"วิจัยกรุงศรี" รายงานว่า GDP ไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าคาดที่ -0.3% YoY คาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจฟื้นกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้เร็วกว่าเดิม โดยสภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ในไตรมาส 3/64 หดตัว -0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากขยายตัว 7.6% ในไตรมาสก่อน  ซึ่งรับผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงของ COVID-19 แต่อัตราการติดลบดังกล่าว กลับน้อยกว่าที่ตลาดและวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ -1.3% และ -1.1% ตามลำดับ เพราะได้รับแรงหนุนจาก การใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งขึ้น, มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนทำให้การบริโภคสินค้าไม่คงทนในหมวดอาหารยังเติบโตได้แม้ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนจะหดตัว,การเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังในไตรมาสนี้นับว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ และการส่งออกสินค้าและบริการที่ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกบริการที่เร่งขึ้นจากค่าบริการขนส่งสินค้าที่ขยายตัวดีตามปริมาณการค้าระหว่างประเทศ

            อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐหดตัวแรงจากการก่อสร้างที่ลดลง สำหรับภาคการผลิต ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงทำให้การผลิตบางสาขากลับมาหดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต (-1.4%) และภาคก่อสร้าง
(-4.1%)

            ขณะที่สาขาบริการในส่วนที่พักแรมและร้านอาหารยังคงหดตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง (-18.7%) อย่างไรก็ตาม สาขาเกษตรกรรม (+4.3%) และสาขาบริการบางส่วนเติบโตดี อาทิ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (+6.8%) การเงินและประกันภัย  (+3.5%)

            ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.3% ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นขยายตัว 1.2% (เดิมคาด 0.7%-1.2%) และคาดปี 2565 เติบโตที่ 3.5%-4.5%

 

"วิจัยกรุงศรี" เตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 และ 2565 โดยมีปัจจัยหนุนจาก GDP ไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าคาด, การกระจายวัคซีนที่เร่งขึ้น ล่าสุดทางการตั้งเป้าฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ (เดิมตั้งเป้าสิ้นปีนี้) ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ, สัญญาณเชิงบวกจากการลงทุนภาคเอกชนที่อาจได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและกิจกรรมเศรษฐกิจของโลกที่ทยอยฟื้นตัวเป็นลำดับ และมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะยังมีบทบาทสำคัญ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย (Thai GDP level) มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเหนือระดับก่อนการระบาดได้เร็วกว่าเดิม 1-2 ไตรมาส (เดิมคาดไตรมาส 1/2566)

          ในส่วนของ กนง. บ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจากปัจจัยชั่วคราว พร้อมส่งสัญญาณไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 พฤศจิกายน มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วและเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว  จากการใช้ภายในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเร่งกระจายวัคซีน และตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จึงคาดการณ์ว่า GDP ปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับประมาณการในการประชุมครั้งก่อน  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานโลกเป็นหลัก 

"วิจัยกรุงศรี" ประเมินว่า แม้ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะลดลง และมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งหลายประเทศเตรียมทยอยปรับลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินกันบ้างแล้ว แต่ในส่วนของไทยคาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า เนื่องจาก

- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยอาจเห็นแตะระดับ 3% ได้ในบางเดือนของไตรมาส 1/2565 ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานที่ต่ำในช่วงต้นปี 2564 แต่จะบรรเทาลงในช่วงที่เหลือของปี 2565 สอดคล้องกับมุมมองของธปท. ที่ประเมินว่าน้ำมันในตลาดโลกจะเผชิญภาวะอุปทานส่วนเกิน (excess supply) ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565

- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางภายใต้ความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยที่ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาด

- จากถ้อยแถลงของกนง. ที่ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  ชี้ว่าทางการจะยังดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยรวมแล้ว วิจัยกรุงศรีจึงคาดว่ากนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565