สรุป ผลประกอบการ ปี 2559 กลุ่มวัสดุก่อสร้าง พบว่า ตัวเลขรายได้และกระแสเงินสดสุทธิสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มปูนซีเมนต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ คือ ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) แต่ตัวเลขด้านกำไรอย่างอัตรากำไรสุทธิ ( Net Profit Margin : NPM) ,อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) และ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) กลับเป็นกลุ่มกระเบื้องเซรามิค นั้นคือ ไดนาสตี้เซรามิค(DCC) ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน สะท้อนความเสี่ยงด้านสัดส่วนทุน เห็นจะเป็น ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC) ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และ อุตสาหกรรมพรมไทย (TCMC) ที่เพิ่มขึ้นราว 40% จากปีก่อน

TerraBKK Research สังเกตการณ์บริษัทมหาชนกลุ่มอุตสาหกรรม “วัสดุก่อสร้าง ” จำนวน 19 บริษัท เปรียบเทียบพื้นฐานด้านราคา พบว่า บริษัทกลุ่มวัสดุก่อสร้างมี market cap. (ราคาปิดของหุ้น X ปริมาณหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์) ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ในช่วง 2,200 -32,500 ล้านบาท แต่ก็มี ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) สูงกว่าปกติด้วยขนาด 6.43 แสนล้านบาท ขณะที่ อัตราส่วน P/E (การเปรียบเทียบราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นสามัญตัวนั้น ๆในรอบ 12 เดือน) เฉลี่ย 11.1-21.4 เท่า แต่ก็มี ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี(CCP) สูงถึง 145.1 เท่า อัตราส่วน P/BV (การเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อมูลค่าทางบัญชีของหุ้นสามัญตัวนั้น ๆ) เฉลี่ย 1.4-2.8เท่า แต่ก็มี ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) สูงถึง 8.71 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน (การเปรียบเทียบเงินปันผลต่อหุ้นเทียบกับราคาตลาดของหุ้นสามัญตัวนั้น ๆ) เฉลี่ย 1.5-5% โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีอัตราปันผลสูงสุด 3 อันดับแรก จะเป็น พรีเมียร์ โพรดักส์(PPP) 6.49% , ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC) 5.54% และผลิตภัณฑ์ตราเพชร(DRT) 5.08%

TerraBKK Research รวบรวม ผลประกอบการปี 2559 ของกลุ่มอุตสาหกรรม “วัสดุก่อสร้าง ”จำนวน 19 บริษัทประกอบด้วยตัวเลขและอัตราส่วนทาการเงิน ได้แก่ รายได้ (Revenue) ,อัตรากำไรสุทธิ (NPM) ,กำไรต่อหุ้น (EPS) , เงินสดสุทธิ (Net Cash Flow ) , อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE),อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และหนี้สินต่อทุน ( D/E ) รายละเอียดดังนี้ 1. รายได้ (Revenue) ของกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ปี2559 ที่ผ่านมา TerraBKK Research พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มียอดขายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทที่สามารถทำรายได้สูงโดดเด่นของกลุ่ม ยังคงเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซิเมนต์ ได้แก่ ยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่างปูนซิเมนต์ไทย(SCC) และ 2 อันดับถัดมาคือ ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC)และ ทีพีไอ โพลีน(TPIPL) ขณะที่บริษัทที่มีเปอร์เซ็นต์รายได้ลดลงสูงสุด ได้แก่ ทิปโก้แอสฟัลท์(TASCO) ที่ปรับตัวลดลงกว่า 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2.อัตรากำไรสุทธิ ( Net Profit Margin : NPM)ปี 2559 ของอุตสาหกรรมนี้ โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอัตรากำไรสุทธิราว 9.04% โดย 3 อันดับแรกที่มีอัตราส่วนกำไรสุทธิดีที่สุด ได้แก่ ไดนาสตี้เซรามิค(DCC)19.8% ทักษิณคอนกรีต(SCP)16.5% และ อีสเทิร์นโพลีเมอร์(EPG)15.2% ขณะเดียวกัน TerraBKK Research สังเกตพบบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิก้าวกระโดดมากที่สุด คือ วิค แอนด์ ฮุคลันด์(WIIK) และบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ (Q-CON) ที่มีตัวเลขกลับมาติดลบ (-7.2%) 3. กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS)สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ในช่วงปี 2559 นี้มีทั้งตัวเลขที่ปรับตัวดีขึ้นและแย่ลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ TerraBKK Research เห็นบริษัทที่มีตัวเลขกำไรต่อหุ้น ปี 2559 สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) 46.74 บาทต่อหุ้น อันดับถัดมาคือ ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC) 17.02 บาทต่อหุ้น และ ทิปโก้แอสฟัลท์(TASCO) 2.01บาทต่อหุ้น

4. อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) ปี 2559 ของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ มีค่าเฉลี่ยราว 15.7% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน TerraBKK Research พบว่า บริษัทที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหโมเสคอุตสาหกรรม(UMI), ผลิตภัณฑ์ตราเพชร(DRT), อุตสาหกรรมพรมไทย (TCMC) ขณะเดียวกัน บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง 3 อันดับแรก ได้แก่ ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์(Q-CON), ทีพีไอ โพลีน(TPIPL) ที่ไม่สามารถทำตัวเลขกลับมาเป็นบวกได้ รวมทั้ง ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) 5. อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA)ของกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างนี้ TerraBKK Research พบว่า โดยภาพรวมปี 2559 มีค่าเฉลี่ยราว 10.47% สำหรับ 3 อันดับแรกที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สูงสุด ได้แก่ ไดนาสตี้เซรามิค(DCC),ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO)และทักษิณคอนกรีต(SCP) โดยสหโมเสคอุตสาหกรรม(UMI) ปรับตัวเพิ่มสูงสุด และ ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์(Q-CON) ปรับตัวลงแรงที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

6. เงินสดสุทธิ (Net Cash Flow ) แสดงการเคลื่อนไหวของเงินทุนผ่านการดำเนินงานของบริษัททั้ง 3 กิจกรรม อันได้แก่ กิจกรรมดำเนินงาน ,กิจกรรมลงทุน,กิจกรรมจัดหาเงิน โดยบริษัทที่มีเงินสดสุทธิโดดเด่นได้แก่ ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ที่สามารถพลิกกลับมาเป็นตัวเลขบวก 11.63 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หากผลลัทธ์ออกมาเป็นตัวเลขติดลบ TerraBKK Research อธิบายว่า ขณะนั้นบริษัทมีสถานะเงินสดไหลออกมากกว่าเงินสดไหลเข้า จุดนี้เองอาจส่อสัญญาณขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานได้ ซึ่งพบว่า 3 อันดับแรกที่มีตัวเลขเงินสดสุทธิติดลบมากที่สุด ได้แก่ ไดนาสตี้เซรามิค(DCC), ทักษิณคอนกรีต(SCP) และ วนชัย กรุ๊ป(VNG) สาเหตุมาจากกิจกรรมจัดหาทุน เช่น เงินปันผลจ่าย เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมลงทุน เช่น เงินสดจ่ายจากการซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เป็นต้น 7. หนี้สินต่อทุน ( Debt to Equity : D/E )ของกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ปี 2559 นี้ส่วนใหญ่มีค่าไม่เกิน 2 เท่า ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ แต่ก็มี 2 บริษัทที่สังเกตเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นั้นคือ ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC) ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และ อุตสาหกรรมพรมไทย (TCMC) ที่เพิ่มขึ้นราว 40% จากปีก่อน --เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKKเคล็ดลับการลงทุน TerraBKKค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก