น้ำประปาเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค แต่แน่นอนว่าก็ยังมีหลายคนที่สงสัยว่า น้ำประปากินได้ไหม? ดื่มได้จริงหรือ? เพราะกังวลเรื่องแหล่งที่มาของน้ำและขั้นตอนการผลิตน้ำประปาว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคและขจัดสารปนเปื้อนต่างๆ ได้จริงหรือไม่ วันนี้เลยจะพาไปปลดล็อกข้อสงสัยต่างๆ ของน้ำประปา รวมถึงวิธีสังเกตอย่างไรว่าน้ำประปาบ้านเราสามารถดื่มได้ ปลอดภัยแน่นอน

น้ำประปามาจากไหน?

น้ำประปา เป็นน้ำที่ผลิตจากน้ำดิบที่เกิดตามแหล่งธรรมชาติ เช่น น้ำผิวดิน หรือน้ำบาดาล ซึ่งน้ำจากธรรมชาติมักมีสารอินทรีย์ สิ่งมีชีวิต แร่ธาตุและเคมีต่างๆ เจือปนอยู่ จึงจำเป็นต้องนำเข้าระบบการผลิตน้ำประปา เพื่อให้น้ำมีความใสสะอาดและคุณภาพดีขึ้น ก่อนจะนำไปส่งต่อเพื่ออุปโภคบริโภคได้ โดยในประเทศไทย น้ำประปาที่ใช้ในครัวเรือนจะมาจาก 2 แหล่งต้นน้ำ ได้แก่ แหล่งน้ำลึกและใต้บาดาล และแหล่งน้ำดิบใต้ผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และฝาย ซึ่งแต่ละแหล่งน้ำก็จะมีการปนเปื้อนที่แตกต่างกัน โดยการประปาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกรอง การตกตะกอน การปรับปรุงและควบคุมคุณภาพน้ำตามหลักมาตรฐานสากล ก่อนที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จะรับช่วงตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำก่อนส่งต่อน้ำสะอาด ออกสู่ครัวเรือนในแต่ละพื้นที่

สารปนเปื้อนในน้ำประปา

ในเมื่อน้ำประปาเป็นน้ำที่ได้จากแหล่งธรรมชาติพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจได้จากพื้นที่ในเมืองที่มีสารประกอบทางเภสัชกรรมสูง หรือแม้แต่พื้นที่การเกษตรและแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งยังเป็นพื้นที่ที่พบสารเคมีและยาฆ่าแมลงอยู่ หากไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตและกรองน้ำประปาอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน สารต่างๆ เหล่านี้อาจยังคงหลงเหลืออยู่ในน้ำประปาหรือน้ำดื่ม ที่แม้จะผ่านการต้มแล้วก็ตาม นอกจากนี้ บรรดาน้ำดื่มในขวดพลาสติกแข็ง หากใส่น้ำร้อนลงไปหรือขวดเกิดการชำรุด ก็มีความเสี่ยงที่จะเจอสารปนเปื้อนได้เช่นกัน แม้จะไม่มาก แต่หากสะสมทิ้งอยู่ในร่างกายทีละน้อย นานวันเข้าก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบสะสมในร่างกาย เป็นสารก่อกวนที่กระทบฮอร์โมนภายในร่างกาย หรือแม้กระทั่งในบางคนที่กรรมพันธ์ุของร่างกายสามารถขจัดสารพิษออกไปได้ช้า การรับเอาสารพวกนี้เข้าร่างกายทีละเล็กละน้อย ก็ไม่ถือว่าเป็นผลดีต่อร่างกายเลย

การเติมคลอลีนในน้ำประปา และความกังวลเรื่องสาร THMs

ปกติในการผลิตน้ำประปา จะมีการเติมคลอรีนในถังเก็บและท่อจ่ายน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสารต่างๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ รวมไปถึงสารอินทรีย์จากสิ่งมีชีวิตที่ปนอยู่ตามธรรมชาติด้วย ในกระบวนฆ่าเชื้อโรคนี้ ทำให้เกิดสารไตรฮาโลมีเทน (Trihalomethanes, THMs) จากสารอินทรีย์ภายในน้ำดิบและคลอรีนที่ทำปฏิกิริยากัน ซึ่งไตรฮาโลมีเทนเป็นกลุ่มสารที่สามารถก่อมะเร็ง จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า สารไตรฮาโลมีเทนในน้ำประปาอันตรายหรือไม่? อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกมีข้อกำหนดไว้ให้น้ำประปาสามารถมีคลอรีนอิสระคงเหลือไว้ได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัม  และประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้มีสารไตรฮาโลมีเทนได้ไม่เกิน 80 ไมโครกรัมต่อลิตร สำหรับมาตรฐานน้ำประปาที่ดื่มได้ ดังนั้น ในขั้นตอนการผลิตน้ำประปา น้ำจะต้องเจอกับขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพ การกรอง และการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน ซึ่งทำให้สารไตรฮาโลมีเทนที่หลงเหลืออยู่ในน้ำประปา อยู่ในระดับต่ำและไม่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคมะเร็งนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงน้ำประปาจะสามารถดื่มได้ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ยังมีปัจจัยเรื่องของการลำเลียงน้ำสู่ครัวเรือน ที่อุปกรณ์ส่งผ่านน้ำประปาทำมาจากวัสดุที่หลากหลายและอาจเสื่อมสภาพจากการใช้งานเป็นระยะเวลานาน ทำให้สารเคลือบต่างๆ หลุดหายไป รวมถึงบริเวณวาล์วน้ำหรือข้อต่อต่างๆ อาจเกิดการเสียดสีจนทำให้เศษวัสดุและคราบสนิมหลุดปะปนไปกับน้ำประปา และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียอีกด้วย ทางที่ดีควรบริโภคหรือดื่มน้ำหลังจากผ่านเครื่องกรองน้ำที่ได้คุณภาพ มากกว่าบริโภคโดยตรงจากท่อส่งหรือก๊อกในครัวเรือน ก็จะช่วยลดความกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารตกค้างและสิ่งสกปรกต่างๆ จากน้ำประปาที่จะเข้ามาในร่างกาย และส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

วิธีสังเกตน้ำประปาสะอาด ไม่อันตราย ดื่มได้แน่

เพราะร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า 70% การดื่มน้ำสะอาดและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก มาดู 3 วิธีสังเกตกันว่าน้ำประปาที่สะอาด สามารถดื่มได้ จะต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร

1. น้ำใส ไม่มีตะกอน

น้ำประปาที่มีความสะอาด จะมีลักษณะใส ไม่มีตะกอนปน รวมถึงไม่มีสีหรือกลิ่นที่ผิดปกติ ก็ถือเป็นน้ำที่ได้ผ่านกระบวนการกรองตามมาตรฐานมาแล้ว มั่นใจได้ว่าเป็นน้ำประปาที่มีความสะอาด

2. กลิ่นคลอรีน

หากได้กลิ่นคลอรีนด้วยก็หมายความว่าน้ำประปานั้นได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อมาเรียบร้อยแล้ว จะสังเกตได้ว่าน้ำประปามีกลิ่นคลอรีนที่ค่อนข้างชัด ทำให้หลายคนไม่ชอบ หากต้องการลดกลิ่นคลอลีนในน้ำประปาให้เปิดน้ำใส่ภาชนะทิ้งไว้สักพัก หรือทำการกรองอีกครั้งผ่านไส้กรองถ่านกัมมันต์ ก็จะช่วยลดกลิ่นคลอลีนในน้ำออกไปได้มาก

3. ทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำเป็นประจำ

สำหรับบ้านหรือที่พักที่มีเครื่องกรองน้ำก็ช่วยให้มั่นใจขึ้นว่าน้ำประปาจะผ่านการกรองอีกหลายขั้น ทำให้ได้ดื่มน้ำที่สะอาดอย่างแน่นอน แต่ก็ยังมีสิ่งที่หลายคนมองข้ามไปเช่นกัน ก็คือการทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำตามรอบอย่างสม่ำเสมอ และการเปลี่ยนไส้กรองเป็นประจำตามระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์กำหนด หากละเลยในขั้นตอนนี้ การกรองน้ำก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ซ้ำยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเพิ่มขึ้นอีกด้วย

น้ำสะอาดเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เราจะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะน้ำดื่มที่ควรมีการกรองและการฆ่าเชื้อที่ถูกต้องตามมาตรฐาน การนำน้ำประปามาต้มสุกเพื่อฆ่าเชื้ออีกครั้งจะช่วยให้มั่นใจว่าได้น้ำที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่สำหรับใครที่ต้องการความสะดวก ประหยัด และมั่นใจเรื่องความสะอาดมากยิ่งขึ้น แถมยังเป็นวิธีที่นิยมกันมากด้วย คือการเลือกใช้เครื่องกรองน้ำ[2] ที่ได้มาตรฐาน NSF และมีประสิทธิภาพการกรองสิ่งปนเปื้อนและเชื้อโรค เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย ลดปัญหาเชื้อโรคที่มาจากน้ำ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและคนในครอบครัว ที่สำคัญยังช่วยลดขยะประเภทพลาสติกจากการซื้อน้ำดื่มแบบขวดได้อีกด้วย