"ห้องน้ำ" เป็นอีกพื้นที่ใช้สอยที่ถือเป็นหัวใจหลักของอาคารทุกประเภท กิจกรรมประจำวันที่เกิดขึ้นในอาคารมักมีทั้ง "น้ำดี" และ "น้ำเสีย" เป็นส่วนประกอบ น้ำดี คือ น้ำประปาที่ถูกส่งมาตามแนวท่อส่งน้ำและไหลออกทางก๊อกน้ำ ใช้สำหรับการชำระล้าง ส่วนน้ำเสียหรือน้ำทิ้ง คือน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว และถูกระบายออกจากอาคารผ่านท่อน้ำทิ้ง ห้องน้ำแต่ละห้องจะต้องมีวัสดุอุปกรณ์มากมายสำหรับลำเลียงน้ำเข้าและออกจากอาคาร ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญตั้งแต่เรื่องโครงสร้าง วัสดุอุปกรณ์ สุขภัณฑ์ รวมถึงระบบสุขาภิบาล เพื่อป้องกันปัญหาการรั่วซึมของน้ำในอนาคต

ถึงแม้จะมีการก่อสร้างและออกแบบห้องน้ำที่ถูกต้องตรงตามหลักการแล้ว แต่ ปัญหาการรั่วซึม ก็อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการก่อสร้าง ความชำนาญของช่างก่อสร้าง คุณภาพของวัสดุที่เลือกใช้ อายุการใช้งานของวัสดุ หรือลักษณะการใช้งานของผู้อยู่อาศัย สำหรับบ้านหรืออาคารใหม่อาจยังไม่พบปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งใช้งานไปสัก 3-4 ปี อาจเริ่มเห็นปัญหา โดยเริ่มจากคราบน้ำบนฝ้าเพดานที่อยู่ใต้ห้องน้ำชั้นบน ซึ่งมีลักษณะเป็นวงขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และหากเปิดฝ้าดูก็อาจจะพบคราบน้ำตามคาน ท้องพื้น รอยต่อท่อ หรือบริเวณอื่นๆ ทั้งนี้ ปัญหาห้องน้ำรั่วซึม สามารถสังเกตได้จากคราบน้ำ 2 กรณี คือ

  • กรณีแรก คือ บริเวณท้องพื้นหรือใต้พื้นห้องน้ำ มีคราบน้ำ คราบตะกรันสีขาว หรือพบการแตกร้าว หลุดร่อนของปูนจนเห็นเหล็กเสริมโครงสร้าง รวมถึงเกิดสนิมบนเหล็กเสริมโครงสร้าง แสดงว่าเกิดการรั่วซึมของพื้นห้องน้ำ

พื้นห้องน้ำแตกร้าวรั่วซึมเป็นระยะเวลานานจนใต้ท้องพื้นหลุดล่อน เห็นโครงสร้างเหล็กเสริมเป็นสนิม

  • กรณีที่สอง คือ เกิดคราบน้ำหยดบนบริเวณบริเวณท่อน้ำ ข้อต่อท่อน้ำ หรือบริเวณรอยต่อระหว่างงานท่อน้ำกับงานพื้นคอนกรีต แสดงว่าระบบลำเลียงน้ำของห้องน้ำเกิดการรั่วซึม

รอยคราบที่เกิดจากการรั่วซึมของระบบลำเลียงน้ำ

ปัญหาการรั่วซึมของพื้นห้องน้ำ

สำหรับปัญหาคราบน้ำที่เกิดจากพื้นห้องน้ำรั่วซึม อาจเกิดขึ้นช้าเร็ว หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้น แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดซึ่งเกิดขึ้นก่อนการก่อสร้าง และเป็นสาเหตุเริ่มต้นของปัญหาห้องน้ำรั่วซึม ก็คือ

  1. การออกแบบ ทั้งการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยที่ไม่มีการแยกพื้นที่ส่วนเปียกส่วนแห้ง หรือการคำนวณขนาดความลาดเอียงที่ผิดพลาด
  2. การเลือกใช้วัสดุ เช่น การเลือกคุณภาพของท่อน้ำทิ้งที่ไม่เหมาะสม หรือการเลือกกระเบื้องปิดผิวผิดประเภท
  3. ความชำนาญและวิธีการก่อสร้างของช่าง เช่น สัดส่วนของคอนกรีตที่ใช้เทพื้นห้องน้ำไม่เหมาะสม การหล่อคอนกรีตไม่สมบูรณ์ หรือละเลยการบ่มคอนกรีตทำให้โครงสร้างแตกร้าว แม้กระทั่งการปูกระเบื้องแบบซาลาเปาซึ่งทำให้เกิดโพรงใต้กระเบื้องและน้ำเข้าไปขังแทนที่ได้

นอกจากนี้ การใช้งานของผู้อยู่อาศัยก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เช่น การทำความสะอาดและการใช้ห้องน้ำ ทำให้ปูนยาแนวสึกหรอหลุดร่อน น้ำจะซึมผ่านร่องยาแนว ไปสะสมอยู่ใต้พื้นกระเบื้องและโครงสร้างพื้นคอนกรีต โดยซึมผ่านตามรอยแตกร้าวหรือช่องต่างๆ ที่เกิดจากความบกพร่องในการก่อสร้าง หากทิ้งไว้นาน จะเกิดสนิมที่เหล็กเสริมโครงสร้าง จนทำให้คอนกรีตแตก หลุดร่อน และอาจเกิดปัญหากับโครงสร้างพื้นอาคารได้

ปัญหารั่วซึมที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นห้องน้ำ สามารถแก้ไขได้ 2 วิธี คือ วิธีแรก เป็นการแก้ไขที่ปูนยาแนว โดยลอกยาแนวเดิมที่เสื่อมสภาพออก ก่อนจะทำความสะอาดและรอให้ความชื้นระเหยออกมาให้มากที่สุด (อาจตรวจสอบความชื้นโดยใช้แผ่นพลาสติกปิดบริเวณร่องยาแนว และสังเกตว่ามีหยดน้ำเกาะหรือไม่) หากพบว่าไม่มีความชื้นแล้ว ให้ใช้ปูนยาแนวที่มีคุณภาพอุดบริเวณร่องยาแนวกระเบื้องต่อไป วิธีนี้จะช่วยระงับปัญหาได้ประมาณ 1-2 ปี ส่วนอีกวิธีจะเป็นการแก้ไขทั้งระบบ เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. สกัดรื้อกระเบื้องและปูนทรายปรับระดับออก
  2. ตรวจสอบและซ่อมรอยแตกร้าวด้วยปูนซ่อมโครงสร้าง
  3. ทำระบบกันซึม โดยใช้ผลิตภัณฑ์สูตรซีเมนต์หรือสูตรโพลิเมอร์ ด้วยการทาในลักษณะพับตามมุมรอยต่อกับแผ่นผ้าประสานตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ (ทาในบริเวณมุมรอยต่อระหว่างพื้นกับผนัง และทาเลยขึ้นไปบนผนังประมาณ 15 ซม.)
  4. ปูกระเบื้องพื้น โดยเลือกชนิดกระเบื้องที่มีค่าการดูดซึมน้ำต่ำ เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องน้ำ และติดตั้งโดยใช้ปูนทรายปรับระดับที่มีส่วนผสมของน้ำยากันซึม
  5. ซ่อมแซมพื้นโครงสร้างส่วนล่างที่แตกร้าว ตรวจสอบเหล็กเสริมโครงสร้างว่าหน้าตัดหายไปหรือไม่ หากพบว่าหน้าตัดเหล็กอยู่ในสภาพปกติ ให้ตรวจสอบเรื่องสนิมและกำจัดออก โดยใช้แปรงโลหะหรือกระดาษทรายร่วมกับเคมีภัณฑ์ จากนั้นสกัดเปิดพื้นผิวแล้วอุดเติมด้วยปูนซ่อมโครงสร้าง แต่หากเกิดรอยแตกร้าวเป็นบริเวณกว้าง หรือเหล็กโครงสร้างถูกสนิมกินลึก ควรให้วิศวกรโครงสร้างเป็นผู้แนะนำเรื่องการซ่อมแซม
  6. เมื่อซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ปิดฝ้าเพดาน จากนั้นเก็บงานและทาสีให้เรียบร้อย

การซ่อมแซมรอยร้าว

ปัญหาการรั่วซึมของระบบท่อลำเลียงน้ำ

ปัญหาคราบน้ำที่เกิดขึ้นเพราะการรั่วซึมของระบบท่อลำเลียงน้ำ ทั้งน้ำดี (น้ำประปา) และน้ำเสีย (น้ำทิ้ง) นั้น สามารถแก้ไขได้ง่ายกว่ากรณีพื้นห้องน้ำรั่วซึม เพียงแค่เปลี่ยนอุปกรณ์ข้อต่อที่เกิดปัญหา โดยใช้วิธีการตัดและต่อท่อด้วยกาวประสานท่อที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ควรอาศัยฝีมือช่างก่อสร้างที่มีความชำนาญ เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำอีก

ส่วนการรั่วซึมบริเวณรอยต่อท่อที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นคอนกรีตและท่อน้ำ สามารถแก้ไขได้โดยใช้เคมีภัณฑ์ประเภทโฟมฉีดขยาย หรือซีเมนต์พิเศษสำหรับอุดรอยต่อเพื่ออุดรอยรั่วซึม โดยต้องทำการรื้อหรือขจัดคราบสิ่งสกปรก รวมทั้งวัสดุที่เสื่อมสภาพออก ก่อนจะทำการอุดรอยรั่วซึมต่างๆ

และท้ายที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาการรั่วซึมในห้องน้ำอีกทางหนึ่ง ควรติดตั้งตำแหน่งสุขภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตามตำแหน่งที่เหมาะสม และเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ เลือกใช้บริการช่างที่มีความชำนาญ รวมถึงการใช้ อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันปัญหาการรั่วซึม เช่น อุปกรณ์การวางท่อฝังที่พื้น (Sleeve) หรือการใช้เคมีภัณฑ์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกันรั่วซึม เพราะการแก้ปัญหาเรื่องนี้ค่อนข้างยากลำบาก ทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้น การป้องกันจึงย่อมดีกว่าการตามแก้ไขภายหลังอย่างแน่นอน

การวาง Sleeve ฝังไว้ก่อนจะหล่อพื้นห้องน้ำ

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : SCG Experience : www.scgbuildingmaterials.com