TerraBKK Research ได้รวบรวม 10 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม ประจำครึ่งปีแรกของปี 2558 โดยได้นำ 10 บริษัทโรงแรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเปรียบเทียบถึงศักยภาพของผลประกอบการ ว่าบริษัทใดในอุตสาหกรรมมีผลประกอบการโดดเด่นที่สุดและมีบริษัทใดมีแนวโน้มการเจริญเติบโตดีที่สุด หลังจากที่หลายบริษัทได้ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2558 ครบทั้งหมดแล้ว (TerraBKK Research จะนำเสนอเฉพาะด้านผลประกอบการเท่านั้น)

หลังจาก TerraBKK Research ได้สำรวจผลประกอบการอุตสาหกรรมโรงแรม พบว่า บริษัทที่ทาง TerraBKK Research เห็นว่ามีการเติบโตแนวโน้มที่ดีจากการดูอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ได้แก่ บริษัท Shangri-la และ OHTL จากที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับความมีเสถียรภาพของประเทศซึ่งในช่วงที่ผ่านมากลางเดือนสิงหาคมมีเหตุการก่อการร้ายเกิดขึ้นในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครซึ่งอาจจะส่งผลต่อรายได้อุตสาหกรรมนี้บ้างพอสมควร ดังนั้นภาพรวมของอุตสาหกรรมโรงแรมจะเป็นอย่างไรเราคงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อดูแนวโน้มตัวเลขการท่องเที่ยวแล้วเราจะเห็นได้ถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่โตขึ้น ต่อเนื่องก็จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่บริษัทได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน รายละเอียดของแต่ละโรงแรมมีดังต่อไปนี้

รายได้ (Revenue) ของอุตสาหกรรมโรงแรมที่มี Market Share สูงสุด คือ Central Plaza Hotel มีรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 27,761 ล้านบาท (+0%) ซึ่งรายได้ทรงๆในระดับนี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โรงแรมที่ทำรายได้รองมาคือ Laguna Resort รายได้ 19,188 ล้านบาท (+6%) อันดับสามคือ The Erawan Group (+7%) สำหรับบริษัทที่มีรายได้เติบโตต่อเนื่องสามปีติดต่อกันได้แก่ The Erawan Group ส่วนบริษัทที่มีแนวโน้มของรายได้ลดลงสามปีติดต่อกันได้แก่ Grand Asset, Mandarin และ Royal Orchid แต่ที่น่าสังเกต คือ The Erawan Group, Dusit Thani และ Shangri-La เป็นกลุ่มโรงแรมที่รายได้ครึ่งปี 2558 สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) บริษัทที่สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงสุด คือ Shangri-La และเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงที่ในรอบ 5 ปี สูงถึง 69.77% รองลงมาคือ Royal Orchid บริษัทที่มีแนวโน้มกำไรขั้นต้นสูงขึ้น 3 ปีติดต่อกัน คือ The Mandarin Hotel แต่บริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำลงติดต่อกัน ได้แก่ Laguna Resorts และ Dusit Thani ในส่วนของอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นที่ค่อนข้างมากเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการบริหารแล้วกลับมีอัตรากำไรสุทธิเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ธุรกิจที่มีอัตรากำไรสุทธิมากที่สุด คือ Shangri-La มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 27.72% อันดับที่สองคือ Asia Hotel มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 18.15% สำหรับโรงแรม Central Plaza มีอัตรากำไรสุทธิสูงที่สุดในรอบห้าปี ผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่า ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรที่ค่อนข้างผันผวนมากเนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีความเกี่ยวโยงกันกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมต่างๆภายในสังคมไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ เหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆ ตรงนี้จะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการได้

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพของกิจการในการใช้ทรัพยากรในบริษัท บริษัทที่สามารถใช้ทรัพยากรของบริษัทที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ OHTL เพิ่มสูงขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีก่อนหน้าด้วย รองลงมาคือ Shangri-la ทั้งสองบริษัทข้างต้นเป็นเพียง 2 บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สูงกว่า 10% อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้นสูงกว่า 15% ได้แก่ OHTL, Shangri-la, Central Plaza Hotel ทั้ง 3 บริษัทมีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่ค่อนข้างสูงและเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว

อัตรากำไรต่อหุ้น (Earning per Share) ธุรกิจโรงแรมที่มีอัตรากำไรต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ได้แก่ Shangri-la (+417%), Central Plaza Hotel (+100%), OHTL (80%) และ Asia Hotel (+2%) เมื่อเราดูแนวโน้มของอัตรากำไรต่อหุ้นของแต่ละบริษัทจะพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทที่มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องได้แก่ บริษัท Asia Hotel เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น

อัตราหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) อัตราหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับปกติ คือ ต้องไม่เกิน 2 เท่า แต่ถ้าจะให้ดีต้องมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1 เท่า สำหรับธุรกิจโรงแรมมีเพียง The Erawan เท่านั้นที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่า ที่เหลือต่ำกว่า 2 เท่าทั้งหมด ธุรกิจที่มีแนวโน้มของหนี้สินต่อทุนลดลง 3 ปีติดต่อกัน ได้แก่ Central Plaza Hotel, Grande Asset, Dusit Thani และ ​Royal Orchid สำหรับ Shangri-la มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำสุด

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช่ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก