เกิดกระแสเป็นระลอกกับภาระความเป็นห่วง Gen Y เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน แลดูแล้วคนรุ่นอื่นเหมือนจะทุกข์ร้อนมากกว่าคน Gen Y เสียอีก ตัวอย่างสถิติแสดงพฤติกรรมการใช้จ่าย Gen Y น่าตกใจ อาทิ  

  • สัดส่วนผู้ถือบัตรเปิดใหม่เป็น Gen Y มากกว่า 50% เฉลี่ยถือบัตรเครดิต 3 ใบต่อคน
  • ไตรมาส 1/60 Gen Y มีหนี้รวมกันสูงถึง 2.13 ล้านล้านบาท (จำนวน 5.4 ล้านคน) โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 29 ปี ที่มีหนี้สินสูงถึง 1.5 แสนบาทต่อคน ( สัดส่วน 20% เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน )
  • Gen Y เป็นตัวของตัวเอง ชอบใช้จ่ายตอบสนองความสุขแบบไม่พิจารณาถี่ถ้วน มักชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ 10% วนไปเรื่อย ๆ โดยยอมเสียดอกเบี้ย 20-28% ต่อปี กลายเป็นการติดกับดักบัตรเครดิต

         ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป TerraBKK มองว่าคงไม่เกินความสามารถที่เหล่า Gen Y จะลองมา ทำความเข้าใจพื้นฐานการเงินกันใหม่ ในสไตล์ Gen Y เป็นตนเองได้ ไม่ต้องฝืน แค่ปรับเล็กน้อยก็เห็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่าแล้ว เริ่มต้นจาก กฎทองของการเงินส่วนบุคคล นั้นคือ การแบ่งจ่ายตัวเองก่อนเสมอ “ pay yourself first ” ทุกครั้งที่มี “รายได้” เข้าบัญชีธนาคาร แบ่งจ่ายตนเองเป็น “เงินออมและการลงทุน” ก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ ส่วนที่เหลือค่อยนำไปเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่เรายินดีจ่ายออกไปให้กับผู้อื่น

 

  รายได้ - เงินออมเพื่อลงทุน = เงินใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ Gen Y  

          มองง่ายๆ นั้นก็หมายความว่า

  • รักษาระดับการใช้จ่ายแบบพอดี รายได้เพิ่ม เงินออมต่อเดือนเพิ่ม : Gen Y สไตล์ อนาคตของชาติ
  • รักษาระดับการใช้จ่ายแบบพอดี รายได้คงที่ เงินออมต่อเดือนคงที่ : Gen Y สไตล์ slow life มีความสุข
  • หาก ต้องการใช้จ่ายมากๆ ก็ควร เพิ่มรายได้ เพื่อรักษาระดับเงินออมคงที่ : Gen Y สไตล์ work/life balance
  • แต่ถ้าคุณคือ Gen Y ต้องการใช้จ่ายมาก ๆ แต่รายได้คงที่ กรณีมีเงินออมลดลงก็ยังดี แต่กรณีไม่มีเงินออมแถมยังเป็นหนี้ คุณคือ Gen Y สอบตก หมดอนาคต ชีวิตนี้จะไม่มีทางหลุดวงจรหนี้สิน อย่างที่เขาเป็นห่วงจริงๆ


           หากสังเกตดู จะพบว่า การบริหารเงินสไตล์ Gen Y นอกจากด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายแล้ว ยังประกอบไปด้วยด้านรายได้ และด้านเงินออมเพื่อการลงทุน ที่ส่งผลต่อฐานะการเงิน Gen Y อีกด้วย ดังนั้นเพียง Gen Y ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเงินด้านใดด้านหนึ่งกันสักนิด เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

  เพิ่มช่องทางรายได้สไตล์ Gen Y  

          Gen Y ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ชอบความเป็นอิสระ รักความสร้างสรรค์ ประกอบกับ ไลฟ์สไตล์เป็นตัวของตัวเอง Gen Y รู้ว่าตนเองชอบอะไร มองให้ดี ทั้งหมดนี้คือคุณสมบัติสำคัญในการมองหาอาชีพเสริมรายได้ยุคดิจิตอล 4.0 นี้ เลยทีเดียว

  • ขายของออนไลน์ สำหรับ Gen Y ที่มีหัวคิดการค้าและชอบการค้าขายผ่านช่องทาง Social เช่น Facebook , Instragram เป็นต้น
  • Freelance รับเขียนบทความ/กราฟฟิก สำหรับ Gen Y ถนัดเขียนขีด หรือ ชอบอ่านชอบออกแบบดีไซน์ รายได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคำต่อบทความราคา หรือ ประเภทการออกแบบ เป็นต้น
  • ถ่ายภาพขายออนไลน์ สำหรับ Gen Y กับอาวุธคู่กายเป็นกล้องถ่ายรูป สร้างพอร์ตภาพออนไลน์ขาย เช่น Shutterstock เป็นต้น รายได้ต่อดาวน์โหลด ขึ้นอยู่กับการให้ราคาของผู้ซื้อออนไลน์รายนั้น ๆ
  • รับหิ้วของ สำหรับ Gen Y รักการชอปปิ้งและป้ายเซลล์ ราคารับหิ้วสินค้าขึ้นอยู่กับขนาดของและการจัดส่ง เริ่มต้น 40-60 บาทต่อสินค้า เป็นต้น
  • ทำเพจรีวิว สำหรับ Gen Y ที่รักสินค้ากลุ่มใดเป็นพิเศษ และมีความเชี่ยวชาญจนคนอื่นให้ความเชื่อถือ เช่น รีวิวภาพยนตร์ , รีวิวอาหาร, รีวิวท่องเที่ยว, รีวิวเครื่องสำอาง เป็นต้น รายได้จะมาจากค่าโฆษณาสินค้าหรือร้านค้าที่นำมาลงในเพจ นั้นเอง

           แม้ไม่มีตัวเลขสถิติใดมาการันตี แต่เดาว่า มนุษย์เงินเดือน ยังเป็นอาชีพอันดับต้นๆที่เหล่า Gen Y บัณฑิตจบใหม่ จะเดินเข้าไปหา แม้ภาพลักษณ์ Gen Y ถูกตีความไปแล้วว่า ไม่อดทน ไม่จงรักภักดีต่อองค์กร ย้ายงานบ่อย ฯลฯ ก็อยากแนะนำว่า ก่อนตัดสินใจลาออก คุณได้เก็บ 2 ข้อต่อไปนี้ มาเรียบร้อยแล้ว

  • เก็บประสบการณ์จากคนเก่งในองค์กร มองหาไอดอลในที่ทำงาน แล้วสังเกตการทำงานของเขาคนนั้น กรณีไม่ได้รับการสอนโดยตรง จงใช้ วิธีครูพักลักจำ เก็บเล็กผสมน้อย เรียนรู้ไปเรื่อยในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเอง
  • เพิ่มเครดิตตัวเองจากชื่อเสียงบริษัท การรับเลือกเป็นพนักงานของบริษัทชั้นนำของประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย หากคุณได้รับสิทธิ์นั้นแล้ว จงเรียนรู้เพื่อสร้างผลงาน เพิ่มเครดิตตนเอง เก็บไว้ต่อยอดที่อื่น

  Gen Y ต้องลงทุน ถึงเวลาออมเงิน  

          ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า Gen Y ควรออมเงินมากน้อยแค่ไหนต่อเดือน วิธีที่ง่ายที่สุด คือ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือน เช่น 10% ถึง 15% ของรายได้ทุกเดือน เป็นต้น ยิ่งฐานเงินเดือนเพิ่ม เปอร์เซ็นต์เงินออมจึงควรเพิ่มตามไปด้วย แม้ Gen Y จะรู้เรื่องนี้แล้ว แต่ก็ทำได้ยาก ดังนั้น “ระบบตัดเงินอัตโนมัติ” คือคำตอบ ทันทีที่มีเงินเดือนเข้า มันจะถูกตัดไป บัญชีเพื่อการลงทุน หรือ บัญชีเงินออม ก่อนเสมอ


Gen Y ที่มีรายได้สูง มีแนวโน้มออมเงินในรูปแบบเงินฝากลดลง และสนใจลงทุนในกลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น
      • DCA หรือ Dollar Cost Average ปรับแนวการลงทุนตลาดหุ้นสไตล์ Gen Y จากแมงเม่าบินเข้ากองไฟ หวังรวยเร็ว เข้าออกผิดจังหวะ พบเจอปัญหาภาระข้อมูลล้น ฯลฯ ลองปิดจอแล้วเปิดข้อมูลวิเคราะห์ตัวธุรกิจจริง ๆ จนได้คำตอบว่า “ฉันจะเป็นเจ้าของธุรกิจนี้” จากนั้น ทยอยลงทุนเป็นงวด ในจำนวนเงินที่เท่ากันทุกงวด โดยไม่สนใจราคาของหุ้นว่าจะขึ้นหรือลงมากน้อยเพียงใด แล้วรอดูผลลัพธ์ที่ตามมากัน

ขณะที่ Gen Y ที่มีรายได้ต่ำ จะสนใจกลุ่มที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก ความเสี่ยงต่ำ การลงทุนไม่ยุ่งยากซับซ้อน
       • ฝากเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เช่น บัญชีเงินฝากประจำ ต้องฝากทุกเดือนเพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยสูง หรือ สลากออมสิน ลักษณะฝากเงินประจำระยะตามกำหนด อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ แถมลุ้นรางวัลได้ทุกเดือน เป็นต้น

  ใช้จ่ายสไตล์ Gen Y ไม่ต้องฝืน แค่ปรับนิดหน่อย  

          สินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด คือ ตัวเราเอง จึงไม่แปลกที่พฤติกรรมการใช้จ่าย Gen Y จะเป็นไปเพื่อเพิ่มประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ของตนเองจากสินค้าหรือสถานที่ต่าง ๆ จงเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องฝืน แค่ปรับวิธีเรียกสติ Gen Y กลับมามองดู “ความสมดุลของรายได้และค่าใช้จ่าย” ของตนเองเสียก่อน เช่น

“ เงินเดือน 20,000 บาท เวลางาน 176 ชม.ต่อเดือน (= 22วัน x 8ชม)
เฉลี่ยรายได้ 114 บาทต่อชม. ( = 20,000/176)
แสดงว่า การกินบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างราคา 500 บาทในเวลาชั่วโมงครึ่ง ต้องแลกกับการทำงานครึ่งวัน ”

ครั้งคราวคงพอไหว หากบ่อยครั้งเกินไป ลองดึงสติการใช้จ่ายกลับมาตามสไตล์ Gen Y เช่น

Gen Y สายชอป

  •  อะไรใหม่ ๆ ต้องซื้อมาครอบครอง ไม่ต้องฝืดใจเลิกซื้อ ลองปรับด้วยวิธี ขายของเก่า เพิ่มเงินอีกนิด ได้ของใหม่ ช่องทางขายต่อสินค้ามือสองออนไลน์มีเยอะแยะ ไม่ยากเกินความสามารถ Gen Y แน่นอน
  • ช้าแต่ชัวร์ ขออ่านข้อมูลเปรียบเทียบความคุ้มค่าสุด ๆ Gen Y กับปัญหาข้อมูลล้น ลองปรับการค้นหาข้อมูลยิงตรงไปที่ผลการใช้งานจริง เช่น รีวิวเปรียบเทียบ กระทู้ความคิดเห็นของผู้ใช้ เป็นต้น

Gen Y สายรูดบัตร

  • การใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตไม่ผิด แต่ผิดที่ Gen Y ใช้แล้วไม่มีเงินจ่ายหนี้บัตรเครดิต เรียกว่าความสามารถในการบริหารจัดการเงินต่ำ ถ้ามองว่าบัตรเครดิตคือการใช้เงินอนาคตและควบคุมไม่ได้ ลองปรับและกลับมาใช้ “บัตรเดบิต” ใช้จ่ายได้จริงตามจำนวนเงินในบัญชี ช่วยจำกัดการใช้จ่าย Gen Y ได้ เงินส่วนอื่น ๆ จะได้ไม่ต้องมารับภาระหนี้บัตรเครดิตแทนด้วย

Gen Y สายเที่ยว

  • Gen Y ชอบการท่องเที่ยว เพราะทำให้มองเห็น “การเปลี่ยนแปลงของโลก” และ “ความต่างของแต่ละสถานที่” มากกว่าค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ก็คือ ช่องทางเพิ่มรายได้ ลองประยุกต์ความสามารถตามสไตล์ Gen Y ดูสิ เช่น ถ่ายภาพขายออนไลน์ เขียนรีวิวร้านอาหารเด็ด หรือ ไอเดียสร้างธุรกิจเจ๋ง ๆ เป็นต้น


           ท้ายนี้ TerraBKK มองว่า Gen Y ยังอยู่ในช่วงวัยอายุไม่มาก ยังมีภาระไม่สูง จึงมีความกล้าในการสร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ตนเอง มากกว่าคนกลุ่มอื่น แต่สิ่งที่ Gen Y ขาด คือ ประสบการณ์ของคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินก็เช่นกัน แก่ตัวไม่มีเงินออมแถมยังมีประวัติหนี้เสีย เอาแค่นี้ เชื่อว่า Gen Y ก็มองออกว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร และ ยังยืนยันคำเดิมว่า บริหารเงินสไตล์ Gen Y เป็นตนเองได้ ไม่ต้องฝืน แค่ปรับเล็กน้อยก็เห็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่าแล้ว  ---TerraBKK 

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก