รูปแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นจะขอแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ตามสภาพการพึ่งพิงเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 อยู่อย่างอิสระ ไม่พึ่งพิง (Independence Living หรือ Active Aging)

  • กิจวัตรประจำวันทำได้ปรกติ
  • ไม่จำกัดพื้นที่

กลุ่มที่ 2 อยู่อย่างพึ่งพิง (Assisted Living)

  • ต้องพึ่งพิง(คนดูแล+ อุปกรณ์) กิจวัตรประจำวันต้องช่วยเหลือ
  • จำกัดพื้นที่

กลุ่มที่ 1 อยู่อย่างอิสระ ไม่พึ่งพิง (Independence Living : IL) มี 3 รูปแบบ คือ 1. การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม (Home Remodeling)

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมเดิม ที่อยู่อาศัยเดิม การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมให้มีความสะดวกและปลอดภัยจึงมักจะเป็นทางเลือกแรกๆสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับปรุง ห้องนอน และห้องน้ำ เช่นการย้ายห้องนอนลงมานอนชั้นล่าง การปรับพื้นห้องนอนให้เรียบเสมอกัน ใช้วัสดุที่นุ่ม พื้นผิวไม่ลื่น-สีอ่อนดูสบายตา และการปรับปรุงห้องน้ำเดิมโดยปรับพื้นให้เรียบเสมอกัน ใช้วัสดุพื้นผิวไม่ลื่น เพิ่มราวจับ ปรับสุขภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่นม้านั่งอาบน้ำ เป็นต้น

หมายเหตุ : ความต้องการในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ที่สุดราว 85-95 %ของตลาด 2. ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (DAY CARE)

การดูแลผู้สูงอายุชนิดนี้ เป็นการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะในเวลากลางวัน คือ ผู้สูงอายุยังคงพักอาศัยอยู่กับครอบครัวของตนเองตามปกติ ช่วงเช้าก็จะเดินทางมา (หรือเจ้าหน้าที่ไปรับที่บ้าน) ที่ศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างที่อยู่ในศูนย์ก็จะได้รับการดูแลในด้านต่างๆ เช่น บริการการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในและนอกสถานที่ การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมบันเทิงต่างๆ การทำกิจกรรมทางศาสนา การจัดกิจกรรมพักผ่อนและการสร้างสังคมระหว่างหมู่เพื่อน ฯลฯ และเมื่อถึงเวลาเย็น ผู้สูงอายุก็จะถูกส่ง (หรือญาติมารับ) กลับไปอยู่บ้านตนเอง

3. ที่อยู่อาศัยในชุมชนผู้สูงอายุ (Retirement Community)

ชุมชนผู้สูงอายุแบบนี้ เป็นชุมชนของผู้สูงอายุที่ยังมีสภาพร่างกายแข็งแรงอยู่ ยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามสมควร ลักษณะเด่นของชุมชนคือ ที่พักอาศัยในชุมชนสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในวัยสูงอายุให้อยู่ในโครงการเดียวกัน โดยทั่วไปจะรับผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามหากญาติมิตรที่อายุน้อยกว่านี้จะมาพักอาศัยด้วยก็จะช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้โครงการ

กลุ่มที่ 2 อยู่อย่างพึ่งพิง (Assisted Living : AL) มี 3 รูปแบบคือ 4. สถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing Home)

เป็นสถานที่ที่ดูแลผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่องในหลายระดับตั้งแต่การดูแลกลุ่มพึ่งพิง พอจะดูแลตัวเองได้บ้างในบางเรื่อง( Assisted Living) ไปจนถึง ระดับการดูแล 24 ชั่วโมงแบบ Nursing Home Care โดยคนๆหนึ่งอาจจะเข้ามาอยู่ในชุมชนในระดับแค่ Daycare แต่ต่อมามีสภาวะร่างกายที่เสื่อมลง จนต้องเข้าไปอยู่ใน Nursing Home ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังและจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ

5. สถานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคสมองเสื่อม (Dementia and Alzheimer’s Care)

เป็นสถานที่ที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคสมองเสื่อม ที่มีปัญหาทางด้าน ความคิด การรับรู้และความจำ การดูแลนี้จะเป็นการดูแลจำเพาะด้าน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคสมองเสื่อม และจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิด

6. สถานดูแลผู้สูงอายุ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Hospice Care)

เป็นการดูแลผู้สูงอายุ ที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต (End of Life ) จะมีการดูแลแบบประคับประคอง(Palliative care) ซึ่งจะดูแลทั้งร่างกาย (Body) และ จิตวิญญาณ (Spiritual)

หมายเหตุ : รูปแบบที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ในแบบที่ 4,5,6 อาจจะอยู่ในโครงการเดียวกันแต่แยกอาคารกัน และต้องมีบุคคลากรทางการแพทย์ในการดูแล

สรุป คาดว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแบบให้บริการดูแลในระยะสั้นๆเช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (DAY CARE) มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เพราะยังเป็นกลุ่มที่อยู่กับลูกเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันธุรกิจซึ่งจัดให้มีที่พำนักระยะยาว เช่น ชุมชนผู้สูงอายุ (Retirement Community) จะทยอยเติบโตขึ้นในระยะยาวเนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะต้องอยู่คนเดียวมากขึ้น โดยจากสถิติของ American Seniors Housing Association ระบุว่า อัตราการเติบโตของราคาห้องพักสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นหลังจากปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งสอดคล้องกับการที่สหรัฐฯ มีอัตราผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถิตินี้แล้ว คาดว่าความต้องการของที่พำนักระยะยาวในไทยน่าจะขยายตัวสูงขึ้นมากเมื่อจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 55 ปีต่อประชากร มากกว่า 20% หรืออีกประมาณ 10 ปีต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะสั้น ธุรกิจการจัดหาที่พำนักระยะยาวจะเติบโตด้วยตลาดผู้สูงอายุต่างชาติที่เกษียณการทำงานมากกว่าจากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสูงอายุนิยมมาเที่ยวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีการเดินทางมาเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% นอกจากนี้ ข้อมูลจาก International Living Magazine : The world’s best places to retire in 2015 รายงานว่า ไทยถูกจัดอยู่ใน 1 ใน 10 อันดับประเทศที่มีความเหมาะสมในการอยู่อาศัยยามเกษียณ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่แพง รวมถึงการบริการด้านการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

ทั้งนี้จุดท่องเที่ยวสำคัญๆ ก็ได้มีการลงทุนสร้างโครงการบ้านพักคนชราไว้รองรับชาวต่างชาติ โดยสถานที่ยอดนิยมสำหรับผู้สูงอายุชาวต่างชาติ คือ เชียงใหม่ สมุย และหัวหิน เนื่องจากบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติและไม่พลุกพล่านเท่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ อย่าง กรุงเทพฯ หรือพัทยา โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนชาวญี่ปุ่นที่ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการเข้ามาอาศัยอยู่แบบระยะยาวประมาณ 4,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ประมาณ 500 คนและเข้ามาอยู่อาศัยอย่างไม่เป็นทางการอีกราว 2,000 คน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 บาทต่อคนต่อปี ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

ขอบคุณข้อมูล : รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย E-mail : udchula@gmail.com Website : universaldesign-curu Facebook : UDCURU