ขึ้นศักราชใหม่ มนุษย์เงินเดือนหลายท่าน อาจผิดหวังจากการได้รับโบนัสก้อนใหญ่ หลายๆ โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ บางแห่งมีการลดคน ลดงาน งดโอที อันเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่สู้จะดีนัก หรือการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นสาเหตุหรือปัจจัยให้ต้องรักษาสถานภาพของบริษัท เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากร จนเป็นเหตุให้เกิด "การเลิกจ้าง" นั่นเอง

ตามกฎหมายแรงงานแล้ว หากนายจ้างมีเหตุจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง อันเนื่องมาจาก 1. กรณีย้ายฐานการผลิตของสถานประกอบการไปยังแห่งใหม่ อันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้างและครอบครัว
  • นายจ้างจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนย้ายสถานประกอบการ ถ้าลูกจ้างไม่ต้องการทำงานต่อ สามารถบอกเลิกสัญญาการจ้างงานได้ และนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยอัตราร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึ่งมีสิทธิ์จะได้รับ
  • หากนายจ้างไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนการย้ายสถานประกอบการ จะต้องมี การจ่ายค่าชดเชย เป็นกรณีพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน
2. กรณีเลิกจ้างอันเนื่องมาจากปรับปรุงระบบการทำงาน กระบวนการผลิต อันเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง
  • นายจ้างจะต้องแจ้งวันที่เลิกจ้าง เหตุผลที่เลิกจ้าง และรายชื่อผู้ที่ถูกเลิกจ้าง ให้นายจ้างและผู้ตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน
  • แต่หากนายจ้างไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าตามที่ระบุ จะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับอัตราค่าจ้าง 60 วันสุดท้ายของการทำงาน
นอกจากค่าชดเชยพิเศษที่จ่ายแทนการบอกกล่าวแล้วนายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่มเติม ในกรณี ดังนี้
  • กรณีลูกจ้างทำงานครบ 6 ปีขึ้นไป จะต้องจ่ายค่าชดเชยในอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 15 วัน ต่อการทำงาน 1 ปีหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงาน 1 ปี ซึ่งค่าจ้างพิเศษนี้คำนวณแล้วต้องไม่เกินอัตราค่าจ้างสุดท้าย 360 วัน
  • และเพื่อประโยชน์ต่อการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาของการทำงานที่เกิน 180 วัน ให้นับเป็น 1 ปี
ข้อยกเว้นกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มีดังนี้
  1. ลูกจ้างมีความประสงค์ลาออกเอง
  2. ทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดทางอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  3. จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  4. ประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  5. ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบการทำงาน หรือขัดคำสั่งอันชอบธรรมด้วยกฎหมาย และนายจ้างได้มีการตักเตือนด้วยหนังสือแล้ว สำหรับความผิดบางกรณี ไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกินระยะเวลา 1 ปี
  6. ละทิ้งหน้าที่เป็นระยะเวลา 3 วัน ด้วยเหตุอันไม่สมควร
  7. ได้รับโทษพิพากษาหรือจำคุก
  8. กรณีการจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน และนายจ้างมีการเลิกจ้างเนื่องจากสิ้นสุดสัญญาการทำงาน
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน บทความโดย TerraBKK ค้นหา บ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก