หลายครั้งเมื่อเราได้ รับชม รับฟัง ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจเรามักจะได้ยินเรื่อง อุปสงค์ (Demand), อุปทาน (Supply),Over Supply อยู่เสมอๆ TerraBKK จะพาไปเรียนรู้เศรษฐศาสตร์ฉบับบ้านๆ เพื่อให้เข้าใจคำว่า อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าคำเหล่านี้ความหมายว่าอย่างไร

อุปสงค์ ในความหมายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ ความต้องการซื้อ และอุปทาน คือ ความต้องการขายเมื่อความต้องการซื้อและความต้องการขายมาพบเจอกันที่ระดับราคา (Price) และประมาณ (Quantity) ที่ต่างฝ่ายต่างพอใจ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ตรงจุดนั้นจะเกิด จุดดุลยภาพของตลาดขึ้น

ในทางเศรษฐศาสตร์จะมี กฎอุปสงค์ (Law of Demand) และ กฎอุปทาน (Law of Supply) เพื่อใช้เป็นหลักยึดในการอธิบาย ความสัมพันธ์ระหว่าง ราคา (Price) และประมาณ (Quantity) พูดให้เข้าใจง่าย คือ

กฎอุปสงค์ หมายถึง เราจะซื้อปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อราคาสินค้ามีราคาต่ำลง (ถูก) และจะซื้อปริมาณน้อยลดลงเมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้น (แพง) โดยกำหนดให้ปัจจัยที่นอกเหนือจากราคาและปริมาณคงที่

กฎของอุปทาน หมายถึง เราจะอยากที่จะขายสินค้าในปริมาณที่สูงขึ้นเมื่อขายได้ในราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น (แพงขึ้น) และจะขายสินค้าในปริมาณที่ลดลงเมื่อราคาสินค้าลดลง (ถูกลง) โดยกำหนดให้ปัจจัยที่นอกเหนือจากราคาและปริมาณคงที่

เมื่อเราเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่าง ราคากับปริมาณแล้ว เราจะสังเกตได้ว่า อุปสงค์กับอุปทานจะมีความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกัน นักเศรษฐศาสตร์มักจะอธิบายเหตุการณ์ต่างๆออกมาเป็นกราฟเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น Demand จะมีลักษณะกราฟที่ลาดลงจากซ้ายไปขวา (Downward Sloping) จากSupply จะมีลักษณะที่ชันขึ้นจากซ้ายไปขวา (Upward Sloping) สามารถเขียนออกมาได้เป็นกราฟ Demand & Supply ได้ดังนี้

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ต่อมาจะพูดถึง อุปทานส่วนเกิน (Over Supply หรือ Excess Supply) และ อุปสงค์ส่วนเกิน (Over Demand หรือ Excess Demand)

อุปทานส่วนเกิน (Over Supply หรือ Excess Supply) เกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างฝั่ง Demand และ Supply โดยฝั่งของผู้ผลิตหรือผู้ที่มีความต้องการขาย (Supply) มีสินค้าและบริการออกมาขายในปริมาณมากเกินไปในขณะที่ความต้องการซื้อไม่ได้มีมากขนาดนั้น ส่งผลให้สินค้าล้นตลาด ราคาสินค้าจึงต้องปรับตัวต่ำลงเพื่อให้ขายสินค้าชนิดนั้นได้

เรามักจะได้ยินคำถามว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ Over Supply หรือไม่?” เหตุที่จะทำให้อสังหาริมทรัพย์ Over Supply มีสาเหตุมาจาก อุปทานมีความล่าช้าจากอุปสงค์ในปัจจุบัน (Lag) อสังหาริมทรัพย์มีความล่าช้าในการก่อสร้างโดยส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะสร้างเสร็จทำให้เกิดความไม่สัมพันธ์กันระหว่าง Demand กับ Supply จึงเป็นเหตุให้อสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จในช่วงหลังๆขายได้ไม่ดีเนื่องจากไม่มี Demand เหลือให้ซื้ออีกแล้ว ช่วงเวลานี้เรียกว่า Over Supply

อุปสงค์ส่วนเกิน (Over Demand หรือ Excess Demand) เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างฝั่ง Demand และ Supply เช่นกัน แต่ครั้งนี้เป็นฝั่งของผู้ซื้อที่มีความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่มากเกินกว่าระดับปกติ ทำให้สินค้าและบริการผลิตไม่ทันเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคจึงทำให้ราคาต้องปรับตัวสูงขึ้นจนราคาปรับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่อีกครั้ง - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก