สวัสดีเดือนแห่งความรักครับ เดือนนี้เป็นเดือนที่มีคู่รักหลายคู่เลือกที่จะแต่งงานสร้างครอบครัว การสร้างครอบครัวปัจจัยสี่ที่สำคัญที่สุดคือ “ที่อยู่อาศัย”  ปัจจุบันการเลือกที่อยู่อาศัยมีกันอยู่หลายแบบทั้งห้องชุด ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด และบ้านเดี่ยว นอกจากการเลือกเชิงสถาปัตยกรรมในเรื่องของการออกแบบรูปทรงอาคาร ฟังก์ชั่นการใช้งาน แล้ว ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการซื้อที่อยู่อาศัยที่สร้างสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งปัจจุบันมีมาตรฐานในการสร้างที่อยู่อาศัยที่คำนึงถึงสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมอยู่หลายมาตรฐาน อาทิ

LEED (Leadership in Energy and Environmental Design)  เป็นเกณฑ์การออกแบบอาคารที่คำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร มาตรฐานนี้ออกโดย สภาอาคารเขียวของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ มีเกณฑ์ประเมินที่ครอบคลุมอาคารหลายประเภทไปจนถึงระดับเมือง มีเกณฑ์การประเมินทั้งหมด 9 หัวข้อ เช่น การเลือกที่ตั้งโครงการที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้น้ำภายในโครงการ การลดใช้พลังงานภายในอาคาร การทำแผนลดผลกระทบจากการก่อสร้าง เป็นต้น โครงการจะต้องเตรียมเอกสารที่ใช้ในการประเมินส่งผ่านทางเว็บไซต์ของ LEED เพื่อขอยื่นรับรอง การขอรับรองสำหรับอาคารสร้างใหม่จะได้ใบรับรองแบบถาวร ไม่ต้องต่ออายุใบรับรอง

ในประเทศไทยมีหลายอาคารที่ได้รับใบรับรอง LEED ทั้งอาคารสำนักงานและอาคารชุดพักอาศัย เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ของ ปตท. โครงการอาคารชุด 98 Wireless ของค่ายแสนสิริ โครงการ Park Ventures Ecoplex เป็นต้น

WELL Building Standard เป็นมาตรฐานที่เริ่มขึ้นมาจากประเทศแคนาดา โดยภายหลังทางผู้จัดตั้งได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้พัฒนามาตรฐาน LEED จากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งสถาบัน IWBI (International WELL Building Institute) เป็นมาตรฐานแรกของโลกที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพการอยู่อาศัยของผู้ใช้อาคาร เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในปัจจุบันได้  โดยมีเกณฑ์ในการพัฒนาหลัก ได้แก่ คุณภาพอากาศภายในอาคาร คุณภาพน้ำที่ใช้บริโภค แสงสว่าง สุนทรียภาพภายในอาคาร  โดยมีเกณฑ์การประเมินทั้งหมด 10 หัวข้อ โครงการที่ขอรับรองเกณฑ์ WELL นอกจากจะต้องเตรียมเอกสารสำหรับประเมินแล้ว จะต้องผ่านการตรวจสอบที่หน้างานจริงของโครงการโดยผู้ตรวจประเมินด้วย และต้องมีการต่ออายุใบรับรองทุกๆ 3 ปี โครงการในประเทศไทยที่พัฒนาภายใต้แนวคิดนี้ เช่น โครงการเดอะฟอร์เรสเทียร์ ของค่ายแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลลอปเมน์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC)

และล่าสุดคือ  EDGE (Excellence in Design for Greater Efficiencies) เป็นมาตรฐานอาคารเขียวและการวัดผลการก่อสร้างอย่างยั่งยืน เป็นนวัตกรรมในการรับรองมาตรฐานความเป็นเลิศในการออกแบบอาคาร สำหรับตลาดเกิดใหม่ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลกคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  EDGE มีหัวข้อในการให้คะแนนความคล้ายคลึงกับ LEED ที่เน้นการออกแบบอาคารที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการประเมินการลด CO2 (Carbon Footprint) เพิ่มเข้าไปภายใต้มาตรฐานของ EDGE การผ่านการรับรองเกณฑ์ EDGE จะต้องมีตรวจสอบเอกสารประเมินและการตรวจประเมินหน้างานจริงเช่นเดียวกับ WELL แต่ใบรับรองของ EDGE เป็นใบรับรองแบบถาวร ไม่ต้องต่ออายุใบรับรอง โดยเกณฑ์การประเมินจะมีทั้งหมดแค่ 3 ข้อหลักโดยมีหมวดหัวข้อวัสดุที่แตกต่างจากเกณฑ์อื่นๆซึ่งเน้นเรื่องการประเมินพลังงานในการผลิตวัสดุ (Embodies energy) ของวัสดุที่ใช้ภายในโครงการ

EDGE เป็นมาตรฐานอาคารเขียวที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 2558 และเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเซีย รวมทั้งประเทศไทย และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรฐาน EDGE เป็นมาตรฐานที่ให้ใบรับรองแบบถาวรไม่ต้องต่ออายุ ซึ่งตอบโจทย์นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเพิ่มคุณค่าความยั่งยืนให้กับโครงการไปพร้อมกับการลงทุนที่คุ้มค่า เหมาะสม และประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว

มาตรฐานอาคารเขียว EDGE (Excellence in Design for Greater Efficiencies) เป็นเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักพัฒนาโครงการ หรือผู้ออกแบบสามารถประเมินกลยุทธ์ต่างๆในการประหยัดพลังงานได้อย่างคุ้มค้าและรวดเร็ว โดยออกแบบแอปพลิเคชันใช้ประเมินอย่างง่ายๆ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการประเมิน มุ่งเน้นการประหยัดพลังงานใน 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การใช้พลังงาน ( Energy Efficiency ) การใช้น้ำ ( Water Efficiency ) และ การใช้วัสดุก่อสร้างอาคาร ( Material Efficiency)

1.ด้านการใช้พลังงาน (Energy Efficiency)

หัวข้อนี้พิจารณาประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของอาคารโดยประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการออกแบบอาคารและกลวิธีที่ช่วยลดการใช้พลังงาน เช่น การออกแบบช่องเปิดของอาคาร การเลือกกระจก การเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ การใช้ระบบควบคุมอัจฉริยะในระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง การออกแบบระบบระบายอากาศตามธรรมชาติ และ การใช้พลังงานหมุนเวียน

2.ด้านการใช้น้ำ (Water Efficiency)

หัวข้อนี้กล่าวถึงประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประเมินจากการลดการใช้น้ำภายในโครงการ โดยพิจารณาจากปริมาณการใช้น้ำภายในอาคารที่ลดลง ซึ่งมีผลมาจากการใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ  และการปริมาณการใช้น้ำภายนอกอาคาร มีผลมาการลดการใช้น้ำในงานภูมิทัศน์

3.ด้านการใช้วัสดุก่อสร้างอาคาร (Material Efficiency)

หัวข้อนี้กล่าวถึงการเลือกใช้วัสดุอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยประเมินจากพลังงานในการผลิตวัสดุ (Embodies energy) ในส่วนประกอบต่างๆของอาคาร ซึ่งค่าพลังงานในการผลิตวัสดุนี้จะคำนวณจากพลังงานที่ใช้ในการผลิต การขนส่งวัสดุ ไปจนถึงช่วงของการก่อสร้างและรื้อถอนวัสดุก่อสร้างนั้นๆ

EDGE มีจุดเด่นเรื่องระบบประเมินการคิดคะแนนที่ไม่ซับซ้อน โดยสามารถใช้งานแอปพลิเคชัน EDGE ผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือ โทรศัพท์มือถือเพื่อประเมินผลคะแนน ทำให้ผู้ประเมินสามารถทราบผลการประเมินคะแนนของโครงการได้ในทันที นอกจากนี้ยังสามารถประเมินต้นทุนได้โดยใช้ค่าต่างๆที่แสดงผลในแอปพลิเคชันเพื่อใช้หาความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาโครงการ เช่น ค่าการใช้พลังงานของอาคารต่อปี ค่าการลดคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ค่าก่อสร้างโดยคร่าวๆ และ จำนวนปีที่คืนทุน ซึ่งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้กับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย หรือผู้เช่าอาคาร ที่ต้องการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จุดเด่นของมาตรฐาน EDGE ที่แตกต่างจากมาตรฐานอาคารเขียวอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่สำคัญ คือ ความรวดเร็วในการตรวจประเมินเพื่อขอรับรอง โดยทั่วๆไปกระบวนการตรวจสอบเพื่อขอรับรองอาคารขียวมาตรฐานอื่นๆอาจกินเวลานานถึง 2-3 เดือน แต่สำหรับ EDGEนั้น จะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนโดยประมาณเนื่องจากEDGEใช้เอกสารรับรองต่างๆน้อยกว่าและมีขั้นตอนการตรวจสอบที่น้อยกว่า เมื่ออาคารก่อสร้างเสร็จและมีการส่งเอกสารเพื่อประเมินผ่านทางแอปพลิเคชันแล้ว  ผู้ตรวจประเมินหรือ EDGE Auditor จะเข้ามาตรวจสอบที่หน้างานจริงของโครงการ หลังตรวจสอบเสร็จทาง EDGE Auditor อาจจะมีข้อแนะนำให้ปรับแก้แล้วยื่นเอกสารใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากทางโครงการมีการปรับแก้ได้เร็ว โครงการก็จะได้รับการรับรองเร็วตามไปด้วย ซึ่งใช้เวลาไม่นานประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น

ผู้พัฒนาเกณฑ์อาคารเขียวมากมายต่างพัฒนาเกณฑ์และเครื่องมือประเมินให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน ผู้ออกแบบ หรือเจ้าของผู้พัฒนาโครงการ โดยมาตรฐาน EDGE เองก็ถูกพัฒนาฟังก์ชันที่จะช่วยให้ผู้สนใจสามารถตัดสินใจตัวเลือกต่างๆ ในการลงทุนและพัฒนาอสังหาฯได้ง่ายขึ้น ทั้งยังไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประเมินผลคะแนนเบื้องต้น มีขั้นตอนการตรวจประเมินที่ไม่ซับซ้อนและรวดเร็ว หน้าตาแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย เหมาะทั้งโครงการสร้างใหม่และโครงการปรับปรุงอาคารเก่า ที่สำคัญยังมีข้อมูลต้นทุนคร่าวๆ เป็นแนวทางให้นักพัฒนานำไปพิจารณาต่อ หากจะให้กล่าว EDGE คือ อาคารรูปแบบใหม่ที่สามารถเพิ่มกำไร ลดต้นทุน ไปพร้อมๆกับช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีอาคารที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน EDGE 4 อาคาร และยังมีอีกหลายอาคารที่อยู่ระหว่างการประเมินเพื่อที่จะได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าว

ด้วยแนวทางการประเมินของ EDGE ที่สะดวก  รวดเร็ว และ ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ให้ความสนใจที่จะพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐานของ EDGE มากขึ้น ผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะได้เห็นอาคารที่ได้รับการประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและอาคารเขียว ภายใต้มาตรฐาน EDGE เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ใช้ประโยชน์ในอาคารที่จะได้มีสุขภาวะที่ดีทั้งในการอยู่อาศัยและการทำงาน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาอาคารอย่างยั่งยืน และเป็นแนวคิดที่สำคัญในการพัฒนาอาคารในปัจจุบันและอนาคต

แล้วพบกันใหม่ในเดือนมีนาคม จะเป็นเรื่องอะไร หรือผู้อ่านสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ แนะนำกันมาได้นะครับ สวัสดีครับ

โดย นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอน์ โซลูชั่น จำกัด