วันนี้ TerraBKK จะขอพูดถึงการลงทุนในตลาดหุ้นบ้างหลังจากที่ส่วนใหญ่จะพูดถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายๆคนคงได้ลองลิ้มชิมรสตลาดหุ้นทั้งช่วงตลาดขาขึ้น (Up Trend) และในช่วงตลาดขาลง (Down Trend) มีทั้งคนที่รวยจากตลาดหุ้นและมีทั้งคนที่กำไรจากตลาดเมื่อ 2 ปีที่แล้วแต่พอมาปี 2558 ตลาดปรับตัวเป็นขาลงในลักษณะค่อยๆซึมลงไป (Market Correction) หลายคนก็ขาดทุนจากกำไรที่หามาได้จากปีแล้วจนกระทั่งเงินต้นหดหายไปก็มีไม่น้อยเช่นกัน TerraBKK จึงจะขอหยิบยกประเด็นที่ว่า ราคาหุ้นขึ้น-ลง ถูกกำหนดจากปัจจัยอะไร?

ภาพ : MetaTrader4

ในครั้งนี้เราจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาหุ้น (ไม่ได้กล่าวถึง “มูลค่า”) การเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงของราคา มีรากฐานมาจากหลักของอุปสงค์หรือแรงซื้อ (Demand) และอุปทานแรงขาย (Supply) ถ้าแรงซื้อมากกว่าแรงขายราคาก็จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เมื่อแรงขายมากกว่าแรงซื้อราคาก็ต้องปรับตัวลดลง เรื่องนี้คงเป็นประเด็นที่หลายๆคนคงเข้าใจดีอยู่แล้ว คำถามมีอยู่ว่าแรงซื้อและแรงขายเหล่านนั้นที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคามีปัจจัยอะไรเป็นตัวผลักดันให้แต่ละฝ่ายเลือกที่จะทำการซื้อขายระหว่างกัน

ปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาหุ้น คือ ความคาดหวัง (Expectation) จากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการคาดหวังส่วนต่างราคา (Capital Gain) หรือการคาดหวังผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) กล่าวคือ ความคาดหวังของผู้คนในตลาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคา ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจำนวนมากต่างคาดหวังว่าปีนี้บริษัทที่ตนเองสนใจจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในระดับสูงต่อเนื่องในระยะยาวและคาดว่าจะมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องจึงตัดสนใจที่จะลงทุน จากมุมมองที่คาดหวังต่อตัวบริษัทเช่นนี้จึงส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจากแรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งจะมีบุคคุลอีกกลุ่มหนึ่งที่คาดหวังผลตอบแทนในรูปส่วนต่างราคาจึงตัดสินใจเข้าไปซื้อหุ้นด้วยการเก็งกำไรผลประกอบการที่คาดว่าจะออกมาดี รวมถึงการเก็งกำไรจากข่าวสารที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาเช่นกัน แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับสิ่งที่คาดหวังเอาไว้ก็จะผลตรงกันข้ามกับราคาหุ้น เช่น ถ้ามองว่าผลประกอบการออกมาดี กำไรดีแต่ในความเป็นจริงกลับออกมาแย่หรือต่ำกว่าที่คิดไว้ก็จะเกิดแรงขายกดดันราคาหุ้นให้ตกต่ำลงไป

อีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามากำหนดการขึ้นลงของราคา คือ เรื่องของความเสี่ยง (Risk) ความเสี่ยงของตัวบริษัทจะส่งผลต่อพฤติกรรมของนักลงทุน ในกรณีที่สถานการณ์ดูไม่ค่อยน่าไว้วางใจนักลงทุนก็จะชะลอการลงทุนลงเพื่อรอดูท่าทีก่อนจะลงทุน ถ้านักลงทุนส่วนใหญ่ต่างชะลอการลงทุนไม่มีใครกล้าที่จะเข้าสู่ตลาดเพราะมองว่ายังดูเสี่ยงเกินไปก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นค่อยๆปรับตัวลดลง หรือจะยอมซื้อก็ต่อเมื่อได้ราคาที่ต่ำลงมาหน่อย (Discount) เพื่อชดเชยความเสี่ยงตรงนั้น แต่ถ้าทุกคนมั่นใจสถานการณ์และบรรยากาศดูน่าลงทุนก็จะมีเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นทุกคนพร้อมที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อที่จะให้ได้รับผลตอบแทนที่คาดว่าจะดีขึ้นในอนาคต

เมื่อมองลึกลงไปถึงสิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดความคาดหวัง (Expectation) รวมถึงความเสี่ยง (Risk) สิ่งเหล่านั้นก็คือ ภาพรวมเศรษฐกิจมหาภาคทั้งระดับประเทศและระดับโลก (Global Marco Economic) ถ้าภาพรวมเศรษฐกิจดี มีความเชื่อมั่น ประชาชนกล้าที่จะใช้จ่าย ก็จะส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทรวมถึงเงินปันผลของบริษัทด้วย อีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวกำหนด คือ ภาวะอุตสาหกรรม ในแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีช่วงที่เจริญรุ่งเรืองและช่วงที่ซบเซาแตกต่างกันไป อุตสาหกรรมไหนอยู่ในช่วงที่ดีก็จะส่งผลให้ความคาดหวังและความเสี่ยงอยู่ในระดับที่นักลงทุนกล้าที่ลงทุน แต่ถ้าภาวะอุตสาหกรรมแย่ก็จะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาหุ้นในอุตสาหกรรมนั้นไม่ค่อยดีมากนัก ตัวสุดท้ายคือ ผลประกอบการของบริษัท ถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดี ภาวะอุตสาหกรรมแย่ แต่ทีมผู้บริหารเก่งสามารถผ่านช่วงที่อยู่ในช่วงย่ำแย่ได้ทำให้ผลประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันดูโดดเด่นขึ้นมาได้เช่นกัน เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดนักลงทุนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้นสวนทางกับภาวะอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก