ขบวนการต้มตุ๋น แชร์ลูกโซ่ ระบาดหนัก อาศัยจังหวะเศรษฐกิจตกต่ำ “คนอยากรวย”กลายเป็นเหยื่อในทุกอาชีพ ปัจจุบันพบ 7 รูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยม ด้านหน่วยงานรัฐแนะไม่อยากเป็นเหยื่อ พึ่ง สคบ.ก่อนตัดสินใจลงทุน ทุกครั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำ สินค้าและบริการจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขบวนการแชร์ลูกโซ่ก็จะเริ่มลุกลามระบาดไปทั่วเช่นกัน เพราะด้วยรูปแบบแผนธุรกิจแฝงต่างๆ ที่ขบวนการนี้คิดค้นขึ้นมา เพื่อหลอกล่อต้มตุ๋นให้คนที่อยากรวยหลงเชื่อยอมควักเงินในกระเป๋าออกมาลงทุน และในที่สุดจึงกลายเป็นเหยื่อที่เข้ามาอยู่ในวงจรนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ปัญหาธุรกิจ "แชร์ลูกโซ่" เป็นความเสี่ยงต่อความอยู่รอดปลอดภัยของการดำรงชีวิตที่เป็นปกติสุขของเราคนไทยทุกคน จากที่รับทราบกันโดยทั่วว่าธุรกิจแชร์ลูกโซ่ไม่ได้เน้นขายของขายบริการ แต่เน้นการหาสมาชิกจำนวนมากๆ คล้ายๆ สินค้าที่ทำให้ผู้คนติดพัน เป็นการระดมทุนจากประชาชนที่แพร่และขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจ่ายผลตอบแทนสูง" ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กเตือนประชาชน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16พฤศจิกายน 2557 ในระยะแรกผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่จะต้องเสียเงินในอัตราสูง เป็นค่าสมาชิก หรือค่าสินค้าต่างๆ และสมาชิกใหม่ต้องหาสมาชิกเพิ่ม ซึ่งก็คือการหลอกคนอื่นๆ ต่อไปอีกเพื่อจะได้เงินคืน ยิ่งหาได้มากก็จะได้เงินคืนมามาก ได้ผลกำไรมากกว่าที่ลงทุนไป คนที่อยู่อันดับสูงๆ ก็จะสบาย รู้ถึงสถานการณ์ทุกอย่าง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ในกลุ่มไม่สามารถนำเงินมาหมุนได้อีกต่อไป ทั้งบริษัทและผู้จัดการก็จะหนี ทิ้งไว้แต่เพียงหนี้สินกับคนที่อยู่ในระดับล่างๆ เกิดความเดือดร้อนกันอย่างกว้างขวาง"

1. แอบอ้างชื่อผู้มีอิทธิพล รูปแบบที่ 1 ที่จะทำให้ได้ “เหยื่อ” แนบเนียนที่สุดคือการแอบอ้างชื่อผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล เพราะมีชื่อเสียง เชื่อว่าสามารถเอื้อประโยชน์กับคนใดคนหนึ่งได้ ทำให้คนตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อได้โดยง่าย เพราะคาดหวังในโอกาสของความร่ำรวยจากอำนาจของบุคคลเหล่านั้น ตัวอย่างที่พบล่าสุดคือ เช่นการแอบอ้างนายกฯ มีการตั้งแชร์ลูกโซ่ระดมทุนชาวบ้าน เพื่อตั้งบริษัทรับเหมา แอบอ้างลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐ ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ โน้มน้าวว่าลงทุนมากจะได้ส่วนแบ่งมาก 2.ใช้โซเชียลมีเดียล่อเหยื่อนักศึกษา รูปแบบที่ 2จะเล็งกลุ่มนักศึกษาเป็นเป้าหมาย แม้จะไม่มีเงินเดือน แต่ก็เป็นกลุ่มที่หลงเชื่อง่าย ไม่มีประสบการณ์มากนัก อยากสบาย และเชื่อใจคน ทำให้เข้ามาเป็นเหยื่อได้โดยง่าย วิธีการจะชักชวนในลักษณะใช้คนในกลุ่มเพื่อนเฟซบุ๊ก รุ่นพี่ที่เป็นไอดอล แชร์ข้อมูลรายได้ และยืนยันว่าไม่หลอกลวง ได้ผลตอบแทนจริง โชว์ความเป็นอยู่ที่หรูหรารายได้ดี ท่องเที่ยวต่างประเทศ ลักษณะธุรกิจจะมีผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง วิตามิน อาหารเสริมเพื่อความงาม น้ำมันหอมระเหย และมีการเปลี่ยนแปลงสินค้าไปตามกระแสความนิยม แต่ไม่เน้นการขาย เน้นให้มีการจ่ายค่าสมาชิกซึ่งมีตั้งแต่ 3,000 - 20,000 บาท และให้หาสมาชิกเพิ่ม รับประกันได้เงินคืน 150%จากค่าสมาชิก เมื่อหาสมาชิกใหม่ได้ 2 คน เช่นเดียวกับการหาดาวน์ไลน์ของธุรกิจ ในรูปแบบMLM การโฆษณาผลตอบแทน โชว์ตัวเลขรายได้ในสมุดบัญชี การเขียนเชียร์ มีกระจายอยู่ทั่วไปตามโซเชียลมีเดีย และชุมชนออนไลน์ต่างๆ เพื่อความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดการขยายของธุรกิจอย่างง่ายดาย 3.ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งดึงดูด สำหรับรูปแบบที่ 3 จะเน้นไปที่กลุ่มคนทำงานที่ใช้สื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวัน มักจะหลงกลตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่นี้ โดยการเข้าถึงจะใช้วิธีการเชิญชวนผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียให้คนมาร่วมลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยการล่อเหยื่อนั้นจะมีการเสนอให้เห็นถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งจะมีทั้งการจ่ายเงินปันผลเข้าในบัญชีการลงทุนทุกเดือน อัตราขั้นต่ำ 2-10% ต่อเดือน ขณะเดียวกัน

หากผู้ลงทุนปรับสถานะตัวเองเป็น IB (Introduce Broker) หรือตัวแทน ที่ชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนก็จะได้รับผลประโยชน์กลับคืนอีกส่วนหนึ่งด้วย- ซึ่งใช้ระบบการจ่ายผลตอบแทนเช่นเดียวกับธุรกิจขายตรง ผู้ลงทุนบางคนไม่รู้ว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจผิดกฎหมาย จึงตกเป็นเหยื่อและดำเนินคดีได้ยาก สูญเงินไปมหาศาลจากการลงทุนลักษณะนี้ ส่วนการใช้อัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะเลือกสกุลเงินที่แต่ละกลุ่มเป้าหมายสนใจ ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนรายหนึ่งที่ขยับฐานะเป็น IB มีหน้าที่การงานเป็นที่น่าเชื่อถือ เป็นแพทย์ แต่ไม่ได้ทำเอง ให้น้องสาวเป็นคนชักชวนหาสมาชิกเน้นลงทุนในสกุลหยวนและบอกว่าลงทุนเพียง 2-3 เดือนจะมีกำไรเป็นเท่าตัว โดยให้ลงทุนแลกเปลี่ยนครั้งแรกเป็นหลักแสนบาทซึ่งเขาจะใช้วิธีโน้มน้าวสารพัด แต่ที่สุดหากเราไม่สนใจเขาก็จะเงียบหายไปเอง

ชะตากรรมของคนที่หลงเข้ามาเป็นเหยื่อในวงจรแชร์ลูกโซ่นั้น บางรายใช้เงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุน หรือบางรายใช้วิธีกู้เงินมาลงทุน- ด้วยหวังว่าแผนการตลาดที่นำมาล่อใจ จะให้ดอกผล มีเงินเป็นกอบกำอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายก็ถูกพิษสงของเล่ห์เหลี่ยมและความโลภของตนทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว 4.ใช้สินค้าเกษตรเป็นตัวล่อ รูปแบบที่ 4 จะล่อเหยื่อให้ลงทุนกองทุนสินค้าเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และใช้การคืนเงินบางส่วนในระยะแรกๆ เช่นคืนผลตอบแทนถึง 5% ต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้ลงทุนวางใจว่าได้รับผลตอบแทนจริง โดยเข้าใจว่าเป็นดอกเบี้ย และชักชวนผู้อื่นมาลงทุนด้วย เพราะเห็นประโยชน์จากผลตอบแทน เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น กองทุนนั้นก็ปิดตัวลง ไม่มีผู้รับผิดชอบ สร้างความเดือดร้อนในการติดตามและดำเนินคดี

สินค้าเกษตรที่จะนำมาเป็นจุดขายในการดึงคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะมีการลงทุนในพืชการเกษตรที่มีการปั่นในตลาดจนกลายเป็นที่ต้องการของตลาดในเวลาต่อมา เช่นลงทุนในมะม่วง ไม้สัก พันธุ์ไม้กฤษณา เป็นต้น

“ซื้อกองทุนสินค้าเกษตร ไม่ต้องทำอะไร บางแห่งทำสวนเกษตรให้ดูใหญ่โต มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เหมือนเข้าไปเป็นเจ้าของสวนเอง แต่อยู่เฉยๆ ได้ผลกำไรต่อปีงามๆ”- 5.ขายฝันระดมทุนตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ส่วนรูปแบบที่ 5 จะเข้ามาในลักษณะบริษัทข้ามชาติจากประเทศจีน และมาเลเซีย ด้วยการวางแผนธุรกิจระดมทุนขั้นต่ำ 6,000 บาท โดยให้สิทธิในการถือหุ้นในบริษัท และอาจมีสินค้าที่จำหน่าย ซึ่งสมาชิกสามารถซื้อได้ในราคาถูก แต่เป้าหมายที่นำมาชวนเชื่อคือการขายฝันว่าบริษัทมีแผนจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากพอ เช่นจำนวนถึงแสน เป็นที่มาให้สมาชิกพากันชักชวนเพื่อนฝูงเข้ามาร่วมทุน โดยมีความคิดว่าจะมีส่วนในหุ้นของบริษัท

สุดท้ายก็เป็นลักษณะบริษัทปิดตัวลง ติดตามเงินลงทุนไม่ได้ หุ้นบริษัทไม่มีมูลค่าใดๆ ตามที่อ้างอิง- 6.ผลิตภัณฑ์อวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค ขบวนการแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบที่ 6 จะระบาดไม่รู้จบในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศ โดยสามารถหลอกลวงเงินของชาวบ้านไปได้เป็นจำนวนมาก จากการใช้ความเจ็บป่วยมาเป็นเครื่องมือหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ วิธีการคือเริ่มจากผลิตภัณฑ์รักษาโรคและแอบอ้างว่ามีสรรพคุณรักษาโรคได้จริง ทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมาทดลอง ในช่วงแรกที่มีคนหลงเชื่อก็จะสร้างแรงจูงใจในการซื้อ และสร้างกลุ่มสมาชิกลงทุนจำหน่าย เพราะโฆษณาว่าขายดี ได้รับผลตอบแทนมาก ซึ่งในตัวยาเองอาจมียาอันตรายอยู่ด้วย ทำให้ทั้งเสียทรัพย์สิน และอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตัวอย่างที่ดำเนินคดีไปแล้วในปี 2555 แต่ฟื้นคืนชีพมาอีกในปี 2556 คือแชร์ลูกโซ่ “รถเร่ลิง-ตะเกียงหอม” ซึ่งระบาดหนักในพื้นที่ภาคอีสานโดยชาวบ้านบางรายที่ตกเป็นเหยื่อว่ารักษาโรคได้ก็นำที่ดินไปจำนองกับบริษัทที่หลอกขายตะเกียง และบางรายถึงกับยอมเสียเงินเป็นหลักล้านบาทเพื่อแลกกับการหายจากโรค หรือร่วมลงทุนเข้ามาเป็นสมาชิกเพราะสินค้ามีโอกาสขายได้ดี อยากร่ำรวยกลายเป็นเศรษฐีภายในพริบตา ปัจจุบันขบวนการดังกล่าวก็ยังคงระบาดอยู่ในต่างจังหวัด แต่ส่วนใหญ่จะเน้นเป็นผลิตภัณฑ์หอมระเหยที่แก้สารพัดโรคได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บอกว่าแก๊งเหล่านี้เป็นที่จับตาของตำรวจและเภสัชกรในพื้นที่ เพียงแต่ยังไม่สามารถจับกุมได้เพราะยังไม่มีเจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายมาแจ้งความ 7.ใช้การทำบุญบังหน้า ได้ทั้งบุญและเงินกลับมา ขบวนการต้มตุ๋นแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบที่ 7 จะใช้วิธีการอ้างอิงศาสนาและการทำบุญ ที่มีผลตอบแทนสูงช่วยจูงใจ เช่นเมื่อเร็วๆ นี้มีประกาศเชิญชวนให้คนมาร่วมทำบุญสร้างพระองค์ใหญ่ที่สุดในโลก และใช้เงินในการก่อสร้างสูงถึงหลักแสนล้านบาท เชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ3 หมื่นบาทและจะได้คืน 1 แสนบาท วิธีการเพื่อทำให้คนเชื่อถือ และให้คนมาร่วมทำบุญกันมากเพื่อให้ได้เงินตามที่คาดหวังนั้น ใช้การติดป้ายโฆษณาในจังหวัดแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และคนมีชื่อเสียงในพื้นที่นั้นว่าได้ร่วมทำบุญบางส่วนมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท สำหรับเรื่องการล่าเหยื่อในเรื่องการทำบุญนั้น จากการพูดคุยจะพบว่าคนในก๊วนจะเลือกหาเหยื่อที่มีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องการทำบุญอยู่แล้ว ประกอบกับการอธิบายถึงผลประโยชน์ที่จะตามมาเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากความโลภของเหยื่อโดยตรง ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ซับซ้อนยากดำเนินคดี แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ Special Scoop ว่า

ความผิดของแชร์ลูกโซ่เป็น 1ใน 25 คดีอาญาฟอกเงิน ที่รัฐกำลังเร่งกวาดล้างบริษัทที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน- มีอยู่มากมายหลายร้อยแห่ง แต่ที่จับได้นั้นมีบริษัทใหญ่ไม่กี่แห่ง ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้นบริษัทเหล่านี้ขยันเปลี่ยนรูปแบบ นำสินค้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ และใช้วิธีการนำเงินมาล่อในแบบต่างๆ ทำให้ป้องกันลำบาก ต่อให้เข้มงวดอย่างไร ตำรวจก็ยังทำงานยากอยู่ดี และที่สำคัญคือขั้นตอนการดำเนินการคดี

ซึ่งการจับกุมไม่สามารถทำได้ในทันที ต้องมีผู้เสียหายร้องให้ดำเนินคดี และแม้จะมีผู้แจ้งความแล้วก็ตาม การที่จะเอาความผิดได้นั้น ตำรวจก็ต้องสืบสวน สอบสวนรวบรวมหลักฐาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าคดีจะถึงที่สุดรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหลายหน่วยงาน -เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องปรามธุรกิจเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ก็อาจเกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการทำงานได้เช่นกัน ตัวอย่างการดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่ที่ใช้ระยะเวลายาวนานมากคือกรณี บริษัท บลิสเชอร์อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อนหรือไทม์แชริ่ง ใช้เวลาในการฟ้องร้องและตัดสินคดีกว่า 20 ปี สุดท้ายศาลตัดสินให้เหยื่อผู้เสียหาย 20,000 รายเป็นผู้ชนะคดี เจ้าของบริษัทและพวก มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ถูกยึดทรัพย์และจำคุกไปในที่สุด ไม่อยากเป็นเหยื่อ เช็ก “สคบ.” แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบต่างๆ ได้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำว่าบริษัทนี้มีแผนธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ หากไม่ใช่บริษัททำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ การจัดหาสมาชิกต้องไม่มีค่าตอบแทน และข้อมูลของสินค้าต้องมีความชัดเจน รวมทั้งแสดงข้อมูลของช่องทางการจำหน่ายสินค้า ซึ่งหากจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง ก็จะมีคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากมีการกระทำความผิด จะถูกยกเลิกการจดทะเบียนทันที อย่างไรก็ดี การขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ลงทุนมีความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง แต่ก็อาจเป็นเหรียญสองด้านให้บริษัทแชร์ลูกโซ่นำมาเป็นเครื่องมือในการฟอกตัว สร้างภาพตบตาว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐแล้ว เพื่อต่อลมหายใจ หากมีข้อสงสัยจากผู้ร้องเรียน ซึ่งบางครั้งทำให้มีบริษัทเหล่านี้เล็ดลอดออกมาทำในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันได้เพราะยังไม่ถูกดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่ต้องใช้วิจารณญาณรู้เท่าทันกลโกง ก่อนที่จะพบหายนะดังที่เห็นเป็นข่าวมาโดยตลอด เพราะไม่มีธุรกิจใดในโลกที่ได้เงินมาโดยง่ายและรวดเร็วชั่วพริบตา - ขอขอบคุณข้อมูล จาก : manager.co.th