นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 24 ในเดือนธันวาคม 2565 หัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยจะเดินต่ออย่างไร ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว” พบว่า ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นส่งสัญญาณเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากผลกระทบของสงคราม ปัญหาความขัดแย้ง แรงกดดันต่อวิกฤตพลังงาน และสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินการค้าโลก ในปี 2566 จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 1% จากปี 2565 ที่การค้าโลกขยายตัวถึง 3.5% จากผลกระทบของตลาดส่งออกที่ชะลอตัวทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ

ทั้งนี้คาดว่าสัญญาณเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน “ระดับปานกลาง” โดยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจโลก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ดังนั้นจึงขอเสนอให้ภาครัฐช่วยดูแลต้นทุนราคาพลังงานให้เหมาะสมให้สามารถแข่งขันได้ เร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ลดภาระต้นทุนดำเนินธุรกิจและดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ด้านผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมบริหารจัดการสต๊อกสินค้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจผันผวน

อย่างไรก็ดีการพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG Model จะเป็นนโยบายสำคัญและมีประสิทธิภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต โดยจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านอุตสาหกรรมการเกษตร ช่วยเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่ผลิตโดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้กับประเทศ และที่สำคัญจะช่วยดึงการลงทุนเข้าประเทศ