อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศ ที่ใช้จุดเด่นด้านความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มหาศาล แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริการ หยุดชะงัดลงทันที

      ข้อมูลจากรายงาน “ASEAN Key Figures 2019” ระบุตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ทำการสำรวจว่าในปี 2018 “ประเทศไทย” มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุดในอาเซียนราว 38.3 ล้านคน รองลงมาเป็น “มาเลเซีย” ที่ 25.8 ล้านคน, สิงคโปร์ 18.5 ล้านคน, อินโดนีเซีย 15.8 ล้านคน และเวียดนามอยู่ที่ 15.5 ล้านคน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวน 66 ล้านคน ในปี 2009 เป็น 133 ล้านคน ในปี 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น

       แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) คาดว่า ไวรัสครั้งนี้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิก สูงถึง 34,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจกระทบต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไป โดยส่วนใหญ่อาจใช้จ่ายน้อยลงและใช้เวลาท่องเที่ยวในระยะสั้นกว่าเดิม ดังนั้นประเทศต่าง ๆ ต้องทบทวนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศใหม่ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะซบเซาต่อเนื่อง

“รีสตาร์ต” ท่องเที่ยว

        ข้อมูลจาก องค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization : WTO) ระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ได้กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกลดลง 60-80% และส่งผลกระทบต่อรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกให้ลดลงไปกว่า 850-1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานกว่า 100-120 ล้านตำแหน่ง

        แน่นอนว่าภูมิภาคเอเชีย มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 35% รองลงมาคือ ภูมิภาคยุโรป จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 19% ภูมิภาคอเมริกาจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 15% ภูมิภาคแอฟริกา จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 12% และภูมิภาคตะวันออกกลางจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 11% รวมถึงพื้นที่ท่องเที่ยว และจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเกือบ 100% ทั่วโลกถูกปิดให้บริการ

ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อประเมินสถานการณ์ก็สมารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2020 จะลดลง 58% และเริ่มเปิดชายแดนเพื่อการท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคม

รูปแบบที่ 2 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง 70% และเริ่มเปิดชายแดนเพื่อการท่องเที่ยวในเดือนกันยายน

รูปแบบที่ 3 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง 78% และเริ่มเปิดชายแดนเพื่อการท่องเที่ยวในเดือนธันวาคม

"แม้ว่าจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้วแต่ก็ยังต้องจับตาสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะหากเป็นไปในรูปแบบที่ 1 ประเมินว่าการท่องเที่ยวโลกจะกลับมาเป็นปกติในเดือนธันวาคม 2563-มกราคมปี 2564 แต่ถ้าเป็นไปในรูปแบบที่ 2 และ 3 จะต้องใช้เวลานานกว่านั้นในการฟื้นตัว"

อย่างไรก็ดี WTO เห็นว่า หากต้องการจะรีสตาร์ตการท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ในเวลาอันสั้น จำเป็นที่จะต้องเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ โดยจะต้องยึดความปลอดภัยตามกฎระเบียบด้านสุขภาพของแต่ละประเทศในการเดินทางเป็นสำคัญ รวมถึงจะต้องมีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนและขอแบ่งปันข้อมูลการเดินทางจากนักท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วย และควรจะยึดมาตรการด้านสุขอนามัยไว้จนกว่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่า

WTTC แนะวาง “แนวปฎิบัติ” เปิด Travel Bubble ฟื้นท่องเที่ยว

       สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก(World Travel and Tourism Council : WTTC) ให้ข้อมูลว่า หากต้องการฟื้นการท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด แต่ละประเทศต้องประสานงานกันเพื่อเปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในประเทศที่มีสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดที่ใกล้เคียงกัน ยกเลิกการแบน หรือแจ้งเตือนการเดินทางที่ไม่จำเป็น พร้อมติดตามการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากอีกจุดไปอีกจุดอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับการป้องกันโรคไปพร้อม ๆ กับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและขอให้แต่ละชาติให้การยอมรับโปรโตคอล หรือแนวทางการปฏิบัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยระดับโลกที่กำหนดโดยภาคการท่องเที่ยวและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ รวมถึงภาครัฐ

 

“ญี่ปุ่น” ส่งสัญญาณเที่ยวไทย

       นักท่องเที่ยวตลาดญี่ปุ่น ถือเป็น 1 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยกว่า 1.8 ล้านคน เติบโต 9.96% และเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 4 รองจากเกาหลี จีน และไต้หวัน โดยนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยสูงสุดเดือนมีนาคม-เมษายน และสิงหาคม

       ข้อมูลจาก ททท.สำนักงานโตเกียว ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นถือว่าค่อนข้างนิ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มน้อยมาก เชื่อว่าคนญี่ปุ่นจะเริ่มท่องเที่ยวกันอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ โดยกลุ่มนักธุรกิจ นักเดินทางอิสระ (FIT) จะเป็นกลุ่มแรกๆ  ส่วนส่วนกรุ๊ปทัวร์ กลุ่มทัศนศึกษา และกลุ่มไมซ์ นั้นคาดการณ์กันว่าน่าจะเริ่มเดินทางได้ในช่วงต้นปีหน้า

ซึ่งจากข้อมูลพบว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลังโควิด-19 จะหลีกเลี่ยง “เซนมิทซุ” หรือจะให้ความสำคัญกับ 3-Cs อย่าง comfortable หลีกเลี่ยงผู้คนแออัดยัดเยียดในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม รักษาระยะห่างทางสังคม ต้องการห้องเดี่ยวหรือวิลล่าแยกต่างหาก clean-liness ความสะอาดและการฆ่าเชื้อสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกและพนักงาน ทั้งในแหล่งท่องเที่ยวและการเดินทาง และ care ใส่ใจกับรายการแยกเดี่ยวสำหรับอาหารและการขนส่งมากขึ้น

ไทยเตรียมเปิด Travel Bubble ปักหมุด “ภูเก็ต-กระบี่-สุราษฎร์ฯ” รับต่างชาติ

       นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะกังวลการระบาดระลอก 2หากมีการเปิด “แทรเวลบับเบิล” (travel bubble) แต่เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิด และบรรลุเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว1.23 ล้านล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงจะเดินหน้าผลักดันการเปิดแทรเวลบับเบิลในเดือนกันยายนนี้เพื่อสร้างให้เกิดรายได้นักท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท ก่อนโรงแรมจะทยอยขาดทุนและต้องปิดตัวกว่า 60% ในสิ้นปีนี้

"โดยรูปแบบของ “แทรเวลบับเบิล” ที่เสนอจะจำกัดพื้นที่เดินทางของนักท่องเที่ยวให้อยู่ภายในจังหวัดนำร่องจนครบ 14 วัน ผ่านการตรวจสอบการติดเชื้อจากประเทศต้นทาง 1 ครั้ง ก่อนเข้าพรมแดนประเทศไทย 1 ครั้ง และหลังจากครบ 14 วันอีก 1 ครั้ง ว่าปลอดเชื้อจึงจะออกเดินทางจากพื้นที่ที่จำกัดออกสู่พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไปได้ และกำหนดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มอาจผ่านเอเย่นต์เครื่องบินเช่าเหมาลำ เพื่อให้สะดวก ปลอดภัย และควบคุมการกักกันเชื้อได้และส่งต่อไปสู่จังหวัดที่กำหนดด้วยรถที่กำหนด"

ขณะนี้มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโครงการและผ่านการประชาพิจารณ์เกิน 80% แล้วหลายจังหวัด อาทิ ภูเก็ต, เกาะพีพี (กระบี่), เกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า, และเกาะนางยวน (สุราษฎร์ธานี) ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว

และในระยะที่ 2 คาดว่าจะสามารถขยายพื้นที่นำร่องออกไปสู่จังหวัดอื่น ๆ โดยมีถึง 8 จังหวัดที่เสนอตัวเข้ารับนักท่องเที่ยวแล้ว ได้แก่ กรุงเทพฯ, พัทยา (ชลบุรี), เชียงใหม่, เชียงราย ฯลฯ