การดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรามักจะคุ้นเคยกับ 3 กลยุทธ์หลักที่ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยส่วนมากนิยมนำมาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถ และโอกาสทางการแข่งขันเหนือคู่แข่ง นั้นคือ

  1. Location Selection การเลือกทำเลทองที่มีศักยภาพและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สามารถขายโครงการที่อยู่อาศัยได้อย่างรวดเร็ว และขายได้ในราคาที่ดี
  2. Price การกำหนดราคาให้เหมาะสมกับ Brand Portfolio ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นผลจากการทำ Corporate Brand ของผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบในทำเลที่หลากหลายนั้นเอง
  3. Corporate credibility การสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดความน่าเชื่อถือขององค์กรผู้พัฒนาโครงการ กับผู้บริโภค เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ผู้บริโภคจึงใช้ความน่าเชื่อถือขององค์กรผู้ให้บริการเป็นหนึ่งในปัจจัยประกอบการตัดสินใจซื้อ

แม้ว่าทั้ง 3 กลยุทธ์นี้จะมีความสำคัญต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย แต่ทว่าในยุคสังคมแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต ค่านิยม ต้องการและพฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานของหลายๆประเทศทั่วโลก ต้องหันมาให้ความสำคัญ ตื่นตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันเราจึงมักได้ยินเกี่ยวกับเรื่อง Property Technology หรือ Prop Tech ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จที่ผู้พัฒนาโครงการฯ จำเป็นต้องมีเพื่อสนับสนุนธุรกิจ คาดการณ์ได้เลยว่าอนาคตอันใกล้นี้ Prop Tech อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยเทคโนโลยีอย่างมีนวัตกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง อยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้อยู่อาศัย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พัฒนาโครงการฯในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Add) ให้กับโครงการอีกด้วย

เรามาทำความรู้จักกับ 7 เทคโนโลยีที่กำลังเป็นเทรนด์ และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคม Real Estate กันก่อนว่าสิ่งใดบ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการเตรียมการสร้างนวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้พัฒนาโครงการฯ โดย 7 เทคโนโลยีเหล่านั้น คือ

(1)        Big Data การบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดยักษ์ที่รวบรวมมาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ พยากรณ์ และวางแผนการพัฒนาโครงการ

(2)        Building Information Modeling (BIM) ระบบที่ผู้พัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยนำมาใช้ในการจำลองรูปแบบอาคารก่อนก่อสร้างให้เป็นภาพ 3 มิติ เพื่อช่วยให้เห็นการซ้อนทับของโครงสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค ทำให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถปรับรูปแบบ ลดการเกิดปัญหาระหว่างการก่อสร้างจริงได้

(3)        Internet of Thing (IOT) การนำอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายออนไลน์และเซ็นเซอร์เข้ามาใช้ในการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในที่พักอาศัย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น ระบบอุปกรณ์ล็อคประตูอัจฉริยะ เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติ ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน ระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) เป็นต้น

(4)        Artificial Intelligence: AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ตัวช่วยในการจดจำ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลให้มีความรวดเร็ว และใกล้เคียงกับความเป็นจริง เช่น การช่วยให้นายหน้าสามารถขายที่อยู่อาศัยผ่านระบบ Chatbot การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงราคาได้อย่างใกล้เคียงกับราคาตลาด เป็นต้น

(5)        After Sales Service Applications บริการหลังการขายเพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างนิติบุคคลและผู้อยู่อาศัยสามารถทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ตั้งแต่การเก็บข้อมูลการใช้งานหรือปัญหาของผู้อยู่อาศัย การแจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปจนถึงการใช้บริการต่าง ๆ เช่น การแจ้งซ่อม การจองพื้นที่ส่วนกลางการจองรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก การชำระเงินค่าส่วนกลาง การฝากขายหรือเช่า เป็นต้น

(6)        Augmented Reality (AR) และ Virtual reality (VR) เทคโนโลยีที่ช่วยผสานโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการจำลองภาพให้เสมือนจริงแบบ 360 องศา รวมถึงระบบการจองที่อยู่อาศัย และดำเนินการด้านสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ และระบบ Online Payment เทคโนโลยีเกี่ยวกับการซื้อขาย โดยการสร้างภาพจำลองเสมือนจริงของโครงการ

(7) Blockchain ถูกนำมาใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ กับลูกค้าได้โดยตรง ช่วยลดเวลาและความยุ่งยากในการจัดการเอกสารซื้อขาย ช่วยให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ รวดเร็วมากขึ้น ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลง อีกทั้งยังมีความโปร่งใสและความปลอดภัยสูงมาก

จากที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น ทำให้เราเข้าใจถึงเหตุผล และความจำเป็นสำหรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ทว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ควรศึกษา และเรียนรู้เพื่อให้มีองค์ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการสร้างนวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มีเพียงแต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เท่านั้น แต่เป็นการบริหารจัดการธุรกิจ เทคโนโลยี และการจัดการนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบท และแผนเชิงกลยุทธ์ของแต่ละองค์การ เพราะเราอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม เราจึงปฏิเสธที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ไม่ได้ด้วยเช่นกัน ในนามของ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ( MIRED ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกท่าน ให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรค และก้าวข้ามวิกฤตในยุคความปกติใหม่ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ด้วยนะคะ