สมาคมไทยรับสร้างบ้าน เผยผลสำรวจตลาดครึ่งปีแรก ยังทรงตัวหลังตลาด Q1-2 ขยายตัวเพียง 2% ชี้ครึ่งปีหลังความเชื่อมั่นลูกค้าฟื้น ผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มอัดแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อ-เร่งการตัดสินใจสร้างบ้าน เชื่อครึ่งปีหลังตลาดกลับสู่ปกติ ระบุผู้ประกอบการ 60% เน้นตลาด กทม.-ปริมณฑล ส่งผลรับเหมารายย่อย-ท้องถิ่นยังแชร์ตลาดรวมสูงถึง 80% เตือนปัจจัยลบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แนะปรับตัวใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูปลดพึ่งพาแรงงานก่อสร้าง คุมต้นทุน

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) กล่าวว่า จากการสำรวจตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 พบว่าความต้องการสร้างบ้านใหม่และกำลังซื้อของผู้บริโภคยังทรงตัวในระดับเดิม โดยมีอัตราการเติบโตที่ 2% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกข้อมูลตามภูมิภาคพบว่ามูลค่าตลาดภาคกลางมีการขยายตัวมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคอีสาน และภาคเหนือ ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าตลาดภาคใต้และกรุงเทพฯ ยังชะลอตัวหรือขยายตัวน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายไตรมาส 2 ปริมาณและมูลค่าตลาดในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ค.) ซึ่งน่าจะมีปัจจัยมาจากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ซึ่งช่วยกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งนับจากที่มีการชะลอตัวไปตั้งแต่ปลายปี 2556

การแข่งขันบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ 5 อันดับ สมาคมฯ พบว่ามีการใช้สื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ ทีวี สื่อกลางแจ้ง และสื่อออนไลน์ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสสอง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงเริ่มจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการรับรู้กับกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่ภาพการแข่งขันของรายเล็กรายกลางไปซึมอยู่”

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 สมาคมฯ ประเมินว่าเฉพาะกลุ่มบ้านสร้างเองระดับราคา 1.5 ล้านบาทขึ้นไป จะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3-3.5 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านหรือ “กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน” ที่แข่งขันในธุรกิจนี้กว่า 120 รายทั่วประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดครึ่งปีแรกประมาณ 20% คิดเป็นมูลค่า 6-7 พันล้านบาท อีก 80% ยังเป็นของผู้รับเหมาท้องถิ่นและผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป

ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้รับเหมาท้องถิ่นและรับเหมารายย่อย ยังแชร์ตลาดบ้านสร้างเองสูงถึง 80% เนื่องจากผู้บริโภคสะดวกที่จะติดต่อ และใช้บริการกับผู้รับเหมาที่อยู่ในพื้นที่มากกว่าใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่มีสำนักงานและจับตลาด กทม.และปริมณฑล เพียงอย่างเดียว โดยผู้ประกอบการสร้างบ้านในปัจจุบันกว่า 60% หรือประมาณ 70-80 ราย ยังทำตลาดอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถขยายการให้บริการสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ ในขณะที่อีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ มีบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพเปิดดำเนินการในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเพียง 40-50 รายเท่านั้น

นายสิทธิพร กล่าวถึงแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีหลังว่า ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลังความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมา ขณะที่ผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมการตลาดกระตุ้นและเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนที่ชะลอสร้างบ้านมาตั้งแต่ปลายปี 2556 เริ่มกลับมาตัดสินใจสร้างบ้านเพิ่มมากขึ้น จาก 3 ปัจจัยข้างต้นนี้ ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เป็นโอกาสดีทั้งของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดในรอบ 9 เดือน ก่อนที่ต้นทุนก่อสร้างและราคาบ้านจะมีการปรับราคาขึ้นอีกครั้ง โดยสมาคมฯ ประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับความเสี่ยงไว้ คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่ส่งผลต่อต้นทุน และความล่าช้าในการก่อสร้างของผู้ประกอบการ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนำระบบก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการใหญ่ ที่เริ่มหันมาพัฒนาระบบการก่อสร้างบ้านโครงสร้างสำเร็จรูปหรือพรีคาสท์มากขึ้น ซึ่งมีทั้งตั้งโรงงานผลิตเองและจับมือกับพันธมิตรธุรกิจ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานก่อสร้างจำนวนมาก ขณะที่รายเล็กและรายกลางที่ไม่สามารถพัฒนาสู่ระบบก่อสร้างสำเร็จรูปได้ ก็จำเป็นต้องลดปริมาณรับงานสร้างบ้านให้น้อยลง และหันไปเจาะกลุ่มตลาดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น เช่น เน้นดีไซน์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะ เน้นการสร้างบ้านหลังใหญ่มากขึ้น

ที่มา : สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA)