เผยทำเลทองย่านสุขุมวิทจากต้นถนนไปจนสุดเอกมัยยังน่าจับ ราคาที่ดินเฉลี่ยในช่วง 5 ปีพุ่งทะยานเท่าตัวเหตุได้ปัจจัยรถไฟฟ้าหนุนส่ง ขณะลำลูกกา หนองจอก บางไทร สุดเฉาราคาไม่ขยับหมด นักลงทุนเมินพัฒนา นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยถึงผลสำรวจวิจัยของศูนย์วิจัยข้อมูลและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยเกี่ยวกับทำเลทองที่น่าลงทุนและไม่น่าลงทุน เปรียบเทียบราคาที่ดินในรอบ 5 ปีล่าสุดคือ พ.ศ.2551-2556 ว่าบริเวณ 10 ทำเลทองที่น่าลงทุนในเขตกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ถนนสุขุมวิทช่วงต้นบริเวณแถวอาคารไทม์สแควร์ ซึ่งในปี 2551 ราคาที่ดินขนาด 4 ไร่ ตกไร่ละ 240 ล้านบาท หรือตารางวาละ 600,000 บาท แต่มาถึงปี 56 ราคาเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 600 ล้านบาทหรือตารางวาละ 1,500,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 150% อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของย่านการค้าปลีกและย่านธุรกิจสำนักงานที่ขยายตัวมาจากสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิตและนานาตามแนวรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับพื้นที่ย่านใกล้เคียงตลอดแนวถนนสุขุมวิทที่ประกอบด้วยถนนวิทยุ แถวบ้านพักทูตอเมริกัน ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจากตารางวาละ 650,000 บาทในปี 51 เป็น 1,400,000 ล้านบาทในปี 56 หรือเพิ่มขึ้นถึง 115% ถนนสุขุมวิทบริเวณสถานีขนส่งเอกมัย, บริเวณสุขุมวิทซอย 21 และ ถนนสุขุมวิท แถวบางจากตรงข้ามซอยสุขุมวิท 62 ส่วนพื้นที่อื่นๆ ประกอบด้วยบริเวณสยามสแควร์ ที่มีราคาแพงที่สุดคือ 1,600,000 บาท/ตารางวาในปี 56 เพิ่มจาก 800,000 บาทในปี 51 หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวในรอบ 5 ปี ถนนพหลโยธินช่วงต้นแถวซอยอารีย์ ราคาที่ดินบริเวณนี้พุ่งกระฉุด 100% ในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับ ถนนสีลม และถนนพญาไทที่ดินบริเวณนี้ราคายังคงก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีที่ ผ่านมาจากการที่รถไฟฟ้าบีทีเอสพาดผ่านและทำให้เกิดการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยกันมากขึ้น เช่นเดียวกับถนนอโศก-ดินแดง ระหว่างโบสถ์แม่พระ-ช่วงแยก อสมท.ซึ่งที่ดินบริเวณนี้ราคาถีบขึ้นมาเป็นเท่าตัวจาก 180,000 บาทเป็น 350,000 บาทต่อตารางวา เพราะเป็นทำเลที่ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน “โดยสรุปแล้วทำเลที่ราคาที่ดินพุ่งกระฉูด คือทำเลที่มีรถไฟฟ้าผ่าน ไม่ว่ารถไฟฟ้าใต้ดินหรือบนดินก็ตาม และตั้งอยู่ใจกลางเมืองเป็นหลัก ดังนั้นใครจะลงทุนในที่ดินต้องติดแนวรถไฟฟ้า หรือใกล้แนวเป็นสำคัญเท่านั้น” ด้านทำเลที่ดินรุ่งริ่งหรือทำเลอันตรายนั้น ประกอบด้วย 1. ถนนเลียบคลอง 13 ลำลูกการาว กม.5 เดิมบริเวณนี้ เมื่อปี 2551 ตก ตร.ว.ละ 3,000 บาท หรือไร่ละ 1.2 ล้านบาท แต่ ณ ปี 2556 กลับลดลงเหลือ ตร.ว.ละ 2,500 บาท หรือไร่ละเพียง 1 ล้านบาท เพราะแถวนี้ไม่มีโครงการสาธารณูปโภคใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือรถไฟฟ้าทำให้ราคาที่ดินไม่ขยับ 2.บริเวณตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบาง-ไทร ราคาที่ดินลดลงจากตารางวาละ 5,000 บาท เหลือ 4,600 บาท หรือลดลง 8% จากบรรดาข้อจำกัดในการก่อสร้างต่างๆ เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร 3. หนอกจอกบริเวณนี้ก็แทบไม่มีโครงการสาธารณูปโภคใหม่ใดๆ ราคาที่ดินจึงลดลงจาก 11,500 บาทในปี 51 เหลือเพียง 11,000 บาทในปี 56 และ 4.บางนา-ตราด กม.36 ซึ่งอยู่ไกลเกินกว่าจะทำบ้านจัดสรรราคาที่ดินจึงคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง 5. พื้นที่ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว กม.16 ถือว่าตั้งอยู่ในทำเลที่ยังอยู่ไกลโพ้นจากกรุงเทพมหานครราคาที่ดินก็ไม่ขึ้นเลยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 6.พื้นที่เลียบคลองระพีพัฒน์ที่ถือว่าอยู่ไกลเกินไป “การจะลงทุนซื้อที่ดินใดๆ นักลงทุนจึงต้องศึกษาให้ดีว่าประวัติการเปลี่ยนแปลงราคาเป็นอย่างไรบ้าง หากเปลี่ยนแปลงในทางบวกสูงก็จะยังมีแนวโน้มไปทางนั้น บริเวณใดเปลี่ยนแปลงในเชิงลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น ก็ไม่น่าลงทุน เพราะจะไม่เกิดการงอกเงยของราคานั่นเอง และยิ่งกว่านั้นควรศึกษาเพิ่มเติมว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาใหม่ๆ ที่จะเพิ่มพูนมูลค่าหรือไม่นั่นเอง ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูข้อมูลในเว็บไซต์ www.area.co.th ได้”. ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์