลาหมื่นสุนทรเทวาต้องการไปที่ไหน ก็จะสั่งไอ้จ้อยว่าให้พายเรือไปทางประตูป้อมอะไร เช่นเดียวกับการเป็นถนนเส้นหลักเหมือนอย่างปัจจุบัน

            บริเวณศูนย์กลางภายในเมือง ด้านเทิศเหนือตอนกลางเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง โดยภายในประกอบไปด้วย ด้านทิศตะวันออกคือวังหลวง เป็นที่ตั้งของวังอุปราช ทิศตะวันคือที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ และยังมีพระที่นั่งเรือนไม้ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบประราชกรณียกิจต่างๆ

ด้านใต้ของที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง เป็นย่านที่อยู่อาศัยของขุนนาง เสนาบดี กระจุกตัวบริเวณสองฟากถนนและริมน้ำ ซึ่งเรือนของพระยาโกษา (ปาน) และหมื่นเรืองอยู่บริเวณนี้

            สำหรับเรือนของพระยาโหราธิบดี หรือพ่อของพี่หมื่นสุนทรเทวา ตั้งอยู่นอกเกาะพระนครในทิศตะวันตกบริเวณคลองแกลบ อยู่ห่างจากวัดไชยวัฒนารามแค่เพียงหนึ่งคลองเท่านั้น

ย่านชุมชนชาวต่างชาติและพาณิชยกรรม

ชุมชนชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่เกาะกลุ่มอาศัยอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ตามกลุ่มเชื้อชาติ อาทิ หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านอินเดีย เป็นต้น เนื่องจากใกล้กับท่าเรือสำเภาค้าขายต่างประเทศ โดยยังมีการบันทึกชื่อถนนตามแผนที่ Plan de Ville de Siam ว่ามี China Street อยู่ในบริเวณนั้นด้วย นอกจากนั้นยังมีบันทึกไว้ว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ มีคนกลุ่มต่างๆมากกว่า 20 ชาติภาษา

สำหรับย่านช้อปปิ้งที่แม่การะเกดไปเลือกช้อปที่ตลาดผ้าเหลือง ตลาดบ้านดินสอ หรือสั่งทำกระทะ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของถนนเส้นหลักของเมือง คือถนนเส้นกลางเมืองที่มาจากพระบรมมหาราชวังและถนนเส้นตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งเป็นลักษณะที่ตั้งศูนย์กลางเมืองที่ยังคงปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากตลาดที่เห็นผ่านตาจากในละครแล้ว ยังมีตลาดน้ำและตลาดอื่นอีกในตัวเมืองอยุธยา รวมกว่า 70 แห่ง

บ้านอยู่ในเมือง แต่ไปทำงานนอกเมือง

            ส่วนหนึ่งในพงศาวดารพันจันทนุมาศในสมัยพระนเรศว บอกว่าฝั่งศัตรูมีการตั้งกองทหารอยู่นอกพื้นที่ เพื่อไม่ให้ชาวพระนครออกมาทำนาได้ ซึ่งหมายความว่าคนในสมัยนั้น มีบ้านเรือนอยู่ในเขตเมือง แต่ออกไปทำงานนอกเมือง เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ที่ออกไปทุ่งประเชดหรือทุ่งหันตราเพื่อทำเกษตรกรรม แต่ออกไปเพีนงแค่วันหว่านข้าวและตอนเก็บเกี่ยว เนื่องจากในตอนนั้นยังไม่มีการส่งออกข้าว มีเพียงก็แต่ส่งไปให้จิ๋นซีฮ่องเต้ของจีนเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการเท่านั้น และเกษตรกรรมไม่ใช่อาชีพหลักของชาวอยุธยา

            โดยเราจะเห็นจากในละครว่า ชาวบ้านอยุธยาต่างก็มีการประกอบอาชีพหลากหลาย อาทิ ปั้นหม้อ ตีเหล็ก ตีมีด ทำเสื่อ ช่างไม้ ขายผัก เป็นต้น อีกทั้งในสมัยนั้นยังมีระบบทาส ทำให้แรงงานในอยุธยานั้นอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ได้มีอาชีพของใครของมันอย่างชัดเจน

สรุปว่ารูปแบบเมืองอยุธยาสมัยนั้น ศูนย์กลางเมืองคือที่ตั้งพื้นที่ราชการ​(พระบรมราชวัง) ที่อยู่อาศัยของชนชั้นสูง และพาณิชยกรรม แต่แหล่งงานนั้นอยู่บริเวณนอกเมือง ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบันที่มีที่อยู่อาศัยอยู่นอกเมือง และมีศูนย์กลางแหล่งงานอยู่ที่กลางเมือง

ออเจ้าคงจะเห็นกันจากในละครแล้วว่า ทั้งด้านสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และการฑูตในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์เริ่มเป็นสากลโลกมากขึ้น ทำให้มีการค้าขายกับชาวต่างชาติทางเรือสำเภา พร้อมมีการแลกเปลี่ยนความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ไปจนถึงเริ่มมีการส่งออกข้าว ซึ่งกลายเผ็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทยในปัจจุบัน “อยุธยา” หรือ “ยูเดีย” จึงเป็นที่จดจำในสายตาของชาวตะวันตกว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก - เทอร์ร่า บีเคเค

อ้างอิง :

https://www.silpa-mag.com

http://coursewares.mju.ac.th

http://thainationhistory.blogspot.com

https://www.matichon.co.th/

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก