ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซีซีทีวีของจีน ได้รายงานว่า รัฐบาลจีนพร้อมศึกษาการขุดขยายคอคอดกระ ในเมืองไทยตามนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ ชี้ลดระยะทางเดินเรือได้ 3 วัน หรือกว่า 1,200 กิโลเมตร

            สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ของจีน เสนอรายงานพิเศษเรื่อง Silk Road to the Future - Episode 2 ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า รัฐบาลจีนกำลังศึกษาข้อเสนอเพื่อก่อสร้างและให้เงินสนับสนุนโครงการขุดคอคอดกระของไทย โดยระบุว่า คลองกระจะถูกสร้างขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มโครงการ เบลธ์แอนด์โรด (Belt and Road) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ที่จะช่วยร่นระยะทางเดินเรือในปัจจุบันได้กว่า 1,200 กิโลเมตร หรือ 3 วัน รายงานอ้างความเห็นของนายจรัญ ลำดวน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะมุ ว่าการขุดคลองกระจะช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศไทย

คอคอดกระ ได้รับความสนใจตั้งแต่ปี พ.ศ.2220 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

          แผนการที่จะขุดคลองเชื่อมต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามันมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสได้ทำการสำรวจภูมิประเทศและลงความเห็นว่าอาจปรับเส้นทางน้ำที่มีอยู่แล้วทะลุไปตะนาวศรีและมะริดได้  ซึ่งเป็นแนวความคิดแรกในการสร้างทางน้ำเชื่อมระหว่างทะเลทั้งสองภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

         จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ในการควบคุมชายฝั่งทั้งสองของไทยและป้องกันการคุกคามจากศัตรู  เมื่อเข้าสู่ล่าอาณานิคม การขุดคลองผ่านปักษ์ใต้ก็ยังถูกพูดถึงเรื่อยมาและบางครั้งมีอธิปไตยของชาติเป็นเดิมพัน เช่น การที่รัฐบาลอังกฤษกดดันไม่ให้รัฐบาลสยามขุดคลอง เช่นเมื่อปี  พ.ศ. 2437 มอริซ เดอ บันเซน (Maurice de Bunsen) ทูตอังกฤษเดินทางมายังกรุงเทพมหานครโดยได้รับคำสั่งว่า อังกฤษไม่อาจปล่อยให้มีอำนาจจากต่างชาติ (ฝรั่งเศส) เข้ามาแทรกแซงดินแดนสยามในคาบสมุทรมลายูได้ และ De Bunsen ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลว่าควรป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสพยายามสร้างคลองข้ามคอคอดกระ

         รัฐบาลสยามทราบดีว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสรู้สึกกังวลกับสถานะของคอคอดกระ และการที่อังกฤษไม่ยอมยึดสยามเป็นอาณานิคมก็เพราะไม่อยากปะทะกับฝรั่งเศสที่ปกครองอินโดจีน ดังนั้นทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษจึงตกลงที่จะปล่อยสยามให้เป็นเขตกันชน และดังนั้นจึงไม่มีใครที่จะมีโอกาสได้ขุดคอคอดกระ ทำให้คอคอดกระเป็น "ไพ่ตาย" ของสยามในการถ่วงกับมหาอำนาจ

         จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยสามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามได้และทำสัญญาสันติภาพกับอังกฤษโดยอังกฤษตั้งข้อแม้ว่า "รัฐบาลสยามรับปากว่าจะไม่มีคลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวสยาม" หรือถ้าจะขุดต้องได้รับอนุญาตจากอังกฤษเสียก่อน

“คอคอดกระ” ส่วนที่แคบที่สุดในคาบสมุทรมลายู

            สำหรับคอคอดกระ หรือ กิ่วกระ เป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายูอยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ประมาณกิโลเมตรที่ 545 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ห่างจากเขตเทศบาลเมือง 66 กิโลเมตร ในบริเวณนี้มีแผ่นป้ายคอนกรีตขนาดใหญ่จำลอง

            คอคอดกระ มีระยะทางจากฝั่งทะเลตะวันตกจรดฝั่งตะวันออกกว้างเพียง 50 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนนี้นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ได้รับความสนใจตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในการที่จะขุดคลองตัดผ่านจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสคิดจะขุดคอคอดกระเพื่อร่นระยะทางในการเดินเรือจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย โดยไม่ต้องอ้อมไปทางแหลมมลายู

ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ ในปี 2544 

            เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 นายปรีดี พนมยงค์ได้เสนอให้ขุดคลองอีกครั้ง แต่ยังคงไม่มีการขุดคลองแต่อย่างใดจวบจนปัจจุบัน ซึ่งมีหลายเหตุผลคัดค้านรวมถึงไม่ต้องการให้ประเทศไทยแยกออกเป็นสองส่วน ผนวกกับประเทศสิงคโปร์กลัวจะเสียผลประโยชน์ด้วย

           จนมาถึงปี 2540 ช่วงที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โครงการขุดคอคอดกระ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความฝันในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ มีความพยายามรื้อฟื้นเรื่องคอคอดกระมาอีก แต่โครงการก็ต้องถูกพับไป เนื่องจากใช้งบประมาณมหาศาล และความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการแทบจะไม่มีเลย  และหลังจากรัฐบาลไทยรักไทย เข้ามาบริหารประเทศระหว่างปี 2544-2549 ก็ได้ให้น้ำหนักกับโครงการ “แลนด์บริดจ์” มากกว่าโครงการขุดคลองผ่านคอคอดกระ

           อย่างไรก็ตามในปี  2544 วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ และผลการศึกษาที่รายงานต่อที่ประชุมมีสาระสำคัญให้เรียกชื่อคลองว่า "คลองไทย" ซึ่งบริเวณที่ขุดมิใช่คอคอดกระ เพราะเหตุผลทางวิศวกรรมศาสตร์ คือ สภาพพื้นที่ที่ต้องขุดที่คอคอดกระนั้นเป็นหินและภูเขาความมั่นคงเนื่องจากบริเวณคอคอดกระอยู่ที่ชายแดนพม่าปากแม่น้ำกระบุรี  โดยบริเวณที่วุฒิสภาเห็นว่ามีความเป็นไปได้และเกิดประโยชน์สูงสุดในการขุดคลองไทย คือ เส้นทาง 9A ผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ระยะทาง 120 กิโลเมตร

เส้นทาง 9A ความหวังของโครงการขุดคอคอดกระ

            ข้อมูลจาก รศ.ดร. สถาพร เขียววิมล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา ระบุว่าแนวความคิดในการขุดคอคอดกระมีการนำเสนอและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มาจนถึง ณ เวลานี้ มีอยู่ด้วยกัน 12 แนว

            โดยหน่วยงาน องค์กร และแนวต่างๆ ที่สำคัญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516-2548 สรุปแนวโน้มที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือแนว 5A (จากการศึกษาของบริษัท TAMS) และแนว 9A (จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา ชุดปี 2544 ศึกษาแล้วเสร็จในปี 2548

            ทั้งนี้การศึกษาของบริษัท  Tippetts-Abbett-McCarthy-Stratton หรือ TAMS มักถูกหยิบยกขึ้นมาดูก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถือว่าเป็นผลการศึกษาที่เป็นระบบมากที่สุดครั้งแรกของประเทศไทย (และอาจจะจวบจนถึงทุกวันนี้) ซึ่งได้นำเสนอต่อรัฐบาลในช่วงปี พ.ศ. 2516 โดย TAMS ได้ทำการศึกษา 10 แนว โดยระบุว่า แนว 5 A มีความเป็นไปได้มากที่สุด ในการขุดคลองช่องทางเดียวขนาดความลึก 33.5 ม. กว้าง 490 ม. ยาว 107 กม. สามารถให้เรือขนาด 500,000 ตัน (หรือ 250,000 ตัน) แล่นผ่านได้

           โดยใช้วิธีขุดแบบปกติหรือใช้นิวเคลียร์บางส่วน  ปากคลองสามารถพัฒนาท่าเรือและอุตสาหกรรมทั้งสองด้านของท่าเรือให้เป็นศูนย์กลางขนถ่ายในภูมิภาคใกล้เคียงได้ โดยประมาณการงบประมาณไว้ที่ 22,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ตามค่าเงินในขณะนั้น) และข้อเสนอนี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำมาประมวลผลศึกษาและคำนวณค่าใช้จ่ายใหม่ในปี 2541 พบว่ามูลค่าการลงทุนจะสูง 500,000-810,000 ล้านบาท (ตามค่าเงินในขณะนั้น)

 

            ขณะที่เส้นทางขุดคลองไทย (หรือแนว 9A) ผ่านจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา โดยขุดคลองเชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ความยาว 120 กิโลเมตร ลึก 35 - 40 เมตร ลักษณะเป็นคลองคู่ขนาน ไปหนึ่งคลอง/กลับหนึ่งคลอง ความกว้างประมาณ 300 – 350 เมตร จุดกลับเรือกว้าง 500 เมตร ซึ่งเส้นทาง 9A จะตัดผ่านพรุควนเคร็งซึ่งมีทะเลสาบซึ่งตามหลักวิชาการแล้วทะเลสาบจะช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่นสูงๆ ของเรือ

           ทั้งนี้หลักการและเหตุผลในการสร้าง 2 คลองเพื่อต้องการรองรับเรือขนาด 500,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นเรือขนน้ำมันมีความกว้าง 60-80 เมตร ลึก 30-35 เมตร เรือกินน้ำลึกต้องสร้างคลองเผื่อไว้ เพราะถ้ามีคลองเดียวเมื่อเกิดอุบัติเหตุเรือแตกและจอด สามารถเปลี่ยนมาใช้คลองเดียวร่วมกันได้

           ค่าใช้จ่ายในการขุดคลองไทยและการลงทุนเงินที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดเกือบจะเป็นเงินบาทที่ใช้ในประเทศไทยทั้งสิ้น รวมค่าก่อสร้างทั้งหมดโดยประมาณการคร่าวๆ คิดเป็นเงินประมาณ 650,000 ล้านบาท

ซึ่งวิธีการสร้างคลองไทยนั้นให้บริษัทที่มีเครื่องมือทันสมัยในประเทศไทยขุดคลองไทย ระยะ 120 กิโลเมตร จำนวน 120 บริษัท โดยรับผิดชอบบริษัทละ 1 กิโลเมตร จำนวนเงินกิโลเมตรละ 5,000 ล้านบาท ขุดคลองพร้อมกันทุกจุดรวมระยะเวลา 5 ปี ขุดได้สำเร็จแต่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเหมือนกันทุกกิโลเมตรและมีมาตรฐานเดียวกัน

จีน ได้ประโยชน์สูงสุดจาก “คอคอดกระ”

            โครงการขุดคอคอดกระของไทย เพราะหากขุดสำเร็จคลองแห่งนี้จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเดินเรือของโลก และที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามผลักดันอย่างหนักให้โครงการนี้เกิดขึ้น นอกจากจีนแล้ว ยังมีอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐ สนใจสนับสนุนโครงการขุดคอคอดกระของไทยด้วย

           สำหรับจีน คอคอดกระเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายด้าน โดยอดีตประธานาธิบดี หูจิ่นเทาของจีนเคยพูดไว้ตั้งแต่ปี 2546 ว่า หากขุดคอคอดกระสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหา “วิกฤตมะละกา” ที่จีนเผชิญอยู่ จีนต้องพึ่งพาเส้นทางนี้ในการนำเข้าน้ำมันถึง 80% และวัตถุดิบต่างๆ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจีนไปทั่วโลก

           แต่การจราจรในช่องแคบมะละกาค่อนข้างหนาแน่น แต่ละปีมีเรือกว่า 84,000 ลำขนส่งสินค้า 30% ของสินค้าทั่วโลกสัญจรผ่าน และจะมีเรือเข้ามากกว่า 122,000 ลำ ซึ่งเกินความสามารถสูงสุดในการรองรับของช่องแคบมะละกา จีนจึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ทดแทน  โดย “คอคอดกระ” จะสามารถร่นระยะเวลาเดินทางอ้อมแหลมมลายูได้ 1-2 วัน แต่ก็ต้องแลกมากับต้นทุนค่าน้ำมัน และค่าเดินเรือที่สูงขึ้นจากการลดความเร็วของการเดินเรือ

          นอกจากนี้ คอคอดกระยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหารจีน เพราะกองทัพเรือของจีนจะสามารถย่นระยะทางเดินเรือข้ามจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย หรือสามารถสร้างฐานทัพเรือในคอคอดกระเช่นที่ทำกับโครงการสร้างท่าเรือที่จีนเข้าไปลงทุน อาทิ จิบูตี

 

“One Belt One Road” ตัวแปรสำคัญที่จีนจะใช้ต่อรอง ขุด “คอคอดกระ”

            ในปี 2559 ทีมวิศวกรชาวจีนได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในการขุดคลองลัดผ่าน “คอคอดกระ” เชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับทะเลจีนใต้ตามทฤษฎีความร่วมมือ One Belt One Road ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แห่งจีน ผู้ประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road)

            โดยจีนได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ขึ้นเพื่อสนับสนุนเมก้าโปรเจ็คต์ของนโยบายดังกล่าว และเพียง ๖ เดือนหลังการก่อตั้งธนาคาร AIIB ก็มีสมาชิกต่างๆ จากทั่วโลกกว่า ๕๐ ประเทศสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกทันที ซึ่งนายโมดี้ นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ก็รณรงค์ทันทีในฐานะชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียให้เกิดการร่วมมืออย่างเปิดกว้างและกระทำอย่างจริงจังเพื่ออนาคตของชาวเอเชียทั้งมวล

            หนึ่งในโครงการเจ้ากรรมก็คือให้มีการรื้อฟื้นแผนการขุดคอคอดกระ (Kra Isthmus) ซึ่งอยู่ในประเทศไทยพาดผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลที่สามารถเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน         เป็นจุดเด่นของการคมนาคมขนส่งสู่สากลที่จะช่วยให้การขยายตัวทางการค้าระดับนานาชาติจะได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสะดวกมากกว่าที่เป็นอยู่ หากไม่ใช้เส้นทางเดิมผ่านช่องแคบมะละกาที่แน่นขนัดด้วยเรือสินค้าและเวลาเดินทางที่เยิ่นเย้ออ้อมคาบสมุทรมลายูซึ่งดำเนินมากว่า ๕๐๐ ปีแล้วโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย

          แน่นอนว่าทั้งจีน อินเดีย และสมาชิกอีก ๕๐ ประเทศรวมทั้งนักธุรกิจไทยกลุ่มหนึ่งเห็นดีเห็นงามด้วย โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นความหวังและอนาคตของชาวเอเชียไม่น้อยไปกว่าชาวโลก สิ่งที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยคือ ความกดดันใหม่ต่อรัฐบาลไทยและชาวไทย ที่ส่วนใหญ่ยังลังเลกับความคิดนี้ เพราะคอคอดกระไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่เป็นความกดดันเก่าที่เคยสร้างพิษสงต่อการประเมินสถานการณ์ของผู้นำสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 มาแล้วในช่วง ค.ศ. 1881-1882 หรือเมื่อ 139 ปีที่ผ่านมา