บ้านคือส่วนสำคัญในการเติมชีวิตให้เต็ม การเริ่มต้นหลายๆ อย่างในชีวิต มีบ้านเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ต้องกล่าวถึง แต่ในขณะเดียวกันการซื้อบ้านต้องใช้เงินก้อนใหญ่ หรือหากไม่มีเงินก้อน และเลือกใช้วิธีขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ผลที่ได้มากับบ้านคือรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดประจำเดือนและมีผลต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ต้องตรวจสุขภาพทางการเงินอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ บางคนจึงเลือกที่จะรอเมื่อ “พร้อม” ค่อยซื้อบ้าน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสบางอย่างไปอย่างน่าเสียดาย

เนื่องจากบ้านเป็นของชิ้นใหญ่ที่มาพร้อมภาระ ภาครัฐจึงมีนโยบายเพื่อแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้กับประชาชน ในรูปแบบของการ ลดภาษีเงินได้ ที่ต้องจ่ายในแต่ละปีให้น้อยลง โดยกรมสรรพากรให้สิทธิ์ในการนำดอกเบี้ยงินกู้มาใช้ในการลดหย่อนภาษีดังนี้

ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร จะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการดังนี้

(1) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมจากผู้ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเฉพาะที่กำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่เขารับช่วงสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมดังกล่าว กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(2) เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง

(3) ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดิน เป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม

(4) ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม(3)นั้นเป็นที่อยู่อาศัย ในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ ลูกจ้างซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำหรือกรณีอาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้จนไม่อาจใช้อาคารหรือห้องชุดนั้นอยู่อาศัยได้

(5) กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3) เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนได้ทุกแห่ง สำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม (3)

(6) ให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

(7) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม ให้หักลดหย่อนได้ทุกคนโดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 100,000 บาท

(8) กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียวให้หักลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

(9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษีดังนี้

(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในปีภาษีที่ล่วงแล้วมาตามวรรคหนึ่งของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ ไม่เกิน 100,000 บาท

(ข) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตาม วรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

(ค) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสามของมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และได้รับยกเว้นภาษีส่วนของสามีหรือภริยา ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

(10) กรณีมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ตาม (1) ให้ยังคงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวข้างต้น ให้หมายความรวมถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น

ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกำหนด จากผู้ให้ให้กู้ยืม เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการดังกล่าวนั้นด้วย

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 224 และ ฉบับที่ 226)

หากอธิบายในส่วนของคู่สมรส จะสามารถทำ ความเข้าใจอย่างย่อ ได้ดังนี้
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการดังนี้

กรณีกู้คนเดียว บุคคลที่มีเงินได้ในการนำดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้านมาหัก ลดหย่อนภาษี ตามที่จ่ายจริงได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

กรณีสามีภรรยากู้ร่วมกัน ในส่วนนี้จะแตกต่างออกไปเนื่องจาก ส่วนใหญ่แล้วคู่สมรสจะยื่นภาษีร่วมกัน ทำให้เกณฑ์การขอลดหย่อนภาษีต่างออกไป

กรณีสามีภรรยากู้ร่วมกัน โดยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่มีรายได้ เช่นสามีทำงานประจำ แต่ภรรยาเป็นแม่บ้านหรืองานอื่นเล็กน้อยที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามีเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน

หมายถึงต่างคนต่างผ่อนบ้านอยู่ก่อนแล้ว และมาแต่งงานกัน โดยซื้อบ้านอีกหลังร่วมกัน ให้ยังคงหักลดหย่อน ดังนี้

ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้อยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหัก คือหย่ากันก่อนครบปีที่ต้องเสียภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับบ้านทั้งสองหลัง

ถ้าความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหัก และ ภริยาไม่ได้ใช้สิทธิแยกยื่นภาษี ยังสมรสกันอยู่ตลอดปีภาษี และยื่นเสียภาษีเงินได้ร่วมกัน ให้หักลดหย่อนรวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

ถ้าความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษีที่ขอหัก และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน100,000 บาท

การขอลดหย่อนภาษีในกรณีกู้ร่วมจะลดหย่อนได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับวิธีการยื่นภาษี ว่ายื่นร่วมกันหรือแยกกันหากก่อนสมรสต่างฝ่ายต่างมีภาระผ่อนบ้านอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสมรสกันสิทธิลดหย่อนจะลดลงจากเดิม เหลือหักได้สูงสุดรวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

สิทธิ์การขอลดหย่อนภาษีจากการซื้อที่อยู่อาศัยนี้ ครอบคลุมเฉพาะการซื้อแบบขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเท่านั้น เนื่องจากเป็นการนำดอกเบี้ยที่จ่ายให้สถาบันการเงินไปมาใช้ลดหย่อน การซื้อบ้านด้วยเงินสดไม่มีภาระส่วนนี้ จึงเสียสิทธิ์นี้ไป

แต่ในขณะเดียวกัน หากมีกำลังซื้อแต่ต้องการลดหย่อนภาษีจึงเลือกซื้อแบบผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากดอกเบี้ยที่เสียให้กับธนาคารไปอาจไม่คุ้มค่ากับการลดหย่อนภาษี 100,000 บาทในแต่ละปี ควรคำนวณความคุ้มค่าก่อนการตัดสินใจ

การเลือกวิธีใช้เงินในการลงทุนซื้อบ้าน จึงต้องคิดให้รอบด้านและรอบคอบ

บทความโดย : TerraBKK.com