TerraBKK Research ได้รวบรวมผลประกอบการกลุ่ม “บรรจุภัณฑ์ (Packaging)” ประจำไตรมาส 2 ปี 2559 ย้อนหลังไปจนถึงปี 2555 โดยในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 17 บริษัท ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยตัวเลขทางการเงินที่เราได้รวบรวมมา ได้แก่ รายได้ อัตรากำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนจากส่วนของสินทรัพย์ อัตรากำไรต่อหุ้น และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ตัวเลขเหล่านี้มีจุดประสงค์ในการบอกถึงสถานะการดำเนินงานที่แตกต่างกันซึ่งจะช่วยให้ท่านที่สนใจติดตามผลการดำเนินงานได้รู้ถึงการเติบโตของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันว่าบริษัทใดสามารถสร้างผลประกอบการได้ดีเมื่อเทียบกับในอดีต สำหรับผลการดำเนินงานปี Q2/2559 มีรายละเอียดดังนี้

รายชื่อบริษัทในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ซื้อขายในตลาด SET

  • AJ : เอ.เจ.พลาสท์
  • ALUCON : อลูคอน
  • CSC : ฝาจีบ
  • NEP : เอ็นอีพี
  • NPP : นิปปอน แพ็ค(ประเทศไทย)
  • PTL : โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย)
  • SITHAI : ศรีไทยซุปเปอร์แว
  • SLP : สาลี่ พริ้นท์ติ้ง
  • SMPC : สหมิตรถังแก๊ส
  • SPACK : เอส. แพ็ค แอนด์ พริ้นท์
  • TCOAT : อุตสาหกรรมผ้าเคลือบพลาสติกไทย
  • TFI : ไทยฟิล์มอินดัสตรี่
  • THIP : ทานตะวันอุตสาหกรรม
  • TMD : อุตสาหกรรมถังโลหะไทย
  • TOPP : ไทย โอ.พี.พี. จำกัด (มหาชน)
  • TPBI : ทีพีบีไอ
  • TPP : ไทยบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์

จากผลประกอบการกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ประจำไตรมาส 2 ปี 2559 TerraBKK Research พบว่า หลายบริษัทมีรายได้เพิ่มมากขึ้น กำไรเติบโต อัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยบริษัทที่มีการเติบโตต่อเนื่อง คือ TMD, CSC และ THIP

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้ (Revenue) จากการสำรวจรายได้กลุ่มบรรจุภัณฑ์ TerraBKK Research พบว่า บริษัทที่มีการเติบโตของรายได้สูงที่สุด คือ NPP (+122.84% Y-o-Y), SMPC (+31.64% Y-o-Y) และ THIP (+19.99% Y-o-Y) ตามลำดับ ถ้าดูในประเด็นความต่อเนื่องของการเติบโตรายได้ของไตรมาส 2 เทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า NPP, THIP, CSC, TOP, TMD และ NEP มีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM) หลายบริษัทในกลุ่มบรรจุภัณฑ์มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นโดยบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 10% ได้แก่ SMPC, ALUCON, TMD, CSC, PTL และ THIP โดย TMD เป็นบริษัทที่มี NPM ไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทยิ่ง ROA มีค่ามากแสดงว่าบริษัทสามารถนำสินทรัพย์ที่ตนเองมีอยู่นำมาสร้างผลตอบแทนได้มากบริษัทที่มี ROA มากกว่า 10% ได้แก่ SMPC, THIP, ALUCON, CSC, TMD และ TPBI โดย SMPC, THIP และ CSC มีแนวโน้ม ROA สูงขึ้น

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) เป็นตัวชี้วัดถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นยิ่งตัวเลขมากยิ่งดีบริษัทที่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนมากกว่า 10% ได้แก่ SMPC, THIP, ALUCON, TPBI, CSC, TMD และ TOPP โดย ROE ­ของ SMPC, THIP, ALUCON, TPBI และ CSC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) กำไรต่อหุ้นเป็นอัตราส่วนที่บอกถึงผลตอบแทนของกำไรสุทธิต่อหนึ่งหุ้นบริษัทที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิมากก็จะแสดงถึงความสามารถในการรับรู้กำไรต่อหนึ่งหุ้นที่มากขึ้นด้วยดังนั้นเราจะให้ความสำคัญกับการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเป็นหลัก จากการสังเกตกำไรต่อหุ้น TerraBKK Research พบว่า หลายบริษัทมีกำไรต่อหุ้นเติบโตขึ้นเกือบทุกบริษัทล้อไปกับรายได้ที่เติบโตบริษัทที่มีการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) มากกว่า 10% และมี EPS Growth ต่อเนื่องได้แก่ TCOAT (+212% Y-o-Y), CSC (+63.76% Y-o-Y) และ TMD (+13.04% Y-o-Y)

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

หนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) อัตราหนี้สินต่อทุนควรอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการระดมทุนจากส่วนของหนี้สินมากๆจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินค่อนข้างมากและมีความเสี่ยงมากกว่านอกจากนั้นบริษัทที่มีหนี้สินมากๆจะไม่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ทำให้บริษัทต้องหันมาระดมทุนจากผู้ถือหุ้นผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุนส่งผลให้จำนวนหุ้นมากขึ้นถ้าบริษัทเอาเงินเพิ่มทุนไปแต่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ดีจะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นลดลงจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่ชอบให้กำไรต่อหุ้นของตนเองลดลงในที่สุดมันจะถูกสะท้อนออกมายังราคาหุ้นที่ลดลง สำหรับกลุ่มบรรจุภัณฑ์ไม่มีบริษัทใดเลยที่มี DE Ratio มากกว่า 2 เท่า - เทอร์ร่า บีเคเค

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช้ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนหักต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก