โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภวัฒน์ สุภัควงศ์ ที่ปรึกษาเทอร์ร่า บีเคเค (www.supawat.net)

ความมั่นคั่งทางการเงินจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ หนึ่ง หาเงินเก่ง และ สอง บริหารเงินเก่ง วันนี้จะขอพูดถึงในส่วนที่สอง ว่าจากเงินที่หามาได้ หลังแบ่งสันปันส่วนค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ แล้ว ส่วนสำหรับการลงทุน ควรจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้งอกเงยได้มากที่สุด

การลงทุนมีหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนในอสังหาฯ พันธบัตร ทองคำ กองทุนรวม ธุรกิจส่วนตัว หรือ การลงทุนในหุ้น หากเปรียบเสมือนกล่อง โลกของการลงทุนประกอบไปกล่องประเภทต่างๆ ที่วางไว้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำเงินออมมาใส่ในกล่องใดบ้าง กล่องที่ดี คือ กล่องที่ทำให้เงินที่เราใส่เข้าไปเติบโตขึ้นเรื่อย ในขณะที่ความเสี่ยงที่เงินที่หดหายไปมีอยู่น้อยที่สุด

หลายคนอาจจะมองว่า การลงทุน เราต้องโฟกัสเน้นไปที่กล่องใดกล่องหนึ่งเต็มๆ เช่น รู้ด้านอสังหาฯ ก็อัดเงินทั้งหมดที่มีเข้าไปในกล่องนี้ แต่สำหรับผม ผมกลับมองว่า โลกนี้มีอะไรไม่แน่นอนกว่านั้นเยอะ ถึงแม้เราจะเก่งมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะหลายสิ่งหลายอย่าง มีการผันแปรด้วยปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ทั้งประเด็นด้านการเมือง การต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ วิกฤตภัยธรรมชาติ และอื่นๆ ดังนั้น การกระจายเงินลงทุนไปยังกล่องลงทุนมากกว่าหนึ่งใบ เป็นอะไรที่เหมาะสมมากกว่า

หลายๆ ท่านใน TerraBKK ผมเชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญในกล่องอสังหาฯ อยู่แล้ว และอาจจะกำลังมองหาแนวทางการลงทุนในกล่องอื่นๆ วันนี้ ผมจะมาพูดถึง แก่นสำคัญของการลงทุนในกล่องหุ้น ว่าหากอยากให้เงินในกล่องนี้มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เราในฐานะคนดูแล รดน้ำ พรวนดิน ควรปฎิบัติตัวอย่างไร

เงินในกล่องหุ้นเติบโตได้ จากส่วนต่างของราคา ณ วันที่เราซื้อ ไปจนถึงวันที่เราขาย คูณด้วย จำนวนหุ้นที่เราถืออยู่

กำไร/ขาดทุน = (ราคาขาย – ราคาซื้อ) x จำนวนหุ้น

ยิ่งส่วนต่างของราคานี้มีมากเท่าไหร่ การเติบโตของเงินในกล่องนี้ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หัวใจส่วนที่หนึ่ง ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ คือ การมีแนวทางการลงทุนที่ให้สัญญาณซื้อและขายที่ดี ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor: VI) หรือเชี่ยวชาญสายเทคนิค( Technical Analysis) สิ่งที่ทุกคนต้องการตรงกันคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ซื้อหุ้นในราคาที่ถูกๆ แล้วค่อยไปขายที่ราคาแพงๆ หรือบ้างก็บอกว่า สามารถซื้อที่ราคาแพงๆ ได้ แต่ขอให้ได้ขายในราคาที่สูงกว่า ระบบการลงทุนที่ดี ต้องมีความชัดเจนว่า ที่ราคาไหนคือจุดซื้อ และราคาไหนคือจุดขาย

กระดานหุ้น - ลงทุนหุ้น

(ภาพจาก : www.manager.co.th)

สำหรับนักลงทุนสาย VI จะอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพื้นฐานของบริษัทเพื่อคำนวณหามูลค่าที่แท้จริง หรือ intrinsic value ในตัวหุ้นนั้นๆ โอกาสทองของนัก VI ในการซื้อคือ ตอนที่หุ้นราคาตกลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ นั่นคือ เราซื้อหุ้นได้ในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกัน เมื่อราคาหุ้นในตลาดวิ่งสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ ก็แสดงว่า ณ เวลานี้ หุ้นมีราคาสูงเกินที่ควรจะเป็นแล้ว จึงควรทำการขายออกมา

สำหรับนักลงทุนสายเทคนิค จะมีความเชื่อในกราฟ ด้วยคิดว่าราคาหุ้นได้สะท้อนรับข่าวสารต่างๆ ไว้ทั้งหมดแล้ว และราคาเคลื่อนไหวอย่างมีแนวโน้ม ดังนั้น นักลงทุนจะทำการซื้อเมื่อมีสัญญาณหรืออินดิเคเตอร์บ่งชี้ว่าราคากำลังมีแนวโน้มขาขึ้น เช่น ค่าเฉลี่ยเส้นสั้นตัดค่าเฉลี่ยเส้นยาว หรือ สัญญาณ RSI ที่บ่งบอกโมเมนตัมมีค่าสูงขึ้น และทำการขายเมื่อราคามีแนวโน้มที่จะลง เช่น ค่าเฉลี่ยเส้นสั้นตัดลง หรือ สัญญาณ RSI มีค่าลดลง

หัวใจส่วนที่สอง ที่จะช่วยบ่งชี้ความสำเร็จในเส้นทางนี้ คือ การรู้จักการจัดการความเสี่ยงและบริหารจัดการเงินหน้าตัก (Risk and money management) การซื้อหุ้นแต่ละครั้ง ไม่ใช่ว่าคุณจะตัดสินใจถูกเสมอไป หลายครั้งราคาเคลื่อนไหวในทิศตรงข้ามกับที่เราคาดไว้ (ราคาปัจจุบันต่ำกว่าราคาซื้อ) ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงหรือตัดขาดทุนจึงมีความสำคัญ หากดูจากสมการข้างบน เราพยายามจำกัดส่วนต่างของราคาให้ติดลบน้อยที่สุด

อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาเมื่อดูจากสมการข้างบน ก็คือ จำนวนหุ้น หรือ Position size เมื่อเกิดสัญญาณซื้อขึ้นมา เราจะซื้อเป็นจำนวนกี่หุ้น มูลค่ากี่บาท สังเกตุนะครับ ถ้าเราคาดการณ์ถูก จำนวนหุ้นยิ่งเยอะ กำไรก็จะยิ่งมาก แต่ในทางกลับกัน ถ้าคาดการณ์ผิด ยิ่งจำนวนหุ้นเยอะ ขาดทุนก็จะมากตามไปด้วย

สมมุติเราดูหุ้นใน SET50 กรณีที่ 1 เมื่อเกิดสัญญาณซื้อในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เราก็ทุ่มเงินทั้งหมดในพอร์ตไปซื้อเลย กับกรณีที่สอง เรากระจายความเสี่ยง ไม่ลงในตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ อาจจะซื้อครั้งละไม่เกิน 5% ของพอร์ต คุณคิดว่ารูปแบบใดจะช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยในตลาดได้ดีกว่าครับ?

หัวใจประการสุดท้าย ที่จะช่วยให้เงินในกล่องหุ้นเติบโตขึ้นมา ก็คือ การมีจิตวิทยาในการลงทุนที่ดี (Psychology) ครับ ง่ายๆ คือ สามารถควบคุมตัวเองให้ได้ ไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนต่างๆ ของตลาด

ข้อนี้ดูเหมือนจะง่ายๆ แต่กลับทำยากมากนะครับ ยกตัวอย่างเช่น

  • คุณทำใจได้ไหมที่จะยอมตัดขาดทุนหุ้นที่คุณถือมากว่าหนึ่งเดือน ราคาไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนบวกประมาณ 5% แต่อยู่ดีๆ วันนี้เปิดตลาด ติดลบไปกว่า 10% เกิดสัญญาณขายชัดเจน (ถ้าทำใจไม่ได้ก็ “ติดดอย”) หรือ
  • ทำได้ไหมที่จะอยู่เฉยๆ กับหุ้นที่เพิ่งขายออกไป ได้กำไรมา 10% ราคาย่อลงมาได้ไม่กี่วัน ก็พุ่งขึ้นติดต่อกันไปอีกกว่า 20% (อยากกลับเข้าไปซื้อใหม่เพราะกลัว “ตกรถ”) หรือ
  • คุณได้ศึกษากลยุทธ์การเทรดแบบหนึ่งว่าได้ผลตอบแทนที่ดีมาก แต่พอมาเทรดจริง กลับขาดทุนติดต่อกัน 5 ครั้งแล้ว วันนี้เกิดสัญญาณซื้อขึ้นมาอีกครั้ง คุณยังจะซื้อตามระบบอยู่อีกไหม?

ทั้งสามส่วนล้วนมีความสำคัญและจำเป็นต่อการบ่งชี้ว่ากล่องการลงทุนในหุ้นของคุณนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน หลายสำนักให้น้ำหนักในสามส่วนไม่เท่ากัน โดยชี้ว่า 10% ของความสำเร็จวัดจากการมีจุดซื้อและจุดขายที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ 30% มาจากการจัดการความเสี่ยงและบริหารเงินหน้าตัก ส่วนอีก 60% ที่เหลือวัดจากจิตวิทยาการลงทุน

หลายครั้ง เราจะเห็นนักลงทุนที่แน่นไปด้วยความรู้การลงทุน ซื้อจุดไหน ขายจุดไหน ซื้อขายมากน้อยเท่าไหร่ แต่เมื่อลงไปแข่งในสนามจริง กลับล้มเหลวเพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ช่วงแรกที่ผมเริ่มเทรดก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังจากผมเริ่มศึกษาหลักการลงทุนอย่างเป็นระบบ (systematic trading) จะเป็นอย่างไร ติดตามในบทความต่อไปครับ - เทอร์ร่า บีเคเค

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒน์ สุภัควงศ์

บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒน์ สุภัควงศ์ ที่ปรึกษา เทอร์ร่า บีเคเค www.supawat.net